‘คนไทย’ดับพุ่งเป็น 20 รายแล้ว ‘กระทรวงการต่างประเทศ’เผย‘แรงงานไทย’ในอิสราเอลเสียชีวิตเพิ่มอีก 2-เจ็บอีก 4-ถูกจับเป็นตัวประกันอีก 3 ราย ไม่กล้ายืนยันปลอดภัย 100% เหตุตัวประกันอยู่กระจัดกระจาย ขณะที่อพยพแรงงานออกมาที่ปลอดภัยหลายร้อยคน ยอดลงทะเบียนขอกลับไทยพุ่งเป็น 5,019 คน
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 11 ต.ค.2566 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ ความไม่สงบในพื้นที่ตะวันออกกลาง ร่วมกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ว่า ยังคงมีการโจมตีด้วยจรวดที่ฉนวนกาซา ทางฝ่ายอิสราเอลพยายามจะเข้าครอบครองยึดคืนพื้นที่คืน และยังคงมีการสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย ทั้งพลเรือน และทหาร ขณะที่อิสราเอลเร่งซ่อมแซมชายแดนแต่ยังคงมีผู้ก่อการที่หลบซ่อนอยู่ในอิสราเอล
“ในแง่ผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ ต้องขอแสดงความเสียใจและแจ้งเพิ่มเติม ว่า เมื่อคืนนี้ทางสถานทูตไทยในเทลอาวีฟได้รับแจ้งจากแรงงานในพื้นที่ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ โจมตีอีก 2 ราย ทำให้สถานะผู้เสียชีวิตรวมเป็น 20 คน ข้อมูลที่ได้นี้เป็นข้อมูลจากพี่น้องแรงงานในพื้นที่ ส่วนการยืนยันโดยทางการอิสราเอลนั้น จะต้องใช้เวลา ส่วนผู้บาดเจ็บได้รับรายงานว่ามีเพิ่มเติมอีก 4 ราย จากเดิม 9 ราย รวมเป็น 13 ราย และเมื่อวานนี้(10 ต.ค.) เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมคนไทยที่โรงพยาบาล และ แรงงานในพื้นที่ ซึ่งได้พูดคุยกับแพทย์ฝากไว้ว่าหากแรงงานไทยที่รักษาตัวมีสติกลับมา ก็ขอให้แจ้งด้วย สำหรับผู้ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน ได้รับแจ้งจากเพื่อนแรงงานด้วยกันเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 14 ราย สำหรับกรณีที่มีรายงานว่า พบแรงงานไทย 14 ราย และได้รับการปล่อยตัวนั้นจากการตรวจสอบไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่มีในตอนแรก ถือว่าแยกออกมา” นางกาญจนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการอพยพแรงงานมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยได้อีกหลายร้อยคนโดยออกมาอยู่ในศูนย์พักพิง และทางทูตและข้าราชทูต ได้เข้าไปเยี่ยมเยียน ส่วนความปลอดภัยของตัวประกันนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่ายืนยันยากมากตอนนี้ฝ่ายฮามาส แจ้งว่าจับไปรวมทุกชาติประมาณ 150 คน และมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะกระจัดกระจายอยู่ที่ต่างๆไม่ได้อยู่รวมกัน และในเรื่องของความปลอดภัย 100% หรือไม่นั้น คงไม่สามารถยืนยันได้
สำหรับการอพยพคนไทยรอบแรก 15 คน จะมาถึงเมืองไทยวันที่ 12 ต.ค.เวลาประมาณ 10:35 น. โดยจะมีทีมงานไปที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และขณะนี้มีพี่น้องแรงงานที่ประสงค์จะกลับไทยเพิ่มเติมรวม 5,019 ราย และแสดงความประสงค์ไม่กลับ 61 ราย จากแรงงานทั้งหมด 30,000 กว่าราย ส่วนที่เหลืออาจจะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรืออยู่ระหว่างการตัดสินใจและมีบางคนที่เมื่อโทรศัพท์ติดต่อกลับไป ก็เปลี่ยนใจไม่กลับเพราะมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว และขณะนี้กำลังเตรียมการจองที่นั่งบนสายการบินพาณิชย์ 18 ตุลาคม จองไว้ 80 ที่นั่ง ขณะที่เครื่องของกองทัพอากาศกำลังขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆจึงต้องใช้เวลา และในพื้นที่ต้องมีการนัดหมายกับพี่น้องคนไทย
“ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าจะพยายามดำเนินการอพยพอย่างเร็วที่สุดแต่มีหลายปัจจัย เพราะประเทศที่ อพยพและสำเร็จแล้วส่วนใหญ่จะเป็นประเทศยุโรปซึ่งอยู่ใกล้ ในการเดินทาง และ บางส่วนไม่ได้เป็นแรงงานในพื้นที่ที่ เกิดการสู้รบ ดังนั้นการเคลื่อนย้ายและรวมคนในที่ปลอดภัย จะสะดวกกว่า” นางกาญจนา กล่าว
ส่วนเรื่องของการเจรจากับกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวประกันนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกประเทศพยายามเพื่อให้ยุติความรุนแรงโดยสามารถเจรจากับชาติไหนได้ก็จะเจรจา เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น กับพลเรือนทั้งสองฝั่งทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงชาติอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบก็พยายามเจรจาและทราบว่า คนที่ถูกควบคุมตัวน่าจะกระจัดกระจาย ตามที่ต่างๆ แต่เท่าที่ทราบกลุ่มชาวต่างชาติไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย
เมื่อถามว่ามีการแจ้งว่ามีแรงงานเสียชีวิตเพิ่มเติมมากกว่านี้นั้น นางกาญจนา กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทาง สถานทูตได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลทันทีเพื่ออพยพ คนออกซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลแสดงก็ได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่งและไม่อยากให้เกิดเหตุและขอให้เข้าใจข้อจำกัดที่จะอพยพโยกย้ายออกมา แต่พยายามอย่างเต็มที่ และสำหรับน้ำดื่ม เสบียง อาหารต่างๆก็ได้ยินมาว่ามีความยากลำบาก แต่การช่วยเหลือต้องมาจากทางการอิสราเอลและ ทางทหารที่จะเข้าไปในพื้นที่ซึ่งทางการอิสราเอลก็พยายามอยู่
สำหรับกรณีที่มีภาพปรากฏว่าแรงงานถูกบังคับให้ทำงานในสภาวะสงครามว่าได้เห็นตามข่าวทางโซเชียลและทางทูตได้ประสานไปทางนายจ้างและทางการอิสราเอลที่โยกย้ายคน ไปในพื้นที่อื่น ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอล แจ้งว่าเป็นการโยกย้ายจากพื้นที่หนึ่ง ซึ่งทำงานไม่ได้ไม่ปลอดภัยมาสู่อีกพื้นที่หนึ่ง โดยเป็นการทำงานเพื่อที่จะมีรายได้แต่ก็เข้าใจถึงสภาวะความตึงเครียดความกดดันซึ่ง ทูตบอกว่าคงต้องให้เวลากับพี่น้องแรงงานด้วย ไม่ใช่ย้ายออกมาแล้วให้ทำงานทันที เพราะส่งผลต่อสภาพจิตใจ
“แต่ประเภทที่ถูกขายเป็นแรงงาน ทางทูตบอกว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และเชื่อว่ากรณีนี้แรงงานมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้ หากสภาพจิตใจยังไม่พร้อม และส่วนตัวคิดว่านายจ้างไม่น่าจะบังคับให้ไปทำงานหากอยู่ในสภาวะเสี่ยง” นางกาญจนา กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี