นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์งาน ABIS 2022 ย้ำ 3 ประเด็นหลัก พัฒนา"ดิจิทัลอาเซียน" สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคที่เข้มแข็ง เชื่อมโยง ครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อเวลา 14.08 น.วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ค.ศ.2022 (ASEAN Business and Investment Summit (ABIS) 2022) หัวข้อ "อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล (Digital-Ready ASEAN)" ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียนอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งหัวข้อ "อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล" เป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยและอาเซียนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังโควิด-19 ในภาคธุรกิจ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลในทุกมิติ สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลของอาเซียนเพื่อบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม บูรณาการ และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ดังนี้
1.การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีการขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งควรเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างรอบด้านต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรฐานและกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่โปร่งใสและเป็นธรรม การบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัย การพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงในภาคแรงงานและธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลและการขยายธุรกิจ ตลอดจนมุ่งส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั้งในและนอกอาเซียน อาทิ เทคโนโลยีบล็อคเชน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และเกษตรอัจฉริยะ
2.การสร้างความเชื่อมโยงดิจิทัล การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและไร้ร้อยต่อ ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและระบบการชำระเงินดิจิทัล ตลอดจนความเชื่อมโยงของระบบ ASEAN Single Window เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจดิจิทัลและเสริมสร้างการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งไทยมีโครงการ ASEAN Digital Hub เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั่วประเทศ และพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศในภูมิภาค การพัฒนาโครงการ Thailand Digital Valley ในพื้นที่ EEC รวมทั้งการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาของเมืองอย่างตรงจุด นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง อะเมซอนเว็ปเซอร์วิส ยังได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ส่วนกลางสำหรับหน่วยราชการไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปฏิรูประบบดิจิทัลของภาครัฐ
3.การสร้างความยั่งยืนและครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs และสตรี นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาค โดยไม่ทิ้งกลุ่มใดๆ ไว้ข้างหลัง ไทยจึงให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัลในบุคคลทุกกลุ่ม ทุกระดับ และดึงดูดแรงงานดิจิทัลทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนให้เข้ามาทำงานในไทย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและสารสนเทศ ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม ลดช่องว่างด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า อาเซียนควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความร่วมมือและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาเกษตรอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเห็นว่า การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและการเข้าถึงนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศที่ปลอดภัย การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขยายโอกาสและผลักดันการเติบโตด้านดิจิทัลในยุคหลังโควิด-19
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียนจะเป็นไปแบบรอบด้านระหว่าง 3 เสาของประชาคมอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความเชื่อมโยงดิจิทัลที่เข้มแข็ง และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมดิจิทัลอาเซียน พร้อมก้าวสู่การบูรณาการด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการเป็น "ดิจิทัลอาเซียน" และทำให้อาเซียนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก เพื่อประโยชน์ของประชาชนสืบต่อไป
อนึ่ง การประชุม ABIS เป็นกิจกรรมประจำปีของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้นำธุรกิจทั้งภายในและภายนอกอาเซียน ซึ่งในปีนี้ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในรูปแบบผสม (hybrid) ภายใต้หัวข้อหลัก "Addressing Challenges Together" เน้นประเด็นเรื่องการเผชิญความท้าทาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณสุข
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี