ม็อบปิดถนนหน้าทำเนียบฯ ค้านสร้างกำแพงกันคลื่น จี้"บิ๊กตู่"ยกเลิกมติครม. ระบุปักหลักค้างแรม รอผลเจรจาหน่วยงาน
เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด และกลุ่ม "บีช ฟอร์ ไลฟ์" ซึ่งนำโดยนายเจกะพันธ์ พรหมมงคล หรือนายเรียง สีแก้ว คณะทำงานสภาประชาชนภาคใต้ และนายอภิศักดิ์ ทัศนีย์ ผู้ประสานงานกลุ่มบีช ฟอร์ ไลฟ์ ได้มารวมตัวกันเพื่อคัดค้านไม่ให้มีการสร้างกำแพงกันคลื่นในทะเล โดยการชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวได้ตั้งแนวขวางถนน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตั้งแผงเหล็ก ปิดขวางตามแนวสะพาน ทำให้ปิดเส้นทางการจราจรหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่แยกพาณิชยการจนถึงแยกมิสกวัน ส่งผลให้การจราจรบริเวณถนนพิษณุโลกติดขัดอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเลิกงาน และกำลังเดินทางกลับบ้าน
ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวได้ยื่นขอติดตามเรื่องที่เคยยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ไปแล้วก่อนหน้านี้ และขอย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2534 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้สร้างกำแพงป้องกันชายฝั่ง 2.การสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนที่จะพิจารณาก่อสร้างกำแพงดังนั้น เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม และ 3.ขอให้กำหนดให้มีแผนฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากกำแพงกันคลื่น โดยมี นายอิทธิพล ช่างกลึงดี ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายสาธิต สุทธิเสริม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการประสานมวลชนและองค์กรประชาชน เป็นตัวแทน รับเรื่องพร้อมพูดคุยเจรจากับแกนนำกลุ่มดังกล่าว
ขณะที่ นายเจกะพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดเดินทางมาติดตามความคืบหน้า หลังจากที่ได้มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 และได้มายื่นอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2565 สำหรับกำแพงกันคลื่นนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดซึ่งเป็นชายฝั่งทั่วประเทศ ทั้งภาคตะวันออก เช่น จ.ระยอง ภาคใต้ เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างกำแพงดังกล่าวทำให้ชายหาดหายไปเป็นแนวยาว และส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บางพื้นที่เกิดการกัดเซาะแบบชั่วคราว แต่การไปใช้โครงสร้างแข็งเป็นกำแพงกันคลื่นนั้น มันจะทำให้ไม่สมเหตุสมผล อาทิ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผลเสียหายที่เกิดขึ้น จากการสร้างกำแพงดังกล่าวความยาว 2 กิโลเมตร ทำให้ชายหาดหายไปหมด นักท่องเที่ยวก็หายไปด้วย การท่องเที่ยวหายไปทันที ผิดกับพื้นที่บริเวณถัดจากนั้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร มีชายหาด ทำให้นักท่องเที่ยว มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผลเสียคือมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว การกระจายรายได้สู่ชุมชน และระบบนิเวศชายฝั่ง ได้รับผลกระทบไปทั้งหมด แต่หากมีพื้นที่ใดที่ถูกกัดเซาะ จะได้รับความเสียหายมาก ก็ขอให้พิจารณาสร้างกำแพงกันคลื่นตามความจำเป็น ที่ผ่านมาพบว่าบางพื้นที่ไม่ได้เกิดการกัดเซาะ รุนแรง แค่กัดเซาะชั่วคราว แต่กลับไปใช้โครงสร้างชั่วโคตร วิธีการแก้ไขปัญหา เช่น การปักไม้ถ่ายเททรายให้เป็นเนินทราย เป็นมาตรการสากลที่ใช้กันอยู่ แต่บ้านเรากลับไม่ใช้วิธีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ยืนยันที่จะปักหลักชุมนุมค้างแรม อยู่ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อรอผลการเจรจา กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะมีการประชุม ในเวลา 10.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงาน ก.พ.เดิม ในวันพฤหัสที่ 8 ธันวาคมนี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี