‘เศรษฐา’เดินหน้าหาเงินเข้าปท.
อ้อนนักลงทุน
เจรจาหลายชาติในเวที‘เอเปก’
ขอญี่ปุ่นย้ายฐานมาไทย
ผลิตรถยนต์ส่งขายทั่วโลก
“เศรษฐา” หารือนายกฯญี่ปุ่น ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ยืนยันความพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษในเดือนธันวาคม
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.00 น. วันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง)ณ โรงแรมนิกโก ซานฟรานซิสโก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พบหารือทวิภาคีกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่30
นายเศรษฐา กล่าวถึงการหารือทวิภาคี กับนายคิชิดะ ฟูมิโอ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ว่า ได้หารือเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีมานาน 50 ปี และหารือเรื่องการใช้รถยนต์สันดาป โดยตนให้ความมั่นใจกับทางญี่ปุ่นไปว่าจะไม่ทอดทิ้ง มีการพูดคุยกันว่าให้การประกอบรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่น และกระบวนการจัดการผลิตอยู่ได้ ขณะที่รถไฟฟ้า (อีวี) ที่มีความต้องการสูง และได้พูดในหลายเวทีว่าประเทศญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยสูงที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมาดูแลช่วยเหลือกัน และทางญี่ปุ่นยืนยันว่าธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจสำคัญและจะพัฒนาต่อในประเทศไทย และในระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
นอกจากนั้นยังพูดคุยอีกหลายเรื่อง เช่น การฟรีวีซ่าสำหรับนักธุรกิจของสองประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องขอ เพื่อให้นักธุรกิจ ติดต่อธุรกิจและไปมาหาสู่สะดวกมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่สองฝ่ายเห็นตรงกัน
ผู้สื่อข่าวถามเรื่องวีซ่านักธุรกิจ จะจำกัดจำนวนวันในการเข้ามาพำนักเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่มี เป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศต้องไปศึกษา โดยการทำธุรกิจต้องใช้เวลานานเล็กน้อย ส่วนรายละเอียดคาดว่าจะตกลงกันได้ในระหว่างการไปร่วมประชุม
ด้านนายกฯญี่ปุ่น กล่าวยินดีที่ได้พบหารือกับนายกฯ ในวันนี้ แสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นพร้อมกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สานต่อความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน ซึ่งโอกาสนี้ นายกฯญี่ปุ่นได้กล่าวขอให้ไทยช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าไปลงทุนในประเทศไทย อาทิ การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการติดต่อ หรือประกอบธุรกิจแก่นักธุรกิจ
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือในประเด็นที่เป็นประโยชน์และสนใจร่วมกัน โดยนายกฯ ยืนยันว่าไทยพร้อมดูแลภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปญี่ปุ่นในไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ควบคู่กับการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมEVเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตยานยนต์สันดาป ซึ่งนายกฯ ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทาง โดยหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่นโดยตรง
พร้อมกันนี้ นายกฯ ญี่ปุ่นซึ่งได้เชิญนายกฯ ไทย เข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคก้าวเข้าสู่สังคมปลอดคาร์บอน ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่นที่สอดรับกับแนวทางของไทย
ทั้งนี้ ไทยมุ่งเน้นเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเปิดกว้างในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง โดยไทยมีโครงการ Landbridge เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงอยากเชิญญี่ปุ่นมาร่วมมือในโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ญี่ปุ่น และภูมิภาค โดยนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงด้านความมั่นคง ซึ่งยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิดภายใต้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ
ด้าน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (AMM) ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2566 ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566 คือ “สรรค์สร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน” ซึ่งส่งเสริมความเชื่อมโยง (interconnected) นวัตกรรรม (Innovative) และความครอบคลุม (Inclusive) โดยเขตเศรษฐกิจต่างเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญระบบการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นศูนย์กลาง การใช้การค้าเป็นเครื่องมือสนับสนุน MSMEs สตรี และกลุ่มเปราะบาง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น และนโยบายสีเขียวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการกับความท้าทายต่างๆ โดยไทยเองก็ได้กล่าวสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและ WTO เช่นกัน และไทยยังได้นำเสนอนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่สนับสนุนเรื่องเหล่านี้ด้วย เช่น การสร้างโอกาสให้สตรีและ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน การลงทุนเพื่อพัฒนา Start-up และการพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็กให้เท่าทันกฎกติกาใหม่ ๅ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี