‘สว.สมเจตน์’ ยังข้องใจ ‘เพื่อไทย’ รีบ ‘แก้รธน.’ หวังล้างผิดคดีทุจริต แนะยอม ‘เสียสัตย์’ ให้ปท.สงบจะโหวตให้ ด้าน ‘พรรคเล็ก’ ยก10ล้านเสียงเข้าข่ม ขณะที่ ‘คำนูณ’ แตะเบรคเพื่อนวุฒิสภาลดความเข้มลงมติ
22 ส.ค.2566 เมื่อเวลา11.45น. ที่รัฐสภา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา วาระให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญทันทีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดแรก อยากถามว่า รัฐธรรมนูญปี 60 มีปัญหาอะไรให้เร่งแก้ไข เป็นเพราะรัฐธรรมนูญนี้มีกลไกป้องกันนักการเมืองทุจริตเข้มงวด อาทิ ตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต การให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ กลไกเหล่านี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่มักมีปัญหาทุจริต คนสำคัญบางคนต้องหลบหนีคดี เพราะไม่มีอายุความ จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นหากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลไกขจัดนักการเมืองทุจริตจะหายไป สอดคล้องความต้องการบางพรรคการเมืองที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญหมวดสถาบัน การแย่งแยกราชอาณาจักร การทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างอำนาจองค์กรอิสระ ลบล้างความผิดให้นักการเมืองทุจริต เพิ่มประเด็นความขัดแย้งมากขึ้น จะกระทบความมั่นคงชาติร้ายแรงมากกว่าการแก้มาตรา 112 ดังนั้นจะสนับสนุนนายกฯพรรคเพื่อไทยได้อย่างไร
“แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยจะเสียสัตย์ ให้ประเทศสงบ ยืนยันจะไม่เสนอแก้รัฐธรรมนูญทันที แต่จะเสนอในห้วงเหมาะสม เมื่อสังคมสงบสุข การเสียสัตย์ครั้งนี้จะได้รับคำสรรเสริญทำเพื่อประเทศ ถ้าทำเช่นนี้ จะสนับสนุนนายกฯเพื่อไทย” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ด้านนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังสังคมใหม่ อภิปรายว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อครหาเรื่องการเลี่ยงภาษีที่ดิน โดยการแยกโอนการซื้อขายที่ดินเป็นรายวัน รายบุคคล 12 คน 12วัน เพื่อภาษีที่ดิน 70ล้านบาท ไม่ใช่ 580ล้านบาทนั้น เป็นระเบียบของกรมที่ดินในการเสียภาษีให้ทำได้ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ส่วนที่หลายคนบอกว่าไม่รู้จักนายเศรษฐานั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะตลอดการเลือกตั้ง แคนดิเดตนายกฯทุกพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์มาตลอด จะไม่รู้จักได้อย่างไร พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเลือกตั้งจากรประชาชน 10ล้านเสียง ถือว่าผ่านการตรวจสอบจากประชาชนมาแล้ว จึงมีความเหมาะสมเป็นนายกฯ
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. อภิปรายว่า สว.ควรใช้อำนาจเลือกนายกฯอย่างมีขอบเขต การให้ความเห็นชอบนายกฯวันนี้เห็นควรกลับคืนสู่หลักการทั่วไปคือ ให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร เพราะแคนดิเดตนายกฯที่ได้รับการเสนอชื่อไม่มีหลักคิดเป็นอันตราย ส่วนการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถือเป็นภยันอันตรายหรือไม่นั้น เห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเกือบทุกพรรคการเมือง การจะให้ครม.ทำประชามติในวันแรกการประชุมครม. ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะการทำประชามติและการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2ปี ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เคารพผลการลงประชามติ แต่เพื่อความสบายใจของรัฐสภาและประชาชน ควรชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อสร้างความสบายใจว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรรับฟังความเห็นจากทุกพรรค และสว. ผ่านการพูดคุยให้มากสุด และรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ที่จะเกิดขึ้น ต้องผ่านความเห็นจากสภาฯก่อน รวมถึงทบทวนระยะเวลาทำประชามติจะเป็นประโยชน์ ถ้าทำได้ก็จะให้ความเห็นชอบนายกฯตามเสียงข้างมาก
-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี