‘ธรรมนัส’เช็คบิล
แก๊งงาบค่าหัวคิว
โคบาลชายแดนใต้
สั่งฟันผู้กระทำผิด
“ธรรมนัส” สั่งเช็คบิล ปมงาบหัวคิวโครงการ “โคบาลชายแดนใต้”จี้ปศุสัตว์สอบข้อเท็จจริง พร้อมฟันผู้เกี่ยวข้องหากพบการทุจริต แจ้งผู้ประกอบการ พร้อมเปลี่ยนสัตว์ให้ใหม่ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 น.ส.อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณี“โครงการโคบาลชายแดนใต้” เรื่องการจัดหาแม่โคของกลุ่มเกษตรกรใน จ.ปัตตานี ไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะของโครงการ ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ เร่งหาข้อมูลในการช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
น.ส.อัยรินทร์ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานโครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 1.2 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่าปัญหาขณะนี้ คือกลุ่มเกษตรกร จ.ปัตตานี บางกลุ่มได้แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่ม มีลักษณะไม่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ แต่จังหวัดอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่พบปัญหา
ทั้งนี้ ข้อกำหนดในเอกสารเขียนชัดเจน ว่าให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เองตามคุณลักษณะเฉพาะที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยกำหนดสายพันธุ์ อายุ น้ำหนักตัว สุขภาพสัตว์ การได้รับวัคซีน และการตรวจโรคที่สำคัญ พร้อมเงื่อนไขการรับประกัน หากไม่ถูกต้องตามที่กำหนด ผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร เมื่อผู้ขายแจ้งกำหนดส่งมอบโค ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบโค ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ เมื่อเอกสารและคุณภาพตรงตามเงื่อนไข และเกษตรกรมีความพึงพอใจ ก็จะดำเนินการตรวจรับและจัดส่งเอกสารเพื่อทำการเบิกจ่ายเงินต่อไป
อย่างไรก็ดี หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ให้ผู้ประกอบการดำเนินให้ถูกต้อง ซึ่ง จ.ปัตตานี มีการส่งมอบโคครบทั้ง 16 กลุ่ม จากที่ได้รับรายงาน มีการแก้ไข 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่ง ขอเปลี่ยนแม่โค 20 ตัว และอีกกลุ่มหนึ่ง ขอยกเลิกสัญญา ส่วนกลุ่มอื่นๆ กำลังทำการขยายผลและตรวจสอบอย่างละเอียด
น.ส.อัยรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่กลุ่มเกษตรกร มีความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวสัตว์ตามเงื่อนไขข้อกำหนดของโครงการ กรมปศุสัตว์ ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการเปลี่ยนตัวสัตว์ให้ใหม่ใน จ.ปัตตานี เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นสั่งการให้ดูแลด้านสุขภาพ ให้ยาบำรุงและสนับสนุนพืชอาหารสัตว์แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และเร่งฟื้นฟูสุขภาพแม่โคเนื้อตามหลักวิชาการ ให้วิตามิน และอาหารเสริมแก่แม่โคพื้นเมืองเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์โดยเร็ว
นอกจากนั้นได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ ชี้แจงรายงานข้อเท็จจริงพร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อทำงานควบคู่กับทางคณะกรรมการตรวจสอบของ ศอ.บต.โดยบูรณาการทำงานร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมช่วยเหลือเกษตรกร หากตรวจพบการทุจริตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือข้าราชการ จะเอาผิดถึงที่สุด
ส่วนการส่งมอบโคแก่เกษตรกรในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกร จ.ปัตตานี 800 ตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 จ.นราธิวาส เมื่อเดือนธันวาคม 2566 รวม 800 ตัว และ จ.สตูล 400 ตัว เมื่อเดือนเมษายน 2566 สำหรับ จ.สงขลา และยะลา ยังไม่มีการจัดส่งวัว โดยเวลานี้มีการเบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 37,601,700 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.43 และมีวัวที่รับมอบเป็นผลผลิตทางโครงการให้ลูกแก่เกษตรกรหลายตัวแล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี