‘ธรรมนัส’เร่งออกประกาศกฎหมายลำดับรอง 9 ฉบับ พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาประมงทะเล
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กรมเจ้าท่า ตลอดจนผู้แทนกลุ่มประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุม โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุม ไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชนอีกครั้ง โดยมุ่งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมและการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ทั้งชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงพาณิชย์ โดยเฉพาะกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อชาวประมง ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ลงวันที่ 21 ก.ย. 2566 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีเจตนารมณ์ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามที่มีกรณีข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในคราวลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 โดยมีประเด็นเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรอง ซึ่งขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว จำนวน 9 ฉบับ โดยรมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดดำเนินการออกประกาศตามขั้นตอนต่อไป
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเสนอนโยบายการประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านไทย พ.ศ. 2566 ของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประเด็นข้อเสนอของชาวประมงปลากะตักใน จ.พังงา โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาชีพประมงและคุณภาพชีวิตของชาวประมงให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้รับทราบมาตรการกำจัดและควบคุมปลาหมอสีคางดำของกรมประมง ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ แย่งอาหาร และแย่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น ตลอดจนการแย่งอาหารและกินลูกพันธุ์สัตว์น้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการจับ การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว การส่งเสริมการเลี้ยงปลาผู้ล่า คือ ปลากะพงขาว ปลากะพงทอง หรือปลาเก๋า ร่วมกับปลาเศรษฐกิจชนิดอื่น รวมถึงการส่งเสริมให้นำปลาหมอสีคางดำที่กำจัดออกไปแปรรูป เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ การขายให้กับโรงงานปลาป่นด้วย ---017
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี