‘นิกร’เผยคณะกรรมการ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ชงศึกษาเพิ่ม หลังยื่นแก้ไข‘มาตรา 13’พ.ร.บ.ประชามติ ยันยึดไทม์ไลน์เดิม ต้นปีหน้าสรุปผลส่ง ครม. ชี้ไม่ลากยาว
26 พฤศจิกายน 2566 นายนิกร จํานง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 60 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการทำประชามติครั้งที่ 2-3 ต้องทำ แต่ยังมีความเห็นต่างกันในเรื่องการทำประชามติครั้งแรก ซึ่งต้องถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายว่าต้องทำหรือไม่ จึงต้องหาวิธีเดินหน้าต่อไปเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.ในส่วนทางกฎหมาย จะลองให้ฝ่ายสภาหาทางดูว่าจะสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาคำตอบและความชัดเจนในเรื่องนี้ได้หรือไม่
2.ในส่วนการเมือง ที่ประชุมมองว่าให้รอฟังความเห็นจากฝ่ายสภา โดยเฉพาะจาก สว. เพราะมีแบบสอบถามความเห็นไปแล้วว่าจะให้ทำประชามติกี่ครั้ง เพราะแม้ฝ่ายกฎหมายจะให้ทำ แต่ถ้าฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย ก็ไปต่อไม่ได้
นายนิกร กล่าวต่อว่า ในส่วนประเด็นเรื่องกฎหมายประชามติ ตนได้เสนอร่างแก่ที่ประชุมไปแล้วว่า ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เกี่ยวกับคะแนนการออกเสียงประชามติ ที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ซึ่งคะแนนการออกเสียงประชามติดังกล่าวมีจำนวนมากเกินไปและยากที่จะได้ข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ทำให้การออกเสียงประชามติไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติแต่ละเรื่องแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นจึงสมควรแก้ไขโดยกำหนดคะแนนการออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ เป็นต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ
นายนิกร กล่าวว่า แต่ที่ประชุมมีความเห็นว่า เนื่องจากกฎหมายนี้ยังไม่เคยมีการมีการใช้มาก่อน จึงควรแก้ให้มีมิติที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่านั้น ด้วยการดูว่าจะสามารถทำประชามติให้ง่ายขึ้นกว่าที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่ หรือสามารถถามเป็น 2 มิติแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้หรือไม่ หากทําแบบนี้ จะทำให้เรามีกฎหมายดีๆ เพิ่มมาอีก 2 ฉบับ คือกฎหมายประชามติและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประโยชน์มากกว่า ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปว่าให้คณะกรรมการอนุกฎหมายไปพิจารณาว่าจะต้องแก้หรือไม่ ต้องแก้อย่างไร แก้กี่มาตรา หรือแก้ในมิติใดบ้าง เพื่อเสนอไปยัง ครม.ต่อไป
นายนิกร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ กำลังรอฟังความเห็นจากแต่ละภูมิภาค ซึ่งขณะนี้เหลือภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ และภาคใต้ที่ จ.สงขลา และจะนำมาสรุปพร้อมกับแบบสอบถามที่ถามสมาชิกรัฐสภา ซึ่งจะได้ประมาณวันที่ 20 ธันวาคม จากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง เพื่อตัดสินใจและส่งเรื่องไปยัง ครม.ในช่วงต้นปีหน้า ทุกอย่างยังอยู่ตามแผนเดิม
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะลากยาวหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ไม่ลากยาว หากไม่แก้กฎหมายประชามติ ก็เดินหน้าไปตามกฎหมายที่มีอยู่ แต่ถ้าแก้ก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูป เสนอโดย ครม.เท่านั้น และใช้การพิจารณาจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา หากตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังทันตามแผนเดิมอยู่
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี