พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ของราชอาณาจักรไทยได้หารือกับ นายทิเนศ คุณวรรเทนะ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เมื่อเช้าวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. เพื่อย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดบนพื้นฐานร่วมศาสนาและวัฒนธรรม พร้อมผลักดันความร่วมมือ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่าง 2 ประเทศที่มีมาอย่างยาวนานที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล
เนื่องในโอกาสที่ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานในโอกาสที่นายทิเนศได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมในพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลทางพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ 18 ในระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2566 พลเอกประยุทธ์กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาซึ่งไทยและศรีลังการ่วมกันจัดมาอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยกับศรีลังกา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงทั้ง 2 ประเทศ มายาวนานกว่า 700 ปี
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่เศรษฐกิจศรีลังกาฟื้นตัวสู่สภาวะปกติ และหากศรีลังกาประสงค์ให้ไทยช่วยเหลือเพิ่มเติมประการใด สามารถแจ้งความประสงค์แก่ฝ่ายไทยได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลศรีลังกาที่อนุมัติการนำช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ซึ่งเป็นช้างที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกากลับมารักษาสุขภาพที่ประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีศรีลังกาขอบคุณนายกรัฐมนตรีไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงเป็นจุดเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศมายาวนาน
พลเอกประยุทธ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 2 ฝ่าย จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันมากขึ้นในทุกระดับ ทั้งในระดับสูงและระดับประชาชน ทั้งการเดินทางมาท่องเที่ยวและการศึกษา โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีศรีลังกาขอบคุณความช่วยเหลือจากประเทศไทยในช่วงที่ศรีลังกาประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมทั้งชื่นชมในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งศรีลังกาต้องการเพิ่มความร่วมมือและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากไทย โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงทางอาหารที่ไทยมีมากในกลุ่มชาติอาเซียน 10 ประเทศด้วย
โอกาสนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่ด้านเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ฝ่าย ยินดีต่อความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยกับศรีลังกา พร้อมหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับความร่วมมือ และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีศรีลังกาขอให้ฝ่ายไทยสนับสนุนนักธุรกิจไทยให้เข้าไปลงทุนในศรีลังกามากขึ้นในโครงการสำคัญต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนไทยส่วนหนึ่งให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในโครงการเมืองท่าเสรี Port City of Colombo ของศรีลังกาแล้ว
โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความเชี่ยวชาญของภาคเอกชนไทยในด้านบริการ การท่องเที่ยว และการค้าปลีก จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาประเทศของศรีลังกา นายกรัฐมนตรีไทยยินดีให้การสนับสนุนศรีลังกาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในสาขาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือกับศรีลังกาในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะสาธารณสุข การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การพัฒนาสตรีและเด็ก รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พลังงานทดแทน และเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งฝ่ายศรีลังกาต้องการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและองค์ความรู้จากไทยในด้านต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ
ในตอนท้าย ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและศรีลังกาควรกระชับความร่วมมือกันอย่างรอบด้าน เพื่อรับมือกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้ขอบคุณศรีลังกาที่พร้อมให้การสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket และยินดีที่ได้ทราบว่า ประธานาธิบดีศรีลังกามีความตั้งใจจะเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC Summit ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในช่วงปลายปี 2566 นี้ด้วย
ราชอาณาจักรไทยและศรีลังกาต่างได้รับเอาศิลปะและวัฒนธรรมทางพุทธศาสนามาจากประเทศอินเดียโบราณด้วยกันทั้งคู่นานนับเป็นพันๆ ปีทั้งไทยและศรีลังกาต่างรับพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาหลักประจำชาติที่ยาวนานบางครั้งไทยก็นำเอาหลักพุทธศาสนาของศรีลังกามาใช้ในการนับถือของพระราชอาณาจักรไทย ที่เรียกกันว่าลังกาวงศ์นิกายหินยานที่แปลกแยกมาจากนิกายวัชรยานหรือมหายานทางจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนามและเกาหลี
อย่างไรก็ตาม ในบางยุคสมัยทางฝ่ายศรีลังกาก็มีความเสื่อมโทรมทางหินยานเพราะถูกแทรกแซงทางด้านวัฒนธรรมทางศาสนาที่มาจากศาสนามุสลิมและฮินดู ในสมัยที่ประเทศอินเดียทั้งภาคเหนือและใต้ตกอยู่ภายใต้อำนาจจากศาสนาฮินดู มุสลิม และซิกซ์ ส่วนราชอาณาจักรไทยมีพุทธศาสนาที่มีความมั่นคงในเอเชียอาคเนย์มากกว่า ได้ส่งพระภิกษุเป็นคณะธรรมทูตเข้าไปเผยแพร่หินยานและลังกาวงศ์ในศรีลังกาที่มีประชากร 22 ล้านคน ที่มีทั้งชาวสิงหลและชาวทมิฬที่นับถือลัทธิศาสนาที่แตกต่างกัน จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนออกมาเป็นรัฐเอกราช
เชื่อว่าสัมพันธภาพของไทยและศรีลังกาน่าจะมีความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนเพราะปัจจุบันตระกูลมหาเศรษฐีของไทยหลายตระกูลได้เข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนมากที่ศรีลังกา อินเดีย เกาะมัลดีฟส์เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและกัมพูชา ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ไทยคือพี่เบิ้มที่สำคัญจนทั่วโลกต่างยอมรับว่าการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่คือนักธุรกิจจากไทยนั่นเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี