‘เทพไท เสนพงศ์’ ดาบสองคม‘หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง’ เครือข่ายสร้างสรรค์vsตอกย้ำระบบอุปถัมภ์
“ผมได้เคยอภิปรายแสดงความเห็นไว้ในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วว่า ผมไม่สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ เปิดหลักสูตรอบรม เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป มาอบรมร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อสร้างคอนเนคชั่นกัน ยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อเปิดโอกาสให้พ่อค้า นักธุรกิจมาพบกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เรื่องกระบวนการยุติธรรม ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
ผมไม่เห็นด้วยกับการที่หน่วยงาน เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ป.ป.ช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ฯลฯ เปิดหลักสูตรให้บุคคลภายนอกมาอบรมร่วมกับข้าราชการในสังกัด ซึ่งอาจทำให้กระบวนการยุติธรรม เบี่ยงเบน บิดเบี้ยว ขาดความยุติธรรมได้ ตอนนี้มีการเปิดหลักสูตรอบรมพิเศษกันเกร่อ เหมือนกับเป็นแฟชั่นไปแล้ว ทุกหน่วยงานจะมีการเปิดอบรมหลักสูตรพิเศษ เช่น วตท. วพน. มหานคร ผู้นำเมือง รวมไปถึงหลักสูตรกระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ”
ส่วนหนึ่งจากบทความ “หลักสูตรอบรม สร้างอภิสิทธิ์ชน?” ที่ เทพไท เสนพงศ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ไว้บนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 ซึ่งสืบเนื่องจากในเวลานั้นมีข่าวว่า วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ได้เปิด “หลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.บอ.)” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “มินิ วปอ.” และเมื่อดูรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเข้าเรียน ล้วนมีแต่คน “นามสกุลดัง” ทั้งทางการเมืองและธุรกิจ
ในบทความดังกล่าว เทพไท ยังอ้างถึงความเห็นของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เคยกล่าวไว้ในพิธีเปิดหลักสูตร วปอ. เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ว่า เป็นหลักสูตรอภิสิทธิ์ชน สร้างคอนเนคชั่นดังนั้นเมื่อนายกฯ เศรษฐาได้พูดแล้วก็ควรแก้ไข ไม่ใช่ส่งเสริมให้มีการเปิดหลักสูตรสร้างคอนเนคชั่นเพิ่มขึ้นมาอีก มิฉะนั้นจะถูกสังคมนินทาได้ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นคนปากว่าตาขยิบ
รายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 ม.ค. 2567 เทพไท ได้มาเน้นย้ำถึงประเด็น “หลักสูตรรวมชนชั้นนำ
ในแวดวงต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายอภิสิทธิ์ชน” นี้ อีกครั้ง ว่า ตนเป็นศิษย์เก่า วปอ. ยอมรับว่าเข้าไปเรียนยากมาก เพราะเป็นหลักสูตรที่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีงบประมาณให้ใช้เวลาเรียน 1 ปี ผู้สมัครเรียนต้องมีอายุมากพอสมควร อย่างตอนที่ตนเรียน ข้าราชการต้องอายุ 50-53 ปี ส่วนเอกชนอายุต้องอย่างน้อย 48 ปี ต่อมาเท่าที่ทราบคือมีการปรับอายุเป็น 55 ปี
ซึ่งตนก็มีคำถามเช่นกันว่า การปรับเกณฑ์ผู้สมัครเรียนหลักสูตร วปอ. ให้ต้องมีอายุขั้นต่ำ 55 ปี มีประโยชน์อะไรเพราะเป็นช่วงที่บุคคลใกล้เกษียณจากวัยทำงานแล้ว เรียน 1 ปี
จบอายุ 56 ทำงานอีก 4 ปีก็เกษียณ หากถามตนก็มองว่าเกณฑ์อายุที่เหมาะสมคือ 50 ปี ส่วนหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ตนเห็นว่า จริงๆ วปอ. มีคนจำนวนมากอยากเรียน ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันกับหลักสูตรของสถาบันอื่นๆ ซึ่งไม่ต่างจากสถาบันการศึกษาที่จัดหลักสูตรปริญญาสำหรับผู้บริหาร
“ปกติ วปอ. เป็นสถาบันที่ยาวนานนะ เพราะว่า 60 กว่าปีแล้ว ก็นาน แต่ก็ไปบ้าจี้ตามเขา ก็คือเปิดหลักสูตรแย่งแข่งกับเขา คือหลักสูตรก่อนหน้านี้เป็นหลักสูตรผู้อาวุโส เรียกว่า วปอ.มส. คือมั่นคงสูง เอานักเรียน วปอ. ที่จบจาก วปอ. แล้ว คัดแต่ละรุ่น 4-5 คน แล้วเอาคนที่พลาดโอกาสที่ไม่ได้เรียนตอนอายุ 55 หรืออายุ 50 มาเรียนด้วย ก็เป็น ผู้อาวุโส รุ่นนี้ท่านจุรินทร์ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ - อดีตหัวหน้า ปชป.) ก็เคยเรียน นายก เชาวน์วัศ (เชาวน์วัศ เสนพงศ์ - อดีตนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช) พี่ชายผมก็เรียน” เทพไท กล่าว
เทพไท กล่าวต่อไปว่า ในเวลาต่อมามีการนำรุ่นเด็กเข้ามาเรียน จึงเกิดหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือมินิ วปอ. ขึ้น ทั้งนี้ หากย้อนมองสมัยที่ตนเรียน ใครจะเข้าเรียน วปอ. เบื้องต้นหน่วยงานต้นสังกัดต้องเป็นผู้คัดเลือกตัวแทนขององค์กรส่งมาเรียน แต่เท่าที่ตนเห็นรายชื่อคนสมัครเรียนมินิ วปอ. เต็มไปด้วยลูกท่านหลานเธอมีคอนเนคชั่น (Connection - เครือข่าย) เป็นนักการเมืองบ้าง ลูกนักธุรกิจใหญ่บ้าง ทายาทตระกูลดังๆ บ้าง มาอยู่รวมกันและสร้างคอนเนคชั่นกัน
ซึ่งต้องไม่ลืมว่า “สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์” เล่นพรรคเล่นพวก จับกลุ่มกัน รู้จักกันแล้วปฏิเสธไม่ได้ โดยรวมคือมองในแง่ลบได้มากกว่าแง่บวก โดยการคัดคนมาเรียนต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่านี้ ไม่ใช่ไปจิ้มเอาจากรายชื่อ เป็นลูกคนนั้นคนนี้ที่อายุเข้าเกณฑ์มาเรียน แบบนี้ไม่ได้ประโยชน์และตนไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น สมัยที่ยังอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรก็เคยอภิปรายมาแล้วว่าองค์กรต่างๆ แข่งกันจัดหลักสูตร
พิเศษ
อย่างองค์กรศาลยุติธรรม ตนก็เคยตำหนิเรื่องจัดหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) หรือองค์กรอิสระ เช่น ศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อัยการ ตำรวจ ก็จัดหลักสูตรเช่นกัน หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ยังเปิดหลักสูตรทำนองนี้
ดังนั้นในเมื่อ นายกฯ เศรษฐา คุยเปรยๆ ว่าหลักสูตรเหล่านี้สร้างเครือข่ายอภิสิทธิ์ชน ตนก็ขอเรียกร้องให้นายกฯเศรษฐา เข้าไปจัดการ แต่กลับกลายเป็นว่านอกจากจะไม่ยกเลิกแล้วยังมาเปิดเพิ่มอีก แบบนี้เรียกปากว่าตาขยิบ บอกไม่เหมาะสมแต่สุดท้ายก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ อย่างหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของ กกต. จะมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นเข้าเรียนประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะมาจากบุคคลภายนอก
“อย่าง พตส. พรรคการเมือง เอาเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงของกรรมการเลือกตั้งแล้วมาเรียนกับนักการเมือง มาเรียนกับ สส. กับ สว. (สมาชิกวุฒิสภา) เข้าไปรู้จักกันไหม?
ก็รู้จัก แล้วพอเลือกตั้งพวกนี้ทำงานสอบสวนไหม? ก็สอบสวนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งไหม? รู้จักกัน เพื่อนกันแค่วางเฉยไม่ลงโทษก็ผิดแล้ว แล้วสังคมไทยก็รู้อยู่แล้วช่วยไม่ได้ก็อยู่วางเฉย แค่อยู่เฉยๆ ก็รัฐเสียหายแล้ว”เทพไท ยกตัวอย่าง
เทพไท ยังกล่าวอีกว่า แล้วยิ่งหลักสูตรของศาลสถิตยุติธรรม ศาลก็ต้องมาเรียนครึ่งหนึ่ง แล้วไปเจอนักธุรกิจมีเงิน ข้าราชการก็ใจแตกหมด ซึ่งในอดีตศาลจะวางตัวไม่คบค้าสมาคมกับใคร ให้ไปร่วมงานใครก็ยังไม่ไป ดังนั้นแค่ตัดตัวแทนศาล 5-6 คนไปเรียนหลักสูตรแบบนี้ก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่นี่เปิดโครงการให้ศาลต้องเรียนครึ่งหนึ่ง หรือหลักสูตรตำรวจ เปิดให้ระดับผู้บัญชาการ ระดับนายพลมาเรียน แล้วก็เจอนักธุรกิจสีเทามาเรียนด้วย แบบนี้จบหรือไม่
นอกจากนั้น แต่ละหลักสูตรต้องใช้งบประมาณ เช่น วปอ. ที่ตนเคยเรียน มีผู้เข้าเรียนเฉลี่ย 200 คนต่อรุ่นงบประมาณเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อหัว ดังนั้นหลักสูตร 1 ปี จะตั้งงบประมาณรวม 400 ล้านบาท แต่อาจใช้ไม่หมดก็ได้ โดยจะทยอยจ่าย หากเหลือก็ส่งคืน ซึ่งหลักสูตร วปอ. จะใช้งบฯ ที่อนุมัติโดย ครม. หมายถึงหากใครได้รับอนุมัติให้เข้าเรียนก็คือเรียนฟรี และตนคิดว่า หลักสูตรมินิ วปอ. ก็น่าจะคล้ายกัน
แต่ปัญหาคือ “หลักสูตรเหล่านี้นำไปสู่การสร้างเครือข่าย หากใช้เพื่อก่อการดีก็ดีไป แต่หากก่อการไม่ดีก็เสียหาย” ดังนั้นตนเสนอแนะว่า องค์กรที่มีหน้าที่ทำหลักสูตรอบรมอยู่แล้วก็ทำต่อไป เช่น วปอ. อบรมเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นหลักสูตรเก่าแก่เปิดมาแล้ว 50-60 ปี หรือสถาบันพระปกเกล้า รับผิดชอบหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง แต่องค์กรอื่นๆ นอกจากนั้นไม่ควรไปเปิดหลักสูตรขึ้นมาอีก โดยเฉพาะศาลและองค์กรอิสระ ที่เอาจริงๆ ไม่ควรคบค้าสมาคมกับใครเสียด้วยซ้ำไป
“ตอนนี้มันมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มาทำคือหลักสูตรมหานคร ของ กทม. ให้พวกท้องถิ่นมาเรียน แต่จริงๆ ไปซ้ำซ้อน พระปกเกล้าก็มีจัดท้องถิ่นเยอะแยะ แต่อันนี้ก็มี มหานคร ผู้นำเมือง คือแค่ 2 หรือผมให้ 3 อย่าง ถ้าเกี่ยวกับความมั่นคง วปอ. รับเป็นเจ้าภาพ เกี่ยวกับการเมืองการปกครองก็สถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับธุรกิจก็ วตท. (สถาบันวิทยาการตลาดทุน) รับไป ตลาดทุนรับไป หรือหอการค้ารับไป จบ! พอแล้ว” อดีต สส.นครศรีธรรมราช กล่าว
ในช่วงท้ายของรายการ เทพไท ยังเล่าถึงการเรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ว่า เป็นการชวนกันไปเรียนของคนในแวดวงเดียวกัน บางคนตระเวนเรียนจนได้ครบทุกหลักสูตรก็มี รู้จักกันไปหมด “อย่าลืมว่าแต่ละคนที่มาเรียนมีฐานะดีทั้งนั้น” ซึ่งตนไม่ได้ห้ามไม่ให้มีหลักสูตรแบบนี้อย่างเด็ดขาดแต่อยากให้ทำให้ถูกต้องเป็นหมวดหมู่ โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่สมควรจัด และขอฝากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณางบประมาณด้วยว่า ควรตัดงบ
หลักสูตรเหล่านี้ออก
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00 น. !!!
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง” ถูกมองว่าเป็นช่องทางสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ : ย้อนไปในปี 2556 มีการเผยแพร่รายงานวิจัยในโครงการ “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” ซึ่งรวบรวมบทความผลการศึกษาในหลายประเด็นจากนักวิชาการหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ
“เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษ” อยู่ในบทที่ 7 เขียนโดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ (อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ ภาคภูมิ วาณิชกะ (นักวิชาการอิสระ)
ในบทความดังกล่าวยกตัวอย่าง 6 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) 2.หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของสํานักงานศาลยุติธรรม 3.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสําหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้า 4.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 5.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย และ 6.หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ในจำนวนนี้ 4 หลักสูตรดําเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ และอีก 2 หลักสูตรดําเนินการโดยภาคเอกชน ซึ่งทั้ง 6 หลักสูตร ได้รับความนิยมจากผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชน ต่างพยายามเข้าอบรมในหลายหลักสูตร โดยผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า “เนื้อหาของหลักสูตรไม่ใช่แรงจูงใจหลัก แต่เป็นเรื่องของการได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบุคคลสําคัญในวงราชการ ทหาร นักการเมืองและนักธุรกิจระดับนําของสังคม” ซึ่งทําให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะเพื่อนหรือคนคุ้นเคย และอาจจะทําให้เกิดเครือข่ายอํานาจระดับนําแบบไม่เป็นทางการได้
ชีวิตหลังออกจากเรือนจำ : เป็นที่ทราบกันดีว่า เทพไท เสนพงศ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี คดีทุจริตการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช ปี 2557 ก่อนได้รับการพักโทษเมื่อถูกคุมขังไปแล้วเป็นเวลา 16 เดือน
โดยถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566
ในรายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 ม.ค. 2567 เทพไท ได้กล่าวถึงชีวิตของตนเองหลังออกจากเรือนจำ ว่า มีทั้งการแต่งเพลง ซึ่งสำหรับบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในเรือนจำเสร็จครบ 16 บทเพลงพร้อมบันทึกเสียง เบื้องต้นเผยแพร่แล้ว 8 เพลง และจะทยอยเผยแพร่อีก 8 เพลงที่เหลือต่อไป จากนั้นตนก็จะหันไปแต่งเพลงเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ สัพเพเหระ เช่น ความรัก ท่องเที่ยว ฯลฯ วางเป้าหมายว่าจะแต่งให้ได้ 20 เพลง และทยอยเผยแพร่ให้ฟังกันตลอดทั้งปี
นอกจากนั้นยังเดินสายออกรายการต่างๆ ตามแต่จะได้รับเชิญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการสนทนาประเด็นทางการเมือง แต่ก็มีงานจัดรายการวิทยุท้องถิ่นทางภาคใต้ คลื่น FM 102.5 MHz “คลื่นมหาชนคนเมืองคอน” ชื่อรายการ “คุยข่าว เล่าเพลง” สามารถฟังได้ทางคลื่นวิทยุดังกล่าวในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช อนึ่ง เทพไท เสนพงศ์มีช่องยูทูบของตนเอง คือ “Theptai Seanapong Official” สำหรับเผยแพร่บทเพลง
ย้อนฟังวาทะ “เศรษฐา ทวีสิน” วิพากษ์หลักสูตร วปอ. : ในวันที่ 14 ก.ย. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) รุ่นที่ 65 วิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 64 วิทยาลัยการทหารบกรุ่นที่ 68 วิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 55 วิทยาลัยการทัพอากาศรุ่นที่ 57 และหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 4 ภายใต้หัวข้อ สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ณ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
โดยในช่วงหนึ่ง นายกฯ เศรษฐา ได้กล่าวว่า ตนไม่มีโอกาสเข้ามาศึกษาในสถาบันนี้ แต่อยากฝากข้อคิดว่า เรื่องวิชาความรู้ไม่เป็นที่สงสัยเพราะที่นี่เป็นสถาบันที่ให้ความรู้สูง ครบทุกศาสตร์ทุกวิชา สถาบันวปอ.ยังพาทุกท่านมารู้จักซึ่งกันและกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดเป็นสมาคมสร้างสังคมและสานสัมพันธ์อันดีของทุกๆ ท่าน ความแข็งแกร่งของเหล่าศิษย์เก่าเป็นที่ประจักในสังคมไทย
“เส้นสายสัมพันธ์ คอนเนคชั่นของพวกท่านในประเทศ ทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษ หรือเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนก็ได้ เป็นท็อป 1% หรือน้อยกว่านั้นของประเทศนี้ เป็นสถาบันที่คนส่วนมากอยากได้รับเลือกเข้ามาศึกษา คอนเนคชั่นที่ได้รับจากสถาบันนี้ จะสามารถได้ประโยชน์ต่ออาชีพการงาน ของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคสังคมได้อย่างมหาศาล” นายกฯ เศรษฐา กล่าว
นายกฯ เศรษฐา กล่าวต่อไปว่า ตนขอฝาก ขอวิงวอน ขออ้อนวอนจากใจจริง ขอให้ทุกคนใช้ความรู้ความสามารถ และสายสัมพันธ์จากที่นี้ให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐไม่ใช่ใช้แต่สิทธิ์ แต่ให้คำนึงถึงหน้าที่ด้วย ให้ดูถึงความเหมาะสม เพราะทุกสายตาในประเทศจับจ้องท่านอยู่ เพราะคุณคือคนพิเศษ เป็นบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำของประเทศนี้ในทุกๆ ด้าน
การกระทำของท่านเป็นที่จับตาของทุกชนชั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งของเยาวชน คอนเนคชั่นเหล่านี้ ไม่ใช่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเองอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงองค์กรที่ทำงานอยู่ แต่อยากให้เผื่อแผ่ครอบคลุมคนอื่น และสังคมของท่านด้วย ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่เล็กหรือใหญ่ก็ตามที ถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะช่วยคนตัวเล็ก ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือสังคมให้พวกเขายืนบนสังคมได้
“ในสภาวะที่ลำบากในปัจจุบัน ความสามารถพวกท่านหากนำมาช่วยเหลือประเทศ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ที่เพื่อนร่วมชาติของพวกเราเผชิญอยู่ แล้วพวกท่านจะได้ชื่อว่าเป็นสถาบันที่ร่วมกันส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลานทุกคน ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักที่เรามาร่วมอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติแห่งนี้” นายกฯ เศรษฐา กล่าวย้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี