มท.ต่อยอดแก้หนี้
แนะยื่นผ่านศูนย์ดำรงธรรม
ปิดลงทะเบียน1.5แสนราย
“ปลัดมหาดไทย” เผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 153,400 ราย มูลหนี้รวม 11,999.44 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,929 ราย มูลหนี้ลดลง 777.52 ล้านบาทหลังปิดรับแล้ว จะเดินหน้าไกล่เกลี่ยให้ครบ ระบุ ประชาชนพอใจช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อน ย้ำหากมีปัญหาเรื่องหนี้ และเรื่องอื่นก็ขอรับความช่วยเหลือผ่านศูนย์ดำรงธรรมได้
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการรับลงทะเบียนประชาชนที่มีความประสงค์ขอให้ทางราชการได้ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับลงทะเบียนในช่วงเวลา 23.59 น. มีประชาชนลงทะเบียนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบรวมทั้งสิ้นจำนวน 153,400 ราย แบ่งเป็นลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 125,787 ราย ลงทะเบียน ณ หน่วยรับลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขต จำนวน 27,613 ราย มูลหนี้รวม 11,999.44 ล้านบาท และมีเจ้าหนี้ จำนวน 126,798 ราย
“จากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจภาพรวมของการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ และเป็นนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจเป็นลำดับต้นๆ ในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน” ปลัดมหาดไทย กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้แม้การรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะสิ้นสุดแล้ว แต่ภารกิจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบยังไม่สำเร็จ กระทรวงมหาดไทย ยังเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยกลไกของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหานี้นอกระบบระดับจังหวัด ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการระดับอำเภอ ภายใต้การนำของนายอำเภอ พุ่งเป้าบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งการเชิญเจ้าหนี้ และลูกหนี้ มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้
ขณะนี้สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,929 ราย มูลหนี้ลดลง 777.52 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ประสงค์ดำเนินคดี 317 คดี พร้อมทั้งประสานสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ลูกหนี้นำเงินไปชำระเจ้าหนี้ แล้วมาเป็นลูกหนี้ในระบบที่สามารถชำระดอกเบี้ยไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับรายงานในขณะนี้ ธนาคารของรัฐยังสามารถปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ได้อีกจำนวนหนึ่ง โดยทีมงานกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ยังคงเป็นกลไกประสานให้ลูกหนี้ได้รับบริการจากทางธนาคาร แต่การจะได้รับพิจารณาให้สินเชื่อหรือไม่ สถาบันการเงินจะเป็นผู้พิจารณา
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย เห็นว่าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราจะต้องแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหามิติยาไทย ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิตด้วยหลักการพึ่งพาตนเอง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนวพระดำริ หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมกับพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน
ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบก็เป็นสมาชิกของหมู่บ้าน/ชุมชน ที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งการส่งเสริมการน้อมนำพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ไว้บริโภค ซึ่งจะทำให้สามารถลดรายจ่ายครัวเรือน มีอาหารที่สะอาด ปลอดสารเคมี และยังสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ได้อีกด้วย รวมไปถึงการหนุนเสริมระบบคุ้มบ้าน กลุ่มบ้าน โดยรวมครัวเรือนประมาณ 10-15 ครัวเรือน เป็น 1 กลุ่มบ้าน มีโครงสร้างการดูแลกันและกัน เช่น หัวหน้ากลุ่มบ้าน กรรมการกลุ่มบ้าน เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลสมาชิกที่อาจต้องการความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาในการใช้ชีวิต และส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้รับรู้รายรับและรายจ่าย กระตุ้นให้เกิดความประหยัด ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือยกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
พร้อมทั้งกระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มจิตอาสาในการดูแลครอบครัวชุมชน การรักษาความปลอดภัย การรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งธนาคารขยะ ซึ่งสามารถนำรายได้เข้าสู่ชุมชน เข้าสู่ครัวเรือนได้ โดยมีทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ภายใต้การนำของนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ข้าราชการประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการหมู่บ้าน และทีมงานอาสาสมัครในพื้นที่ เป็นกลไกของกระทรวงมหาดไทยในการดูแลให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้กับพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย (Partnership) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 17 ด้วยการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มโอทอป (OTOP) และภาคีเครือข่ายภาคเอกชนอื่นๆ ร่วมกันสำรวจความต้องการของลูกหนี้นอกระบบที่จะขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือกลุ่มเครือข่าย เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อส่งเสริมทักษะ ประสบการณ์ ในการประกอบอาชีพ เช่น การทำอาหาร การทอผ้า การย้อมผ้า การรังสรรค์งานหัตถกรรม งานฝีมือต่างๆ การเกษตร ปลูกผลไม้ พืชสมุนไพร
ตลอดจนการประกอบอาชีพในครัวเรือนที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหาเลี้ยงชีพ รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนา อาทิ คณะสงฆ์ ที่เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาในการดำรงชีวิต ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทย เช่น หลักสูตรนวดแผนไทยของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ที่สามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว และโครงการฝึกอาชีพของวัดต่างๆ ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการหาเลี้ยงชีพได้ เป็นต้น
“สิ่งสำคัญเหล่านี้จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับผู้นำ ซึ่งคนมหาดไทยถูกคาดหวังจากสังคมไทยและได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลทุกยุคในการเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาและบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กลไกกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ยังคงเดินหน้าทุกกระบวนการที่จะหนุนเสริมทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้ใช้กลไกเหล่านี้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามแนวทางที่กำหนดไว้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้การลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะสิ้นสุดลง แต่หากประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว และทุกปัญหาที่ประสบ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง สามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะเดินทางไปขอรับคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และประสานการปฏิบัติ บูรณาการทุกหน่วยงานเข้าให้ความช่วยเหลือในทุกเรื่อง เพื่อทำให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี