วงเสวนาฝากคำถามคิดให้ตกผลึกก่อนออกแบบที่มา‘สว.’ ทั้ง‘เลือกตั้ง-สรรหา’
12 ก.ย. 2566 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสัมมนา “ทิศทางวุฒิสภาโลกและวุฒิสภาไทย: มาจากไหน ทำอะไร ควรเป็นอย่างไรดี?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) โดย น.ส.ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชกาชำนาญการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สรุปแนวคิดที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือสภาที่ 2 ของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจใช้หลายแนวคิดผสมผสานกันก็ได้
อาทิ 1.ผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น บาห์เรน จอร์แดน สว. มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีกรอบกฎหมายระบุคุณสมบัติของบุคคลที่สามารถได้รับการแต่งตั้ง 2.พรรคการเมือง เช่น อังกฤษ ที่ยกเลิกการสืบทอดตำแหน่งสมาชิกสภาขุนนางทางสายเลือด แล้วตั้งคณะกรรมการสรรหา สว. ประกอบด้วยตัวแทนไม่สังกัดพรรคการเมือง และจากพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสมาชิกรุ่นใหม่ๆ ให้ยึดโยงกับประชาชนตามหลักประชาธิปไตย
3.กลุ่มผลประโยชน์ เช่น ไอร์แลนด์ สว. มาจากกลุ่มอาชีพจำนวน 5 กลุ่ม คัดเลือกตัวแทนเข้ามา แต่ที่น่าสนใจคือ มีการให้โควตา สว. กลุ่มผู้จบจากมหาวิทยาลัยสำคัญ 2 แห่งในประเทศด้วย และ 4.กลุ่มชาติพันธุ์ มักพบในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ซึ่งเกิดจากยุคอาณานิคมที่เจ้าอาณานิคมแบ่งดินแดนโดยไม่ได้สนใจผู้อยู่อาศัย และเมื่อดินแดนเหล่านั้นได้รับเอกราชก็ต้องหาทางให้กลุ่มต่างๆ อยู่ร่วมกันได้ เช่น เลโซโท สว. มีตัวแทนจาก 22 ชนเผ่า เป็นต้น โดยสรุปแล้วจึงต้องตกลงให้ได้ก่อนว่าอยากให้ สว. เป็นตัวแทนอะไร จากภาคส่วนใด แล้วจึงคิดเรื่องที่มาของ สว.
ส่วนประเด็นที่มีการตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับล่าสุดของไทย มีที่มาของ สว. แตกต่างกัน โดย รธน. 2540 สว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แล้วเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สว. มักเป็นผู้ใกล้ชิดนักการเมือง หรือเป็นสภาผัว-เมีย ทำให้ รธน.2550 แบ่งที่มาของ สว. เป็น 2 กลุ่ม คือมาจากการเลือกตั้งและจากการสรรหาตามกลุ่มอาชีพ จนล่าสุดใน รธน.2560 กำหนดให้ สว. มาจากการสรรหาทั้งหมด ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในอีกมุมหนึ่ง จึงมีคำถามว่าควรกลับไปใช้แบบ รธน. 2550 ที่พบกันครึ่งทางแบบประนีประนอม จะดีหรือไม่
เรื่องนี้ตนมองว่า ในส่วน สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง หากไม่มองในมุมของการตรวจสอบถ่วงดุลที่ก็เป็นคำถามอยู่ ก็มองว่าส่วนใหญ่เป็นแนวทางที่ประชาธิปไตยค่อนข้างสนับสนุน สว. เลือกตั้ง แต่ก็ต้องไปดูว่าจะออกแบบการเลือกตั้งสภาที่ 2 หรือ สว. อย่างไรให้ต่างจากการเลือกตั้งจากสภาแรก หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แต่ในส่วน สว. จากกลุ่มอาชีพ ก็จะมีคำถามว่าวิชาชีพใดที่คิดว่าสมควรต้องมา และจะมีที่มาแบบใด หากยังตกผลึกนิยามของกลุ่มวิชาชีพไม่ได้ก็อาจจะลำบาก
“คำถามคือส่วนตัวเวลามองว่ากลุ่มวิชาชีพ เราจะตั้งคำถามก่อนเลยว่าคุณ Define (กำหนดนิยาม) อย่างไรกับกลุ่มวิชาชีพ คืออะไร? แล้วทุกวันนี้คือเสียงเขาเพียงพอไหม? หรือแบบไหน? คือก็เห็นด้วยเพราะส่วนหนึ่งการผ่านกฎหมาย อันนี้มองในมุมนิติศาสตร์ กฎหมายอะไรที่มันไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของวิชาชีพนั้นๆ แล้วมันไม่เกี่ยวกับการเมือง โอกาสที่มันจะผ่านหรือเข้าไปในสภาได้มันยากเย็นมาก คือมันต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง” น.ส.ชมพูนุท กล่าว
น.ส.ชมพูนุท กล่าวต่อไปว่า ส่วนคำถามเรื่องหาก สว. มีที่มาจากการเลือกตั้ง ควรเปิดโอกาสให้หาเสียงได้อย่างอิสระหรือไม่ เรื่องนี้ตนเห็นว่า ในกลุ่มคนที่ไม่ชอบให้ สว. มาจากการเลือกตั้ง จะมีวิธีคิดว่าต้องการ สว. ที่เป็นกลาง แต่ก็มีคำถามว่า สว. ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร เมื่อไปปฏิบัติหน้าที่คืดว่าจะเป็นกลางจริงหรือ เพราะจากการศึกษา สว. จากหลายๆ ประเทศ บอกได้ค่อนข้างชัดว่าการเมืองเป็นเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มหรือของอะไรก็ตาม
เช่น ที่มาของ สว. ในฝรั่งเศสมาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นย่อมชัดเจนว่าต้องปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่นตนเอง จึงขอตั้งคำถามก่อนว่า ความคิดเรื่อง สว. ที่เป็นกลางใช้การได้จริงหรือเปล่า แต่หากปลดวิธีคิดดังกล่าวออกไปก็อาจจะหลุดออกจากกรอบได้ โดยเปลี่ยนเป็นคิดว่าต้องการหาคนมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง การเลือกตั้ง สว. ก็จะมีปัญหาน้อยลง และเมื่อจะให้ สว. มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรให้อิสระในการหาเสียง แต่ก็ต้องอย่าทำให้รูปแบบการเลือกตั้งออกมาเหมือนกับการเลือกตั้ง สส. ที่ได้คนหน้าเดิมๆ
ด้าน นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ความเป็นกลางตกลงแล้วมีจริงหรือไม่ เพราะหากย้อนไปดูตั้งแต่ รธน.2540 ที่ระบุว่า ต้องการคนมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งปัจจุบันคือปี 2566 ผ่านมาแล้ว 26 ปี ถามว่าเจอคนแบบดังกล่าวแล้วหรือยัง ทั้งนี้ เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล (Check & Balance) ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เรามีปัญหากับเรื่องนี้มาก และเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย การแก้ไขที่มาของ สว. อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา
ส่วนคำถามที่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วและวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานค่อนข้างนิ่ง มีปัญหาตระกูลการเมืองและระบบอุปถัมภ์เหมือนประเทศไทยหรือไม่ จนทำให้คนไทยบางส่วนไม่ชอบและไม่ไว้ใจระบบการเลือกตั้ง เรื่องนี้ต้องอธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่าระบบอุปถัมภ์ ก่อนจะมีรัฐสมัยใหม่ความสัมพันธ์ดั้งเดิมคือชนเผ่า คนช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน พี่ช่วยน้อง-น้องช่วยพี่ เครือญาติ ดังนั้นระบบอุปถัมภ์คือความสัมพันธ์ของคนก่อนที่จะมีรัฐเกิดขึ้น แต่คำถามคือเมื่อรัฐเกิดขึ้นเหตุใดระบบอุปถัมภ์จึงไม่หายไปจากสังคมไทย
“ถามว่าตระกูลการเมืองประเทศอื่นๆ มีไหม? มี! สหรัฐอเมริกา ช่วงหนึ่งตระกูลเคนเนดีขึ้นมา แต่ถ้ามันเป็นประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐานมั่นคงแล้ว กติกาเดียวที่คุณเล่นคือการเลือกตั้ง คุณจะตระกูลไหนก็แล้วแต่ แต่คุณต้องไปลงสมัครรับเลือกตั้งให้คนเลือก ถ้าอย่างนี้ตระกูลการเมืองไม่ได้สำคัญขนาดนั้น คุณอาจจะเป็นลูกหลานของ JFK (จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) แต่แล้วอย่างไร? ถ้าคนไม่เลือก” นายปุรวิชญ์ กล่าว
-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี