เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ซึ่งมี นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เป็นพิธีกร ในประเด็น “ขบวนการตบทรัพย์” กรณีการจับกุม นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้ต้องหาคดีข่มขู่เรียกรับเงินจาก นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว แลกกับการไม่ร้องเรียน ว่า ตนไม่อยากให้ใช้คำว่า “ล่อซื้อ” ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน
โดยบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกตบทรัพย์ เมื่อเขาได้รับความเสียหายอันดับแรกคือการไปพึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างตำรวจก็จะมีกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษ บก.ปปป. ก็จะทำการสรุปสำนวนก่อนส่งต่อให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามขอบเขตที่กฎหมายตั้งไว้ว่าพัวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับใดต้องส่งต่อไปที่หน่วยงานใด
ขณะที่พยานหลักฐานที่ตำรวจจะต้องรวบรวมสำหรับใช้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาร แบ่งออกเป็น 1.ประจักษ์พยาน หมายถึงบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์แล้วไปให้ข้อมูลกับตำรวจ กับ 2.พยานเอกสาร เช่น หลักฐานการโอนเงิน ภาพบันทึกบทสนทนาผ่านช่องทางออนไลน์ บันทึกเสียงการสนทนา คลิปวีดีโอ ฯลฯ และแม้ผู้ต้องหาจะอ้างว่าเป็นหลักฐานที่ถูกทำขึ้น อาทิ อ้างว่าเป็นคลิปตัดต่อ แต่ก็มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่าตัดต่อจริงหรือไม่
“ผมพูดให้ฟังว่าพี่ศรี (ศรีสุวรรณ จรรยา) รอดยากมาก ก็หลักฐานมันครบ เพราะหลักฐานจะครบสมบูรณ์ที่สุดก็คือการรับเงิน มีคนบอกว่าผมไม่รู้ เขาก็อ้างว่าใครเอาเงินมาแขวนไว้ ถ้าคุณบอกว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการทุจริต คุณก็ไม่ต้องไปหยิบของนั้นสิ คุณก็โทรบอกตำรวจว่าไม่รู้ใครเอาของมาแขวนไว้เอาไปที แล้วคุณมาเอาไปทำไม? ก็มาเอาตามที่คุณพูดกันใช่ไหมว่าเดี๋ยวจะเอาของไปให้” พล.ต.ต.วิชัย กล่าว
พล.ต.ต.วิชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนคำถามที่ว่าในบ้านอยู่กันหลายคน อาจมีคนสั่งของอื่นๆ แล้วคนส่งของเอามาแขวนไว้ก็ได้ เรื่องนี้จริงๆ แล้วภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ ย่อมรู้กันอยู่แล้วว่ามีหน้าตาอย่างไร เช่น สั่งผัดกะเพราก็อย่างหนึ่ง สั่งกาแฟก็อย่างหนึ่ง แต่นี่ไม่ใช่เพราะนายศรีสุวรรณรู้อยู่แล้ว และที่รู้ก็เพราะมีการนัดแนะกัน แต่ที่ปฏิเสธก็เพื่อให้พ้นผิด หรือหากบอกว่าไม่รู้เป็นถุงใส่อะไรและใครเอามาแขวนก็ต้องแจ้งตำรวจเพราะอาจมีใครมาลอบวางระเบิดที่บ้าน
หรือแม้แต่แกะถุงออกแล้วเจอเงิน หากไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็ต้องแจ้งตำรวจให้มารับเงินนั้นไป ไม่ใช่หยิบไปแจกจ่ายกันแล้วพอเห็นตำรวจมาก็โยนเงินทิ้ง แบบนี้เป็นพฤติกรรมที่ส่อทุจริตและเป็นหลักฐานสำคัญ หรือเรียกว่ามีเจตนา ส่วนหากจะมีการอ้างอีกว่าเพิ่งเห็นแล้วเก็บมายังไม่ได้ทันแจ้งตำรวจก็มากันแล้ว ศาลจะเชื่อตามที่อ้างหรือไม่ก็จะต้องไปดูพยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก หากศาลไม่เชื่อก็แสดงว่ามีข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่ามีการนัดแนะกันมาก่อนแล้ว มีการเชื่อมโยงลำดับเวลา พยานหลักฐานมันเจือสมกันกันหมด เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อไปจนถึงขั้นสามารถดำเนินคดีได้
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=qukXLXQ7YIc
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี