เปิดปูม‘ปดิพัทธ์’!ฝ่าเกมการเมือง จาก‘สัตวแพทย์’สู่รองปธ.สภาคนที่ 1
ปิดจ๊อบกันไปเรียบร้อย สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 (นัดแรก) วันที่ 4 ก.ค.66 ซึ่งไฮไลต์ “แย่งซีน” ชิงตำแหน่ง “ประธานสภา” ไปอยู่ที่การโหวตเลือก “รองประธานสภา” คนที่ 1 ระหว่าง “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กับ “วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเป็นการลงคะแนนลับและขานชื่อเพื่อนับคะแนน ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชม.
สุดท้าย... “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ ซิวตำแหน่งไปครอง หลังได้คะแนน 312 เสียง ส่วน “วิทยา” ได้ 105 เสียง โดยมีการงดออกเสียง 77 เสียง บัตรเสีย 2 ใบ
สำหรับประวัติของ “ปดิพัทธ์” เขาเป็น “สัตวแพทย์” เกิดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2524 จบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาตรีจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยศาสนศาสตร์ทรีนีตี้ ประเทศสิงคโปร์ เคยทำงานเป็นสัตวแพทย์เป็นเวลา 2 ปี และทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคมกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย ตั้งแต่ปี 2548-2561 ได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นมาเป็น ส.ส. สมัยแรก ในการเลือกตั้งปี 2562 ในสังกัดพรรคอนาคตใหม่
ฮือฮา!!!
เมื่อเล่นการเมืองครั้งแรก “หมออ๋อง” ก็สามารถชิงเก้าอี้ ส.ส. เขต 1 จ.พิษณุโลก มาจากผู้สมัครตัวเต็งในเวลานั้นคือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แชมป์เก่าและยังเป็น ส.ส. หลายสมัย จากพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงมีชัยเหนือพรรคพลังประชารัฐ อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่มาแรงในเวลานั้น ซึ่งส่ง นายเศรษฐา กิตติจารุรักษ์ ลงสมัครในเขตนี้ โดย น.สพ.ปดิพัทธ์ ได้อันดับ 1 ตามด้วย นายเศรษฐา และ อันดับ 3 คือ นพ.วรงค์ และในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ น.สพ.ปดิพัทธ์ อยู่สังกัดพรรคก้าวไกล ยังรักษาชัยชนะไว้ได้ จากคู่แข่งสำคัญคือ นายอดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่มาเป็นอันดับ 2 และ น.ส.ณัฐทรัชต์ ชามพูนท จากพรรคเพื่อไทย อยู่อันดับ 3
บทบาทการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ตลอด 4 ปีของการเป็น ส.ส.สมัยแรก น.สพ.ปดิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน และถือเป็นดาวเด่นคนหนึ่งของพรรค เห็นได้จากการที่พรรคก้าวไกลไว้วางใจส่งชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะมีการเคลียร์กันระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย เมื่อค่ำวันที่ 3 ก.ค. 2566 ซึ่งทั้ง 2 พรรค ร่วมกันเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ ส่วนเก้าอี้รองประธานสภาฯ 2 ตำแหน่ง รองประธานคนที่ 1 จะเป็นของพรรคก้าวไกล และคนที่ 2 เป็นของพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม สำหรับ น.สพ.ปดิพัทธ์ ก็เคยมีประเด็นดราม่ากับบรรดา “ด้อมส้ม” หรือผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอยู่บ้าง ในช่างที่พรรคมีการเสนอกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ที่รับรองสิทธิการแต่งงานของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่ง น.สพ.ปดิพัทธ์ เลือกที่จะงดออกเสียง โดยให้เหตุผลด้านศาสนา
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี