“ผมก็เป็น สส. ราชบุรี เขต 4 ถ้าบอกเขต 4 พี่น้องประชาชนอาจจะนึกไม่ออก แต่ถ้าบอกอำเภอบ้านโป่ง ประชาชนอาจจะคุ้นแล้วก็รู้จักเป็นอย่างดี เพราะบ้านโป่งถือเป็นอำเภอชั้นนำของประเทศเลยในเรื่องของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่อรถและอุตสาหกรรมน้ำตาล แล้วก็เป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองพาณิชย์ เป็นเมืองท่องเที่ยวก็ได้”
อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ แนะนำตนเองและพื้นที่รับผิดชอบในฐานะ สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผ่านรายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 โดย จิตกร บุษบา รับหน้าที่พิธีกรแทน บุญยอด สุขถิ่นไทย ซึ่ง อัครเดช กล่าวว่า ปัจจุบันตนเป็น สส. สมัยที่ 2 แล้ว พร้อมกับรับหน้าที่โฆษกของพรรครวมไทยสร้างชาติ และยังเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
โดยหากจะพูดถึง อ.บ้านโป่ง ข้อดีคือไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ขับรถไม่นานก็ถึงอย่างตนไปลงพื้นที่ได้แถมยังมีเวลากลับมาอภิปรายในสภาได้อีก ปัจจุบันเส้นทางสำคัญคือทางด่วนศรีรัช ขณะที่ถนนมอเตอร์เวย์ที่กำลังก่อสร้างไปให้ถึง จ.กาญจนบุรี จะผ่าน จ.ราชบุรี ในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง บริเวณ ต.กรับใหญ่ บ้านเกิดของตน โดยมอเตอร์เวย์เส้นนี้จะตัดผ่านรอยต่อระหว่าง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กับ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
ซึ่งในเบื้องต้น ในการเป็น สส. สมัยที่แล้วในปี 2564 ตนได้เสนอแนะไปทางกระทรวงคมนาคม ขอให้ทำทางเข้าจากฝั่ง อ.บ้านโป่ง ด้วย นอกจากทางเข้าฝั่ง อ.ท่ามะกา ซึ่งรัฐมนตรีคมนาคมในขณะนั้นก็บอกว่าเห็นด้วยและจะสั่งการให้กรมทางหลวงไปทำการศึกษา และเมื่อกลับมาเป็น สส. สมัยที่ 2 อีกทั้งได้เป็น ปธ.กมธ.การอุตสาหกรรมฯ ได้รับข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการในพื้นที่ ขอให้ไปติดตามความคืบหน้า ตนจึงได้เชิญอธิบดีกรมทางหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีมาชี้แจง และทั้ง 2 ท่าน ก็ได้มอบหมายให้รองฯ มาชี้แจงแทน
“ปี 2567 ขออนุมัติงบประมาณแล้ว ถ้าสภาผ่านก็จะทำการศึกษา ออกแบบ แต่ตอนนี้ท่านขีดเส้นไว้แล้ว ทำการศึกษาเบื้องต้นแล้วว่าจะทำแน่ 6 กิโลเมตร เจาะจาก ต.หนองอ้อ (อ.บ้านโป่ง) ซึ่งเป็นเขตติดต่อ ตรงนั้นเรียกว่าสระกะเทียม เป็นเขตรอยต่อระหว่างบ้านโป่งกับนครปฐม เจาะยิงไป 6 กิโลไปเจาะทางมอเตอร์เวย์ขึ้น” สส. ราชบุรี เขต 4 กล่าว
ชื่อของ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ถูกระบุในพาดหัวข่าวจากสื่อมวลชนว่าเป็น “ผู้ดับฝันพิธา” กลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองเข้ามาอยู่ในกระแสความสนใจจากคอการเมืองในไทยซึ่งเรื่องนี้เจ้าตัวมองว่า อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เพราะเป็นผู้ที่ลุกขึ้นคัดค้านการเสนอญัตติ เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) และเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกลในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซ้ำเป็นรอบที่ 2 หลังจากเคยเสนอไปแล้วหนก่อนแต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม
อัครเดช เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ตนเห็นญัตติดังกล่าวไม่สามารถเสนอได้ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ระบุว่า “ห้ามยื่นญัตติซ้อนในสมัยประชุมเดียวกัน” และข้อบังคับนี้ก็มีสถานะเป็นกฎหมาย นอกจากนั้น ด้วยความที่อยู่ในการประชุมร่วมของรัฐสภาที่มีการเสนอชื่อ พิธา เป็นนายกฯ ในรอบแรก ตนเชื่อว่า “หากพรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิธาก็คงได้เป็นนายกฯ ไปแล้ว” และโดยจุดยืนส่วนตัว ตนก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 เพราะจะเป็นประตูไปสู่การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
“วันนั้นผมจำได้ ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมทุกท่านก็คงจะทราบบรรยากาศในห้องประชุม พรรคภูมิใจไทย ท่านชาดา ไทยเศรษฐ์ ลุกขึ้นมาแล้วก็ยื่นข้อเสนอเลย ยื่นหมูยื่นแมวให้กับพรรคก้าวไกลในห้องประชุมสภา ถ้าคุณถอย 112 พรรคภูมิใจไทยพร้อมยก 70 เสียงให้เลยเพราะตอนนั้นเขาขาดอีก 60 กว่าเสียง ได้เลยนะ! แล้วคนบอกหลอกหรือเปล่า? อ้าว! นี่มันสภาผู้แทนนะไม่ใช่สภาปาหี่
ถ้าคุณพิธาลุกขึ้นรับ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่พรรคภูมิใจไทยจะไม่ให้ เพราะท่านชาดาไทยเศรษฐ์ ถือว่าเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้บริหารสำคัญ ตอนนี้ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยด้วย การที่ระดับแกนนำขึ้นมาพูดมันคือตัวแทนพรรคแล้ว เหมือนผมขึ้นพูดวันนั้นก็เหมือนผมเป็นตัวแทนหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค สมาชิก พรรค สส.ของพรรค ในการเข้าไปแสดงออกในสภา ไม่ใช่ว่า สส. ของพรรคทุกคนจะสามารถลุกขึ้นได้ ไม่ใช่! มันต้องเป็นฉันทามติ เป็นการมอบหมายให้ผมเป็นตัวแทนพรรคไปพูด” อัครเดช กล่าว
อัครเดช เล่าต่อไปว่า แม้กระทั่ง ชาดา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งเป็นแกนนำพรรคภูมิใจไทย และต้องได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรครวมถึงเลขาธิการพรรคมาแล้วจึงเสนอเงื่อนไขเช่นนั้นกับพรรคก้าวไกลได้ แต่พรรคก้าวไกลกลับยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายแก้ไข ม.112 ต่อไป เท่ากับเป็นการท้าทายและทำให้สมาชิกในห้องประชุมรับไม่ได้ ทำให้ พิธา ไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกฯ
และจะว่าไปแล้ว “พรรคก้าวไกลยังมีโอกาสแก้ตัวอีกครั้งด้วยซ้ำ” เพราะหลังจาก พิธา ไม่ผ่านการโหวตในการเสนอญัตติครั้งแรก ก็เริ่มมีกระแสสังคมเรียกร้องให้พรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องแก้ ม.112 หากพรรคก้าวไกลยอมถอย ก็จะเข้าข่าย “สถานการณ์ใหม่” ให้สามารถเสนอญัตติ เสนอชื่อ พิธา เข้าไปให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาโหวตอีกครั้งได้ ตามเงื่อนไขข้อบังคับการประชุมที่อนุญาตให้ทำได้หากญัตตินั้นมีเนื้อหาไม่เหมือนเดิม
กล่าวคือ หากในกรณีที่ญัตติใหม่มีการระบุเพิ่มเติมว่า พรรคก้าวไกลจะยอมถอยเรื่องการแก้ไข ม.112 ก็ถือเป็นญัตติใหม่ละสามารถเสนอเข้ามาได้ แต่สุดท้ายพรรคก้าวไกลก็เลือกที่จะไม่ถอยซึ่งก็เท่ากับยังเป็นญัตติเดิมที่มีมติไปแล้วในการโหวตครั้งก่อนหน้า และตนก็ได้ลุกขึ้นคัดค้านว่า
ไม่สามารถเสนอญัตติซ้ำเข้ามาได้อีก ซึ่งล่าสุดสิ่งที่ตนทำก็ปรากฏข้อพิสูจน์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่ระบุว่า
นโยบายแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ทำให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเปลี่ยนไปในทางเซาะกร่อนบ่อนทำลาย
“ท่านไม่ได้พิจารณาจากการยื่นญัตติในสภาเพื่อใช้อำนาจของกลไกนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ศาลดูพฤติกรรมนอกสภา ท่านสืบเสาะพฤติกรรมไล่มาเลย ท่านละเอียดมากยกเหตุผลอะไรมา อยากให้พี่น้องประชาชนวางใจให้เป็นกลางแล้วอ่านคำพิพากษาของศาล แล้วอีกสิ่งหนึ่ง วันที่คุณพิธา ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องแล้วก็คืนสถานะการเป็น สส. ให้คุณพิธา ก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินในเรื่องของ 112 ของพรรคก้าวไกล ศาลคืนเรื่องของการถือหุ้น ITV” อัครเดช เปรียบเทียบคำวินิจฉัย 2 เรื่อง ของศาลรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง ยังมีคำถามที่ต่อเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนโยบายแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกล ว่า “อำนาจตุลาการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติหรือไม่?” ประเด็นนี้ อัครเดช ให้ความเห็นว่า “เป็นการรักษาสมดุลอำนาจ” โดยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มี 3 เสาหลักแห่งอำนาจ คือ นิติบัญญัติ (สมาชิกรัฐสภา) บริหาร (คณะรัฐมนตรี) และตุลาการ (ศาลและองค์กรอิสระ) ตนจึงไม่ได้มองว่าคำตัดสินดังกล่าวเป็นการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลให้ประเทศเกิดความเป็นนิติรัฐ
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีคณะรัฐมนตรีพยายามจะออกกฎหมายบางฉบับแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำไม่ได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญเหมือนกับการแตะเบรก ไม่ใช่ว่าเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐมนตรี มีอำนาจบริหารประเทศแล้วจะทำอะไรก็ถูกไปเสียทั้งหมด และประเทศจะอยู่ได้ก็ด้วยสมดุลแบบนี้ อย่างในรัฐสภา เสียงข้างมากโหวตอย่างไรก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่โหวตแพ้แล้วจะไปตีรวนชวนกันไปลงถนน เช่นเดียวกับศาลตัดสินอย่างไรก็ต้องเคารพ
นอกจากนั้น หลักประชาธิปไตยแม้จะยึดเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องไม่ละเลยหลักการและเหตุผลที่เสียงข้างน้อยท้วงติง ไม่ใช่ว่ามีเสียงข้างมากแล้วโหวตชนะเสมอแล้วจะทำอะไรก็ได้ และเมื่อหลุดจากหลักการและไม่สนใจคำท้วงติงก็ต้องนำไปให้ศาลพิจารณาว่าสิ่งที่เสียงข้างมากลากไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ทำให้ประเทศเสียหายหรือมีผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ นี่คือกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของ 3 อำนาจและทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างไม่เสียหาย
จากเรื่องของพรรคก้าวไกล คำถามต่อมาคือ “อะไรเป็นสาเหตุให้พรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย? ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนอยู่คนละฝ่ายกันอย่างชัดเจน” ประเด็นนี้ อัครเดช กล่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 เสียง แน่นอนว่าไม่ใช่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นพรรคก็ต้องมีจุดยืนในการจะเข้าร่วมรัฐบาลคืออะไรคือสิ่งที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้
โดยที่ผ่านมา การเมืองไทยมีความแตกต่างของ 2 ขั้ว คือสีเหลืองกับสีแดง เป็นความขัดแย้งที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2548 หรือก่อนรัฐประหาร 2549 มาจนถึงรัฐประหารปี 2557 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า หนึ่งในสองขั้วนี้คือพรรคเพื่อไทย แต่ในช่วงก่อนจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เวลานั้นจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่างพรรคการเมืองที่ชูนโยบายแก้ ม.112 กับพรรคที่จะไม่แก้ ซึ่งในเมื่อพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคได้ สส. ในสภาเป็นอันดับ 2 ประกาศจะไม่แก้ ม.112 พรรคอื่นๆ ที่มีจุดยืนแบบเดียวกันจึงได้มารวมตัวกันตั้งรัฐบาล
โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยว่า “เป็นการสลายสีเสื้อ” สร้างความสมานฉันท์ปรองดองของคนในชาติ จากสถานการณ์ที่เคยตึงเครียดก็ผ่อนคลายลง อย่างในพื้นที่ของตนที่ อ.บ้านโป่ง ประชาชนก็รู้สึกดี เพราะในที่สุดก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เสียทีหลังจากเลือกตั้งมาแล้วหลายเดือน และเราให้เหตุผลในการร่วมรัฐบาลว่าเพื่อปรองดองและเดินหน้าประเทศ ซึ่งเราไม่เคยลองแนวทางนี้ ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันมาตลอด
จากประเด็นทางการเมือง อัครเดช เล่าถึงบทบาทใน กมธ.การอุตสาหกรรม ซึ่งมีเป้าหมายต้องการส่งเสริม “อุตสาหกรรมสีขาว” ว่าเนื่องจากประเทศไทยมีปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรมอยู่มาก โดยเฉพาะการทิ้งกากของเสียหรือสารเคมีที่เป็นพิษออกไปสู่ชุมชนภายนอก เรื่องทำนองนี้พบได้แทบทั่วทั้งประเทศ ตนก็ใช้พื้นที่สภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายอยู่หลายครั้ง เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน
“โรงงานอุตสาหกรรมตอนนี้เริ่มมีการปล่อยสารพิษ แล้วก็มีโรงงานรับกำจัดกากเคมีอุตสาหกรรม ไปทิ้งเรี่ยราดเลย เยอะมาก อย่างที่ราชบุรีมีโรงงานหนึ่ง ก็ไปขุดฝังอยู่ใต้ดินเป็นแสนๆ ตัน แล้วชาวบ้านอยู่รอบๆ นั้นเป็นมะเร็งตาย เป็นโรคภัยไข้เจ็บเยอะแยะเลยผมเองในฐานะประธานกรรมาธิการท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา (พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) ก็ลงพื้นที่ ไม่ต้องไปนั่งเช็คเลยว่าน้ำผิวดินใช้ได้-ไม่ได้ เพราะไปดูชั้นผิวดินฟิล์มมันออกมาเลย
พอไปดูน้ำผิวดินมันเป็นฟิล์ม เหมือนเคยเห็นน้ำมันลอย มันเป็นฟิล์มเคมี มันเป็นโซลเวนท์(Solvent-ตัวทำละลาย) คืออย่างนี้มันเยอะ แล้วตอนนี้มันแพร่ระบาดไปเยอะ อย่างล่าสุดทางกรรมาธิการก็ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อยุธยา ก็ปิดไปโรงหนึ่งอย่างนี้มันเยอะมาก ระยอง ปราจีนบุรี นครปฐม ตอนนี้มันเยอะมากไปหมดเลยแล้วมันเป็นภัยใกล้ตัวมาก” อัครเดช ระบุ
อัครเดช กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า หากปัญหานี้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมาทุกคน ซึ่งตนใช้คำว่าทุกคนแต่ไม่ได้ปรักปรำว่าเป็นอย่างนี้หมด มีบางคนที่ปล่อยปละละเลย ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบแน่ แต่เมื่อเกิดการปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างแรกคือตัวบุคคล อีกอย่างคือกฎหมายที่ยังเบา ทำให้เกิดปัญหากับประชาชน ตนจึงพยายามผลักดันนโยบายโรงงานสีขาว ลดมลพิษด้วยการทำให้โรงงานอุตสาหกรรมไม่สร้างผลกระทบกับชุมชน
ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรม ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยมีการยกร่างกฎหมาย ขณะที่ตนก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมายกร่างกฎหมายคู่ขนานไปกับของกระทรวงอุตสาหกรรม คือการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มบทลงโทษผู้ปล่อยมลพิษ เนื่องจากปัจจุบันมีแต่โทษปรับ อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัว อย่างไม่นานนี้ที่มีกรณีโรงงานปล่อยน้ำเสีย ในพื้นที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ผู้กระทำผิดก็เพียงถูกลงโทษปรับเท่านั้น โดยร่างกฎหมายน่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆ นี้
ปิดท้ายด้วยเรื่องเบาๆ อย่างการชวนท่องเที่ยวใน อ.บ้านโป่ง ซึ่ง สส. ราชบุรี เขต 4 กล่าวว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น “สถานที่ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งมีหลายจุด อาทิ วัดจันทารามมีหลวงพ่ออโนทัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด, ศาลเจ้าแม่เบิกไพร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วชาวจีนจะเรียกเจ้าแม่ทับทิม แต่เรียกแตกต่างกันไปตาม
พื้นที่ที่ตั้งศาล, วัดลาดบัวขาว มีองค์ท้าวเวสสุวรรณองค์ใหญ่, หลวงพ่อทอง แห่งวัดหุบกระทิง,หลวงพ่อดำ-หลวงพ่อแล วัดใหญ่นครชุมน์ เป็นต้น
“หอนาฬิกาบ้านโป่ง พี่น้องประชาชนเข้าไปในตัวตลาด ทั้งแยกเลย หอนาฬิกา ทั้ง 4 เส้นเลย ริมถนนของกินทั้งนั้น ก๋วยเตี๋ยวอร่อยทุกร้าน ก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง เกี๊ยว ข้าวมันไก่ อร่อยทุกร้าน” อัครเดช กล่าว
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี