ด้วยความที่คะแนนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้น มีคะแนนก้ำกึ่งกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว การช่วงชิงกันจัดตั้งรับบาลในครั้งนั้น ทำให้คะแนนของพรรคการเมืองฝ่ายที่ร่วมจับมือกับ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเสียงเกินครึ่งมาไม่มาก เพราะได้เสียงจากพรคคเล็กพรรคน้อยมาโปะ
กาลเวลาผ่านมา 4 มี “คะแนนนิยมของลุงตู่”ไม่ได้เพิ่มขึ้น แม้คะแนนนิยมในตัวบุคคลของลูงตู่ จะสูงกว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายวราวุธ ศิลปอาชา และนายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ ก็ตาม แต่ในการแข่งขันรอบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงและวางยุทธศาสตร์ให้รัดกุมก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแข่งกันเอง จนอาจ “กอดคอกันแพ้” ทั่วประเทศไทย
1) “ลุงตู่” ผู้ใช้สโลแกน “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”ต้องอธิบายให้เป็นรูปธรรมให้ได้ว่า จะทำอะไรต่อ โดยที่ลุงตู่มีสิทธิ์จะเป็นนายกฯ ได้อีกแค่ 2 ปี เวลา 2 ปีนี้ ลุงตู่จะทำอะไร ทำไมต้องเป็นลุงตู่ทำ ใครจะเข้าร่วมกับลุงตู่เพื่อให้ลุงตู่ได้ทำ และเมื่อลุงตู่ไม่อยู่ ใครจะทำต่อ
2) อนุทิน ชาญวีรกูล ถูกคาดหมายว่า น่าจะได้สส. มากที่สุดในบรรดาพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม ดังนั้นแล้ว มีเหตุผลอะไร ที่หากพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนสูงสุดในฝ่ายนี้ จะต้องหลีกทางให้ลุงตู่เป็นนายกฯ
3) “ลุงตู่” จะได้เป็นนายกฯ ก็ต่อเมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ สส.เกิน 25 คนขึ้นไปเสียก่อน จากนั้นจึงจะมีสิทธิ์เสนอชื่อลุงตู่เพื่อรับการโหวตให้เป็นนายกฯ ในสภา ในกรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติมี สส.น้อยกว่าพรรคภูมิใจไทย ลุงตู่ก็ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ เพราะพรรคภูมิใจไทยก็ต้องเสนอให้นายอนุทินเป็นนายกฯ และไม่มีเหตุผลที่พรรคอื่นจะไม่โหวตสนับสนุนนายอนุทิน
4) ความกระเหี้ยนกระหือรือของพรรครวมไทยสร้างชาติ มิใช่การดันลุงตู่เป็นนายกฯ หรอก แท้จริงคืออาศัยกระแสลุงตู่ผลักดันตัวเองเข้าสู่สภา หากจับพลัดจับผลูได้ สส. มากกว่าพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน ก็ค่อยดันลุงตู่เป็นนายกฯ ประคองกระแสไว้ 2 ปี ประสานพรรคร่วมเอาไว้ให้ดีๆเพื่อดัน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นนายกฯต่อ เท่านั้นเอง
5) หากพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้จำนวน สส.เยอะที่สุดในฝั่งอนุรักษ์นิยม ก็ไม่เป็นไร เพราะคนที่จะต้อง “จากไป” คือ “ลุงตู่”
6) ลุงตู่ไม่ได้สมัครเป็น สส. ทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขต ดังนั้น หากไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้เป็นอะไรเลยในสภา เป็นภาพสะท้อนว่า ลุงตู่ไม่ได้ตั้งใจทำงานการเมืองอย่างแท้จริง ลุงตู่แค่จะเป็นนายกฯ หรือแค่เอากระแสตัวเองมาดันพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าสภาเท่านั้น
7) ประชาชนและกองเชียร์ลุงตู่ จะได้คิดหรือมองเห็นบ้างไหมว่า ปัญหาเริ่มเกิดแล้ว เมื่อใช้ “ลุงตู่”บดบังการเลือกผู้สมัคร ซึ่ง 90% เป็นคนใหม่ ที่ต้องการใช้กระแสลุงตู่ชุบตัวเข้าสภาเช่นกัน เขาเหล่านั้นทำงานในสภาเป็นไหม ยึดโยงกับพื้นที่เพียงใด สุดท้ายประชาชนอาจไม่ได้ สส. เขต ที่เป็นตัวแทนของประชาชนในเขต แต่ได้ตัวแทนลุงตู่ บนความเชื่อว่าลุงตู่จะต้องเป็นนายกฯ ดังนั้น หาก สส.เขตเหล่านั้นหายหัวไปจากพื้นที่ คนที่เลือกเพราะเห็นหน้าพวกเขาเป็น “ลุงตู่” คนเดียว ก็คงได้แต่จุกอก นายกฯ ก็ไม่ได้สส. เป็นใครก็ไม่รู้ การเก็งกำไรเรื่อง “ลุงตู่” อาจกลายเป็นการขาดทุนทั้งหมด
8) ประชาชนจึงพึงพิจารณาผู้สมัคร สส. เขตในเขตของตัว แล้วเลือกจาก “ตัวผู้สมัคร” โดยตรง เพราะ 4 ปีข้างหน้า เขาคือตัวแทนจากเขตไปทำงานในสภา เอาปัญหาของเขตเข้าไปผลักดันให้เกิดการแก้ไข อะไรที่เป็นโอกาส ก็ใช้กลไกการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เอาหน้าลุงตู่ไปหลอกหลอน แล้วสุดท้าย ไม่ได้คนที่“ดีที่สุด” ในเขตนั้นเป็นผู้แทน
9) เป็นเรื่องแย่มาก ที่จะใช้คนคนเดียวเป็นภาพแทนตัวผู้สมัครทุกคน โดยไม่พิจารณาตัวผู้สมัครแต่ละคนเลย เพราะบางคน เดินในพื้นที่ยังหลงไม่รู้จักพื้นที่ มาอาศัยกระแสลุงตู่เข้าสภา รวมถึงกระแสก้าวไกล กระแสอุ๊งอิ๊งก็เช่นเดียวกัน การเลือกเช่นนั้น จะผลักดันคนดีๆ ให้เดินออกจากวงการเมืองเหลือแต่นักเกาะกระแส และ “ขี้ข้า” เท่านั้น
10) ไม่เพียงแค่คะแนนลุงตู่ไม่เพิ่มเท่านั้น คะแนนของลุงตู่ที่เหลือยังจะพากัน “กอดคอกันตาย” ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกด้วย ขณะที่ขั้วหนึ่ง มีตัวหารแค่เพื่อไทย ก้าวไกล และเสรีรวมไทย (ซึ่งแทบไม่นับเป็นตัวหารได้เลย) อีกขั้วหนึ่งต้องหารกันในหมู่ พรรคลุงตู่ พรรคลุงป้อม พรรคเสี่ยหนู พรรคลูกบรรหาร และพรรคจุรินทร์ แววกอดคอกันตายเห็นชัดยิ่งกว่าชัด เพราะคะแนนจะตัดกันเอง จนคู่แข่งขั้วตรงข้ามพาเหรดกันเข้าสภา
11) ภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐ มีกลุ่มลูกค้าของตัวเองที่ชัดเจนว่า ไม่มีลุงตู่อยู่เหนือการตัดสินใจนัก เป็นแค่คนขั้วเดียวกันเท่านั้น พรรคที่รับศึกหนักที่สุด จากกระแส “ลุงตู่” คือ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในภาคใต้และกรุงเทพมหานคร
12) โพลล์ที่ว่า เพื่อไทยกับก้าวไกลมาแรงในกรุงเทพฯ นั้น มีสิ่งที่โพลล์ยังหยั่งไม่ถึงอีก ชนิดที่ว่า ขั้นอนุรักษ์นิยมอาจ “สูญพันธุ์กันทั้งกรุงเทพฯ” เลยก็ได้ เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติอาศัยกระแส “ลุงตู่”ไล่บี้พรรคประชาธิปัตย์ ตัดคะแนนจนตัวเองก็แพ้ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ชนะ
13) หากมวลชนขั้วอนุรักษ์นิยม รู้จักมองให้กว้างกว่านั้น ต้องเข้าใจว่า ระหว่างพรรคภูมิใจไทยพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์นั้น พรรคที่สามารถข้ามขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับอีกฟากหนึ่งได้โดยง่าย คือ พลังประชารัฐ โดยลุงป้อม และภูมิใจไทยโดยอนุทิน พรรคที่จะอยู่กับลุงตู่และตีจากข้ามฟากไปอีกขั้วได้ยากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ จึงควรจัดยุทธศาสตร์การเลือกใหม่ ให้ขั้วเดียวกันชนะได้ และมีโอกาสสูงขึ้น ที่จะดันลุงตู่เป็นนายกฯ
14) นั่นก็คือ “เทคะแนนในแต่ละเขต” เลือก สส.เขตที่มีศักยภาพที่สุดให้ชนะ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้สมัครของรวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือภูมิใจไทย คะแนน สส.เขตไม่ควรกระจายจนพ่ายแพ้หมดรูป ด้วยยุทธศาสตร์การเลือกเช่นนี้ ทุกเขตจะได้สส.เขตที่ดี สภาจะได้สมาชิกที่ดีเข้าไปทำให้เป็น “สภาคุณภาพ” และขั้วอนุรักษ์นิยมมีโอกาสชนะขั้วประชาธิปไตยจอมปลอมได้
15) ส่วน สส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น เลือก “พรรคที่ชอบ” ได้เต็มที่ เพราะบัตรใบนี้ เอาคะแนนทั้งประเทศมากองรวมกันแล้วหาร 100 ก็จะได้จำนวน สส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคออกมา ไม่มีการตัดคะแนนกันจนแพ้ให้อีกขั้ว
16) ประเด็นเหล่านี้ จะได้รับการแยแสสนใจจาก “กองเชียร์ลุงตู่” ที่อีโก้สูงแค่ไหนก็ไม่ทราบ อาจได้ทราบก็ต่อเมื่อลุงตู่ไม่ได้เป็นนายกฯ โน่นแหละ มีบางพรรคข้ามฟากไปตั้งรัฐบาลกับอีกขั้นหนึ่งแล้วนั้นแหละ สติถึงจะมา
17) กองเชียร์ลุงตู่ยังสร้างมายาภาพเรื่อง“ผู้ปกป้อง” ให้เป็นกระแสขึ้นมาด้วย ทั้งๆ ความจริงการยกเลิก ม.112 ก็ดี หรือแค่แก้ไข ม.112 ก็ดี ต้องทำกัน “ในสภา” ต่อให้ลุงตู่ได้เป็นนายกฯ ลุงตู่ก็ไม่อาจโหวตขวางในสภาได้ แล้วลุงตู่จะเป็นผู้พิทักษ์ มหาบุรุษผู้ปกป้องตอนไหน?
18) ลุงตู่จะตีกัน “ไอ้ขี้โกงกลับบ้าน” ก็ไม่ได้ จะป้องกันการแก้ หรือยกเลิก ม.112 ก็ไม่ได้ เพราะยุทธศาสตร์การทำลายฝ่ายเดียวกันแบบที่เป็นอยู่
19) หากขั้วประชาธิปไตยจอมปลอมได้เป็นรัฐบาล เขาก็มีโอกาส “แก้กฎหมาย” ให้ “ไอ้ขี้โกง” กลับบ้านง่ายขึ้น หรือรับโทษน้อยลง หรือรับโทษในที่คุมขังที่เป็น “บ้าน” ของเขาเอง ลุงตู่ซึ่งไม่ได้อยู่ในสภาจะเอาอะไรไปทัดทานขัดขวางเขา
20) เช่นเดียวกับการแก้หรือยกเลิก ม.112 พรรคก้าวไกลจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเสียงข้างมากในสภา แล้วเสนอเป็นกฎหมายเข้ามา เพื่อยกเลิกและแก้ไข
21) กรณีจะยกเลิก ม.112 เขาจะทำไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า “พระมหากษัตริย์อยู่ในที่อันควรเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เว้นเสียแต่เขาเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แล้วตัดมาตรานี้ออก ซึ่งก็จะถูกตีตกในวุฒิสภา หรือหากทะลึ่งผ่านไปได้ ก็ต้องมีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก และอาจต้องทำประชามติอีก ซึ่งยากที่จะผ่าน
22) เช่นกันกับกรณีไข ม.112 ก็ต้องผ่านเสียงข้างมากในสภาให้ได้ ต้องผ่านวุฒิสภาให้ได้ และต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญให้ได้
23) การปั่นกระแส “ทักษิณกลับบ้าน” หรือ“ยกเลิก/แก้ไข ม.112” จึงเป็นการหาเสียงที่สมประโยชน์กัน ทั้งกับพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และลุงตู่ จะเห็นได้ว่า พอมีประเด็นเหล่านี้ กระแสลุงตู่ตีขึ้นทันที โดยที่ไม่มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้อย่างปัญญาชนเลย อาศัยความเชื่อเป็นหลัก ว่าลุงตู่คือผู้พิทักษ์ คือไม้กันหมา คือยันต์กันผีที่ศักดิ์สิทธิ์
24) แล้วทำไมฝ่ายตรงข้ามไม่กลัวเลยล่ะ ก็เพราะเขาคิดแล้วว่า ปั่นกระแสนี้ขึ้นมา คะแนนลุงตู่จะไปทำลายคะแนนของพรรคขั้วอนุรักษ์ด้วยกัน แต่ก็ไม่มากพอที่พรรคลุงตู่จะชนะ สุดท้ายเหมือน“ยืมดาบฆ่าคน” ยืมลุงตู่ฆ่าประชาธิปัตย์ใน กทม. และภาคใต้ เพื่อที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะได้เอาเก้าอี้ไปกิน นั่งหน้าสลอนในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง
25) นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยประเด็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ออกมาอีก ซึ่งไม่ว่าจริงหรือไม่จริงก็ยิ่งทำให้มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยยิ่งกระตือรือล้นที่จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะที่มวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้น ส่วนหนึ่งแก่เฒ่า เหนื่อยล้า แดดก็ร้อนโควิดสายพันธุ์ใหม่ก็มา จำนวนหนึ่งต้องรอลูกหลานเป็นคนพาไป
26) รัฐบาลเสียงข้างน้อย ยังเป็นสัญลักษณ์ของสันดาน “แพ้ไม่เป็น” หรือ “จะเอาให้ได้ไม่สนใจวิธีการ” ถามว่ารับบาลเสียงข้างน้อย ถ้าเกิดขึ้นจริง จะอยู่ได้กี่วัน ตอนโหวตเลือกนายกฯ อาจอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเอาชนะได้ แต่เวลาโหวตในสภาผู้แทนราฎรจะทำอย่างไร
27) เลือกตั้งกลางเดือนพฤษภาคม กว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะรับรอง กว่าจะรวมเสียงกันตั้งรัฐบาลได้ กว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งหลาย ก็น่าจะปาเข้าไปที่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมโน่นแล้ว ตั้งรัฐบาลเสร็จ เข้าสู่การพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ฝ่ายค้านเสียงข้างมาก คว่ำกฎหมายนี้ปุ๊บ รัฐบาลก็ต้องลาออกทันที แล้วจะลาออกแบบดีๆ หรือประกาศยุบสภาล่ะ
เวลานี้ จึงควรเป็นเวลาที่ต้องมา “ตั้งสติ” และวางกลยุทธ์กันให้ดีๆ
ดูเหมือน “ลุงตู่” จะเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ของขั้วตรงข้าม
ช่วยอำนวยความพ่ายแพ้ให้แก่พรรคขั้วอนุรักษ์นิยม และสถาปนารัฐบาลลูกผสมสองขั้วหรือไม่ก็เป็นขั้วตรงข้ามขั้วเดียว จบยุคประเทศไทยแบบเก่าไปเลย ก็ไม่อาจทราบได้
ไม่อาจทราบได้จริงๆ !!
พิฆาต ไพรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี