“12,519,926 คน” เป็นจำนวนของ “ผู้สูงอายุ” ในประเทศไทย ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน คือ 66,090,475 คน สัดส่วนของผู้สูงอายุไทยจะคิดเป็นร้อยละ 18.94 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นจึงเท่ากับว่า “ไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้ว” โดย องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้แบ่งภาวะสังคมสูงวัย หรือสังคมผู้สูงอายุไว้ 3 รดับ คือ
1.สังคมสูงวัย (Aging Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7 ของประชากรทั้งประเทศ 2.สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ14 ของประชากรทั้งประเทศ และ 3.สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หรือสังคมสูงวัยแบบเต็มที่ มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศ
เมื่อกล่าวถึงผู้สูงอายุ นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว “ความมั่นคงในชีวิต” ก็เป็นเรื่องเรื่องที่มีการเรียกร้องอย่างมาก โดยเฉพาะการ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ที่ปัจจุบันจ่ายแบบขั้นบันได เช่น 600 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 60-69 ปี, 700 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 70-79 ปี,800 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 80-89 ปี และ 1,000 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 90 ปีขึ้นไป ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ทำให้ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากครอบครัว กลายเป็นปัญหาที่ส่งต่อถึงรุ่นลูก (หรือแม้แต่รุ่นหลาน) แทนที่จะได้เก็บออมเงินสร้างเนื้อสร้างตัว ก็ต้องนำมาใช้ดูแลพ่อแม่หรือผู้อาวุโสภายในครัวเรือน
จำนวนผู้สูงอายุไทย ปี 2565 (กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
นั่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตั้งแต่ในช่วงท้ายของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลชุดปัจจุบัน (ซึ่งล่าสุดเพิ่งประกาศยุบสภาไปแบบสดๆ ร้อนๆ ในวันที่ 20 มี.ค. 2566 ก่อนหน้าที่รายงานฉบับนี้จะเขียนขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง) บรรดาพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่จะมีการ “เกทับ” ต่อสู้แข่งขันกันในประเด็น “เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (หรือเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นๆ ด้วย เช่น บำนาญพื้นฐาน บำนาญแห่งชาติ)” เพราะหวังผลคะแนนเสียงได้ทั้งผู้สูงวัยกว่า 12 ล้านคน ตลอดจนคนรุ่นลูก-รุ่นหลานที่ต้องดูแล ดังนี้
4 ส.ค. 2566 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เดินทางไปยื่น (ร่าง) พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. … ที่อาคารรัฐสภา โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้มารับด้วยตนเอง
- “พรรคไทยสร้างไทย : บำนาญประชาชน 3,000 บาท/เดือน” หลังจากอยู่ร่วมพรรคเพื่อไทยมานานหลายปี รวมถึงในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดปี 2562 ยังได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้แยกทางออกไปตั้งพรรคของตนเอง และขับเคลื่อนเรื่องเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เห็นได้จากเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 คุณหญิงสุดารัตน์ เดินทางไปยื่น (ร่าง) พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ พ.ศ. … ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งสาระสำคัญคือ “มีบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาท” และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ในทุกครั้งที่คุณหญิงสุดารัตน์ลงพื้นที่หาเสียงก็มักจะเน้นย้ำนโยบายดังกล่าวเสมอ
นโยบายผู้สูงอายุของพรรคก้าวไกล
- “พรรคก้าวไกล : สวัสดิการไทยก้าวหน้า เงินผู้สูงวัย 3,000 บาท/เดือน” จากยุคแรกคือพรรคอนาคตใหม่ สู่การไปต่อในนามพรรคก้าวไกลหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ พรรคการเมืองขวัญใจคนรุ่นใหม่ภายใต้การนำของ “ไฮโซทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา ถึงวันสุดท้ายของชีวิต” เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2565 บนเว็บไซต์ think.moveforwardparty.org ของพรรค โดยในส่วนของ “สวัสดิการ: สูงวัย” ตอนหนึ่งระบุว่า “เพิ่มเงินผู้สูงวัยให้เป็นอัตราเดียวแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท ภายใน 4 ปี” เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น จากเดิมที่รัฐมีการจัดสรรเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงวัยแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ ตั้งแต่เดือนละ 600-1,000 บาท
17 มี.ค. 2566 โชคชัย ทองศักดิ์ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดอ่างทอง พรรคพลังประชารัฐ กับป้ายหาเสียงของพรรค ในการปราศรัยที่บริเวณลานปูนหน้าวัดไพรวัลย์ ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง
- “พรรคพลังประชารัฐ : จ่ายแบบขั้นบันไดตามช่วงวัย ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท/เดือน” นาทีนี้อาจจะไม่มีพรรคใดเรียกเสียงฮือฮาในเรื่องการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้เท่ากับพรรคพลังประชารัฐอีกแล้ว โดยภายใต้การนำของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในขณะที่พรรคอื่นๆ เสนอเพียงอัตราเดียว แต่พรรคพลังประชารัฐ “เล่นใหญ่” ประกาศจ่ายเพิ่มแบบขั้นบันได ไล่ตั้งแต่อายุ 60 ปี ที่ 3,000 บาท/เดือน , อายุ 70 ปี ที่ 4,000 บาท/เดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไป ที่ 5,000 บาท/เดือน
27 ก.พ. 2566 ณัฐนันท์ กัลยาศิริ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.คลองสามวา กรุงเทพฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์ภาพชุดนโยบายของพรรคผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังงชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/เดือน
- “พรรครวมไทยสร้างชาติ : เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็น 1,000 บาท/เดือน” หลังร่วมหัวจมท้ายกันมาหลายปีในทางการเมือง ในที่สุด “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขอแยกทางจาก “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ลุงตู่ย้ายไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และแน่นอนว่าพรรคก็มีนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเช่นกัน เป็น 1,000 บาท/เดือน
14 มี.ค. 2566 แกนนำพรรคประชาชาติ ร่วมปราศรัยที่ โรงเรียนอิสลามบูรพาวิทยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งในตอนหนึ่งมีการกล่าวถึงนโยบายเพิ่มสวัสดิการเงินผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือน
- “พรรคประชาชาติ : สวัสดิการเงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน” แม้จะไม่ใช่พรรคใหญ่ แต่ก็เป็นพรรคขนาดกลางที่มีบทบาทไม่น้อยโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) มาคราวนี้ ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรค “วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา และเลขาธิการพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็มีนโยบายด้านผู้สูงอายุกับเขาด้วย โดยเพิ่มสวัสดิการเงินผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือน
12 ม.ค. 2566 มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงการจัดงานระดมทุนของพรรคในวันที่ 14 ม.ค. 2566 พร้อมเปิดนโยบายของพรรค โดยหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 5,000 บาท/เดือน
- “พรรคไทยศรีวิไลย์ : เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 5,000 บาท/เดือน” นี่คือพรรคเกิดใหม่ในช่วงเลือกตั้ง 2562 อีกทั้งยังอยู่ในกลุ่มพรรคแบบ “เล็กมากๆ” ได้อานิสงส์จากสูตรคำนวณคะแนนแบบสุดงง ในการเลือกตั้งครั้งนั้นซึ่งใช้บัตรใบเดียว จนถูกค่อนขอดว่าเป็นเพียง “พรรคปัดเศษ-ส.ส.ปัดเศษ” แต่ด้วยคาแรคเตอร์ของหัวหน้าพรรค “เต้ พระราม7” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ในการทำหน้าที่ ส.ส. ก็ทำให้พรรคไทยศรีวิไลย์ ดูจะโดดเด่นกว่าพรรคอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน และในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งได้กลับมาใช้บัตร 2 ใบ แบ่ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีกครั้ง พรรคไทยศรีวิไลย์ก็ทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละเขต รวมไปถึงเปิดนโยบายด้วย และหนึ่งในนั้นคือการประกาศว่าจะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 5,000 บาท/เดือน มาตั้งแต่การจัดงานระดมทุนพรรคเมื่อเดือน ม.ค. 2566
5 มี.ค. 2566 ภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดนโยบาย “กองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป” ของพรรค
ข้างต้นเป็นนโยบายที่พุ่งไปยังการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งมีผลโดยตรงกับผู้สูงวัยแต่ละคนจากพรรคการเมืองที่ได้ประกาศออกมาชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้พรรคการเมืองอื่นๆ จะยังไม่ได้ประกาศนโยบายแบบนี้ ก็ยังมีนโยบาย “สายเปย์” เพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุเช่นกัน อาทิ “พรรคภูมิใจไทย” ประกาศนโยบาย “กองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป” คนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับสิทธิทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสมัคร ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต
โฆษกพรรคภูมิใจไทย ภราดร ปริศนานันทกุล อธิบายถึงนโยบายนี้ว่า ในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้สูงอายุจะต้องไม่เป็นภาระให้กับลูกหลาน และจะมีสิทธิกู้เงินเพื่อดูแลตัวเองหรือประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตัวเองได้วงเงินกู้รายละไม่เกิน 2 หมื่นบาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ใช้กรมธรรม์ที่รัฐบาลจะมาทำให้เป็นหลักประกันในการค้ำประกันตัวเอง จนถึงวันที่เขาจากไป ผู้สูงอายุนอกจากจะไม่เป็นภาระให้กับลูกหลานแล้วทุกคนจะมีมรดกให้ลูกหลานให้กับทายาทและครอบครัวรายละ 1 แสนบาท
11 มี.ค. 2566 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิด 8 นโยบาย ชุดที่ 2 ของพรรค ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ก็มีนโยบาย “ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน” โดยหัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อธิบายนโยบายดังกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีชมรมผู้สูงอายุที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 30,000 ชมรม และถ้าประชาธิปัตย์เป็นการตั้งรัฐบาลก็จะช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมรวมกลุ่มในลักษณะนี้ต่อไป เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านสุขภาพ ร่างกาย จิตใจและการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุต่อไปด้วย
ต้องบอกว่าการเลือกตั้งรอบนี้แข่งขันกันดุเดือด เนื่องจากมีพรรคการเมืองที่โดดเด่นทั้งในระดับเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และพรรคระดับกลางที่มีศักยภาพเพียงพอจะต่อรองตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลซึ่งก็จะมีผลต่อการผลักดันนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้ด้วย ดังนั้นก็ต้องติดตามกันตอ่ไปว่าหากพรรคเหล่านี้ได้เป็นรัฐบาลจริงจะดำเนินนโยบายได้มาก-น้อยเพียงใด โดยเฉพาะกับโจทย์ใหญ่ที่มีเสียงสะท้อนแห่งความกังวลว่า “จะหาเงินจากไหนมาจ่าย” เพราะหากนำจำนวนเงินไปคูณกับจำนวนผู้สูงอายุ ก็จะพบว่าแต่ละแต่ปีรัฐต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาลจริงๆ!!!
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/1159 สถิติผู้สูงอายุ สัญชาติไทย และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ธันวาคม 2565 - กรมกิจการผู้สูงอายุ
https://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html นิยาม: สังคมผู้สูงอายุ – มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
https://think.moveforwardparty.org/article/welfare/3360/ (สวัสดิการไทยก้าวหน้า ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา ถึงวันสุดท้ายของชีวิต – พรรคก้าวไกล)
https://www.facebook.com/photo/?fbid=659404889523275&set=a.350947467035687 (เปิดนโยบายชุดแรกพรรครวมไทยสร้างชาติ! เปิดแคมเปญ #ทำแล้วทำอยู่ทำต่อ - ณัฐนันท์ กัลยาศิริ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/likesara/634458 ‘บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’ ข้อเสนอ‘กมธ.สวัสดิการสังคมฯ’
https://www.naewna.com/politic/671251 ‘สุดารัตน์’ยื่นร่างพรบ.บำนาญปชช. ดูแลผู้สูงอายุเดือนละ3พันบ.
https://www.naewna.com/politic/718216 พปชร.คึก! เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 อ่างทอง ชูนโยบาย'ป้อม700'
https://www.naewna.com/politic/717409 'วันนอร์-ทวี'มั่นใจ! เลือก'ประชาชาติ'มีสวัสดิการ-บัตรคนรวย
https://www.naewna.com/politic/703806 'ไทยศรีวิไลย์' ระดมทุนครั้งใหญ่ เสาร์ที่ 14 ม.ค.นี้ เตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.
https://www.naewna.com/politic/715274 วัยเกษียณตาลุก!‘ภูมิใจไทย’ยันดันนโยบาย‘กองทุนประกันชีวิต 60 ปีอัพ’
https://www.naewna.com/politic/716647 ปชป.ประกาศอีก 8 นโยบายล็อตสอง 'อินเตอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด-เรียนฟรี ป.ตรี'
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี