สภาฯปลดล็อกแก้พ.ร.ก.ประมง ด้าน"ก้าวไกล"ข้องใจเลื่อนใช้กม.อุ้มหาย "สมศักดิ์"แจงไม่มีเจตนาถ่วงกฎหมาย
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 จำนวน 7ฉบับ ตามที่หลายพรรคการเมืองเสนอมา ซึ่งตกค้างการลงมติวาระรับหลักการจากการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเกิดเหตุสภาล่ม โดยการพิจารณาในครั้งนี้ มีกลุ่มชาวประมงมาติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในห้องประชุมสภาฯ ด้วย โดยที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบวาระรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 297 ต่อ 0 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน มาพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สภาฯ ให้ความเห็นชอบแล้ว ปรากฏว่า ที่ประชุมได้ถกเถียงกัน จะยึดร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดเป็นร่างหลักพิจารณาในชั้น กมธ.ระหว่างร่างของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับร่างของ นางกันตวรรณ ตันเสถียร ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยอ้างว่า ร่างฉบับ นพ.ชลน่าน มีเนื้อหาครอบคลุมการแก้ปัญหาให้ชาวประมงทุกด้านมากกว่าฉบับของนางกันตวรรณ ขณะที่นางกันตวรรณ ชี้แจงว่า ร่างฉบับของตนมาจาก กมธ.เกษตรและสหกรณ์ ที่มีตัวแทนทุกพรรคการเมือง และภาคประชาชนร่วมพิจาณามาอย่างรอบคอบ ทั้งสองฝ่ายถกเถียงกันอยู่นาน ก่อนที่ประชุมสภาฯ จะลงมติให้ความเห็นชอบ ใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ นพ.ชลน่าน เป็นร่างหลักในชั้น กมธ.
จากนั้นเข้าสู่วาระกระทู้ถามสด โดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออก พ.ร.ก แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 เป็นวันที่ 1 ต.ค.2566 ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก.โดยอ้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ขอให้เลื่อนไปก่อน อยากทราบอะไรคือเหตุผลแท้จริงการเลื่อนบังคับใช้ เพราะ พล.ต.ท.สุรเชษฐ หักพาล รอง ผบ.ตร.บอกมีความพร้อมบังคับใช้กฎหมาย แต่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.บอกไม่พร้อม ข้ออ้างไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ อาทิ กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล้องบันทึกในห้องสอบสวน กล้องติดรถยนต์ แต่รายงานปฏิรูปตำรวจที่ส่งมายังสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สตช.มีความพร้อมดำเนินการหมดแล้ว ไม่รู้ว่าใครโกหก รัฐบาลไม่เต็มใจออกกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ช่วงที่กฎหมายถูกเลื่อนบังคับใช้ จะมีอะไรเป็นหลักประกัน ประชาชนจะไม่ถูกซ้อมทรมานหรืออุ้มหาย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า สาเหตุการเลื่อนใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจาก สตช.ยังไม่พร้อมในการบังคับใช้กฎหมาย ใน 4 มาตรา เกี่ยวกับความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ เช่น กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ กล้องบันทึกภาพในห้องสอบสวน กล้องติดรถยนต์ จึงขอเลื่อนแค่ 7 เดือน ถ้าบังคับใช้กฎหมายโดยไม่มีความพร้อมจะกระทบต่อการจัดเก็บข้อมูล การบันทึกปากคำอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด ส่งผลต่อความปลอดภัยของสาธารณะ เจ้าหน้าที่รัฐก็เสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาด้วย การอ้างรายงานต่างๆ ว่า สตช.มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว แต่รายงานที่ส่งมายังกระทรวงยุติธรรม แจ้งว่า ยังไม่มีความพร้อม การเลื่อน 7 เดือนน้อยมาก ขณะนี้ทราบว่า สตช.ได้อนุมัติงบประมาณการจัดซื้ออุปกรณ์กล้องต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมเรียบร้อยแล้ว ยืนยันไม่มีการดึงดันกฎหมาย ส่วนการส่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาให้สภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ทราบว่ากำลังเร่งส่งมาให้อยู่ แต่รับรองไม่ได้ว่า เมื่อส่งมาแล้วจะมีการเปิดประชุมสภาฯ ให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.ฉบับนี้ทันก่อนปิดสมัยประชุมหรือไม่
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี