นายกฯติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการ และอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 67เวลา 15.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และในห้วงที่ผ่านมาคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ได้ดำเนินการตามภารกิจร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ สำหรับการประชุมวันนี้เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ และพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ตามที่ฝ่ายเลขาฯ นำเสนอตามระเบียบวาระ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการฯ คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมฯ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจรฯ คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกฯ คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณฯ และคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ ซึ่งการเตรียมการและการดำเนินการทุกอย่างของคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการฯ นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือเรียนราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต และขอพระราชทานพระมหากรุณาดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28กรกฎาคม 2567 ดังนี้
1. การกำหนดชื่อการจัดงาน และขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567 เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้แก่
1) ชื่องานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นภาษาไทยว่า “งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567”
2) ชื่องานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า “The Celebrations on the Auspicious Occasion of His Majesty the King’s 6th Cycle Birthday Anniversary 28th July 2024” โดยมีกำหนดระยะเวลาขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2. ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ฯ นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือเรียนราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบตราสัญลักษณ์ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญแบบตราสัญลักษณ์ ตามที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์ พร้อมความหมาย จำนวน 5 แบบ ในการนี้ พระราชวังมีหนังสือแจ้งว่า ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบบตราสัญลักษณ์ แบบที่ 4
3. การจัดพิธีการ โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ต่าง ๆ ในปี 2567
1) พิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 เวลา 07.00 น. ในส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง พระสงฆ์ จำนวน 173 รูป โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
2) พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00 น. ณ ท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี และหน่วยงานภาครัฐจัดพิธี ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงาน ระหว่างวันที่ 20 - 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งลงนามถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ทางเว็บไชต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน www.ocsc.go.th ะหว่างวันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2567
3) พิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม ในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น. ในส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
4) พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.19 น. ในส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
การนี้ ขอพระราชทานให้กรมประชาสัมพันธ์ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดำเนินการถ่ายทอดสดการจัดพิธี ข้อ 1) - 4) ตามลำดับ เพื่อเผยแพร่ภาพและเสียงทางสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี สื่อออนไลน์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
5) พิธีเชิญเครื่องราชสักการะและพานพุ่มของหน่วยงานที่ร่วมพิธี ถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม ณ ท้องสนามหลวง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00 น. ณ บริเวณหน้าประตูภูธรลีลาศ พระลานพระราชวังดุสิต โดยกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะเชิญเครื่องราชสักการะและพานพุ่ม และขอพระราชทานพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนออกรับเครื่องราชสักการะและพานพุ่ม
6) พิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศลในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธี ส่วนวัดไทยในต่างประเทศพิจารณาจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
7) โครงการบรรพชาอุปสมบท เฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2567 รวม 21 วัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท จำนวน 5,621 คน ในส่วนกลาง จำนวน 73 คน จัดพิธี ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด จังหวัดละ 73 คน รวมเป็นจำนวน 5,548 คน จัดพิธี ณ วัดในจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการฯ
8) โครงการพิธีทางศาสนามหามงคลถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ในส่วนกลาง จัดพิธี ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธีภายในเดือนกรกฎาคม 2567 ณ สถานที่ที่เห็นสมควรและเหมาะสม
4. การเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานที่เวทีพิธีการ ณ ท้องสนามหลวง และเวทีพิธีการของทุกจังหวัดและในต่างประเทศ รวมทั้งประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงาน
5. การจัดกิจกรรมที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ดำเนินการ เพื่อแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถวายพระราชกุศล และถวายพระพรชัยมงคล ได้แก่
1) จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องราชสักการะ รวมทั้งประดับธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติฯ ตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติฯ และประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานตามความเหมาะสม โดยดำเนินการตลอดปี 2567
2) จัดทำคำถวายพระพรชัยมงคล พร้อมนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจ และจัดการลงนามถวายพระพรชัยมงคล ณ สถานที่หรือทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน โดยดำเนินการตลอดปี 2567
3) จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และบำเพ็ญสาธารณกุศล ตามความเหมาะสม โดยดำเนินการตลอดปี 2567 ทั้งนี้ ประสานงานกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานและสำนักงานจิตอาสาภาครัฐ สำนักนายกรัฐมนตรี
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ขอพระมหากรุณา
สำหรับการจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงมหาดไทยรายงานได้มีการเตรียมการและดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามแผน ส่วนการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน กองทัพเรือรายงานที่ประชุมได้มีการเตรียมการและดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้เช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี