วันที่ 22 ธันวาคม 2566 หลังปรากฏเป็นข่าว บริษัทขนส่งแห่งอนาคต อย่าง Hyperloop One (ไฮเปอร์ลูป วัน) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 และรับเงินลงทุนมากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ประกาศปิดกิจการ ล่าสุดมีรายงานว่า เพจดังหลายแห่งได้พากันโพสต์เนื้อหา ในช่วงที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นำเรื่องไฮเปอร์ลูปมาใช้โปรโมทพรรคก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อ 2562
อาทิ เพจเฟซบุ๊ก “สติค่ะลูกกกก” โพสต์ข้อความระบุว่า “ล่าสุดบริษัทปิดกิจการแล้ว เตรียมขายสินทรัพย์ทั้งหมดและปลดพนักงาน อ้าวแล้วที่คุณธนาธรเคยอวยไว้ล่ะ”
เพจเฟซบุ๊ก “วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร” โพสต์ข้อความระบุว่า “#ทุกคนคะ หนูสงสัย ทำไม มาม๊าสมพร ถึงไม่ส่งมอบกิจการยานยนต์ ให้ พ่อฟ้า ศาสดาของด้อมส้มดูแลคะ กลัวเจ๊งแบบไฮเปอร์ลูปหรือเปล่าคะ”
เพจเฟซบุ๊ก “ปราชญ์ สามสี” โพสต์ข้อความระบุว่า “ความฝันของพ่อฟ้าเจ๊ง เรียบร้อยแล้วนะครับ” เป็นต้น
สำหรับ “ไฮเปอร์ลูป” นั้นเป็นระบบขนส่งแบบเดียวกับรถไฟ แต่มีความพิเศษเนื่องจากขบวนรถจะแล่นในท่อที่ออกแบบให้มีภาวะสุญญากาศหรือใกล้เคียงสุญญากาศมากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาแรงเสียดทานจากอากาศและพื้น โดยขบวนรถที่แล่นในท่อจะใช้ระบบแม่เหล็กแบบเดียวกับที่ใช้ในรถไฟความเร็วสูง “แม็กเลฟ (Maglev)” ซึ่ใช้สนามแม่เหล็กยกขบวนรถให้ลอยขึ้นเหนือรางเล็กน้อยพร้อมสร้างแรงขับเคลื่อนขบวนรถไปด้านหน้าแทนการแล่นด้วยล้อ นอกจากนั้นยังติดตั้งคอมเพรสเซอร์สร้างแรงดึงบริเวณหัวขบวน
ไอเดียของไฮเปอร์ลูป มาจากนักธุรกิจผู้ชอบสร้างปรากฏการณ์ฮือฮาในแวดวงเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัทจรวดขนส่งอย่าง สเปซเอ็กซ์ (Space X) และบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง เทสลา (Tesla) โดย มัสก์ ชูเรื่องนี้ขึ้นมาในปี 2556 โดยเชื่อว่าหากทำสำเร็จขบวนรถที่แล่นในระบบนี้จะทำความเร็วได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งยังตั้งบริษัทชื่อ “เดอะ บอริง คอมปานี (The Boring Company)” ขึ้นมาพัฒนาระบบไฮเปอร์ลูปของตนเอง ในปี 2559 คู่ขนานไปกับการเกิดขึ้นของบริษัท ไฮเปอร์ลูป วัน ที่เริ่มพัฒนาระบบดังกล่าว ในปี 2557
ทั้งนี้ ในวันที่ 31 มี.ค. 2562 นายธนาธร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ระบุว่า “มาตามสัญญา รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อการพัฒนาและก่อสร้างเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย ฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนส่วนตัวจากผมโดยผมขอมอบผลการศึกษาฉบับนี้ไว้เป็นสมบัติแห่งสาธารณะ และให้สาธารณชนมีสิทธิและเสรีภาพทุกประการในการศึกษา พัฒนา อ้างอิง ทำซ้ำ ดัดแปลง และวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ของสังคมไทยต่อไฮเปอร์ลูป หากมีข้อซักถามประการใดเกี่ยวกับผลการศึกษาดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถาม TransPod Inc. ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานการศึกษาดังกล่าวได้ที่ info@transpod.com ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านงานชิ้นนี้ครับ”
อนึ่ง ในเดือน พ.ย. 2565 ยังมีรายงานด้วยว่า อุโมงค์ไฮเปอร์ลูป รุ่นต้นแบบที่ อีลอน มัสก์ ลงทุนก่อสร้างไว้ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของ สเปซเอ็กซ์ ในเมืองฮอว์ธอร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ถูกรื้อถอนออกไป ขณะที่โครงการไฮเปอร์ลูปก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปต่อหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/inter/776779 ไปต่อไม่ไหว! Hyperloop One ประกาศปิดตัว เลิกจ้างพนักงาน
https://www.naewna.com/politic/405249 มาตามสัญญา!‘ธนาธร’ประกาศมอบรายงาน‘ไฮเปอร์ลูป’เป็นสมบัติสาธารณะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี