"วิโรจน์"เผยตั้งกระทู้ถึง"นายกฯ"จี้แก้ปัญหาฮั้วประมูล ลั่นอยากหาเงินทำ"ดิจิทัลวอลเล็ต"ก็ช่วยแล้ว ด้าน"กมธ.ติดตามงบฯ"แนะ 3 แนวทาง-ขอเอกสารประกอบเพิ่ม
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ที่รัฐสภา น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมเพื่อศึกษาการบริหารงบประมาณ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขึ้นทะเบียนผู้ก่อสร้างที่มีสิทธิยื่นข้อเสนอต่อกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ร้องเรียน
โดย น.ส.รักชนก กล่าวถึงผลการประชุมว่า กมธ.มีข้อเสนอแนะ ให้มีการแก้ไขประกาศคณะกรรมการราคากลาง และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการฉบับข้างต้น เพื่อแก้ปัญหาการฮั้วประมูลที่อาจเกิด 3 แนวทางคือ 1.ยกเลิกผู้รับเหมาชั้น 1ก แล้วแก้ไขหลักเกณฑ์ผลงาน 1 โครงการภายใน 10 ปี ในการเลื่อนชั้นจากผู้รับเหมาชั้น 1 เป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ จาก 450 ล้านบาท เป็น 250 ล้านบาท เพื่อให้ได้สัดส่วน ‘ครึ่งหนึ่งของวงเงินที่ผู้รับเหมาชั้น 1 ประมูลได้’ สอดคล้องกับการเลื่อนชั้นของผู้รับเหมาชั้นอื่นๆ ทั้งนี้ เห็นว่าทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
2.แก้ไขหลักเกณฑ์ ผลงาน 1 โครงการภายใน 10 ปี ในการเลื่อนชั้นจากผู้รับเหมาชั้น 1ก เป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ จาก 450 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท เพื่อให้ได้สัดส่วน "ครึ่งนึ่งของวงเงินที่ผู้รับเหมาชั้น 1ก ประมูลได้" สอดคล้องกับการเลื่อนชั้นของผู้รับหมาชั้นอื่นๆ
3.แก้ไขหลักเกณฑ์ให้วงเงินที่ผู้รับเหมาชั้น 1ก สามารถประมูลได้ ขยับจาก 600 ล้านบาท ให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งจะมีมูลค่าเป็น 2 เท่าของผลงาน 1 โครงการภายใน 10 ปี ที่เป็นเกณฑ์ในการเลื่อนชั้นเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ที่กำหนดไว้ที่ 450 ล้านบาท
น.ส.รักชนก กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กมธ.ฯ ยังได้มีมติส่งหนังสือแจ้งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และขอข้อมูลเอกสารประกอบการพิจารณาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ประธานคณะกรรมการราคากลาง และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อแจ้งให้ทราบว่า การออกประกาศคณะกรรมการราคากลาง และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้าง ที่มีสิทธิเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ ต่อหน่วยงานรัฐ ลงวันที่ 9 ต.ค.2566 ซึ่งแก้ไขจากประกาศฉบับเดิม ที่ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 นั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเสนอแนวทางในการแก้ไขประกาศดังกล่าว ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ประมาณ 4,000 - 5,000 ล้านบาท
2.ขอบันทึกการประชุมและชวเลข ของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับการประชุมเพื่อออกประกาศ 3.จัดทำหนังสือถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อแจ้งให้ตรวจสอบโครงการของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบล โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งราคาที่มีการประมูลได้ใกล้เคียงกับราคากลาง 4.จัดทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณของรัฐสภา เพื่อให้ศึกษาราคาประมูลเทียบราคากลางย้อนหลัง ในโครงการที่มีมูลค่าน้อยกว่า 450 ล้านบาท กับโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ว่าส่วนต่างราคากลาง กับราคาประมูลนั้น แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่ เพื่อจัดทำเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่อไป
ด้าน นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนได้ตั้งกระทู้ถามไปยัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมบัญชีกลาง ให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรลงราชกิจจานุเบกษาว่า จะมีการแก้ไขในกรณีนี้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการตอบกลับ
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกฯ จะเร่งตอบกลับมา เพราะการประมูลเกิดขึ้นทุกวี่ทุกวัน นายกฯ ต้องการหาเงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผมก็ช่วยหาให้แล้ว" นายวิโรจน์ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี