"ประธานวุฒิสภา"ขอแรงสมาชิกรัฐสภาช่วยยื่นบัญชีทรัพย์สิน แสดงความบริสุทธิ์ใจ-ป้องใช้อำนาจหาประโยชน์ ด้าน"ประธาน ป.ป.ช."เตรียมแก้ประกาศให้"สรรพากร-สรรพสามิต-ตร."ยื่นทรัพย์สิน รับมีโอกาสทุจริตได้
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนากิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ภายใต้โครงการ สร้างระบบนิติบัญญัติให้สุจริต โปร่งใส และยกระดับการตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาและบุคคลในวงงานรัฐสภาด้วยพลังพลเมือง โดยมี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.และนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และบุคคลากรในวงงานรัฐสภา เข้าร่วม
นายอิสระ กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะสถาบันวิชาการในกำกับของประธานรัฐสภา มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความรู้ พัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและส่งเสริมค่านิยม ของนักการเมืองให้มีเจตนารมณ์ในการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและในปัจจุบันนี้ บุคคลในวงงานนิติบัญญัติซึ่งมีตำแหน่งเป็นนักการเมืองหรือมีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจยังขาดความเข้าใจในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นข้อกำหนดสำคัญที่ต้องปฏิบัติทั้งก่อนการดำรงตำแหน่งและภายหลังการออกจากตำแหน่ง
"การสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมไปถึงสร้างการตระหนัก รู้ในความสำคัญและความจำเป็นของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ สุจริตและโปร่งใสต่อไป" นายอิสระ กล่าว
นายพรเพชร กล่าวว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับสมาชิกรัฐสภาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถือเป็นหน้าที่เฉพาะตัว ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำ ซึ่งหากสมาชิกรัฐสภาจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้ สิน หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบอาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาตามกฎหมาย ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เป็นแนวคิดการแสดงความบริสุทธิ์ใจของสมาชิกว่ามีกิจการ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใด เพื่อให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบตรวจสอบ และเปิดเผยต่อประชาชนให้รับทราบ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกหลายคน อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือทรัพย์สินที่มิควรได้สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น
"การเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินให้ประชาชนได้รับทราบ จึงเปรียบเสมือนการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า จะไม่กระทำการใดอันเป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง อันเป็นสาระสำคัญของการเปิดเผย บัญชีทรัพย์สินฯ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้" นายพรเพชร กล่าว
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ระบบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในหน้าที่ของ ป.ป.ช.นั้น นอกจากต้องตรวจสอบเรื่องความถูกต้องและการมีของทรัพย์สินหนี้สินแล้ว เราต้องเน้นการตรวจสอบเรื่องความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ผิดปกตินำไปสู่ความร่ำรวยผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ต้องการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ก็เพื่อสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเมืองและระบบราชการ และสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องจับผิดแต่เป็นการส่งเสริมการมีคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เกิดขึ้น และมีเป้าหมาย เพื่อเป็นมาตรการในการส่งเสริมการปราบปรามการทุจริต เพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการทุจริตจะถูกแปลงเป็นทรัพย์สินอื่นไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเพื่อปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินที่ได้มาจากการคอรัปชั่น
"มาตรการการยื่นบัญชีทรัพย์สินก็จะส่งเสริมด้านการปราบปรามและเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต และเป็นการคัดกรองบุคคลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อเป็นการปิดโอกาสไม่ให้ผู้ที่มีความไม่สุจริตได้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งสูงและใช้ตำแหน่งหน้าที่นั้นในการกระทำการทุจริต การเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อยื่นแล้ว ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ต้องเปิดเผย เพื่อให้คนที่มีอำนาจในการตรวจสอบสูงสุดคือประชาชนและสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบว่าทรัพย์สินที่มีการเปิดเผยมีการยื่นไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นหรือพนักงานรัฐผู้นั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะคนที่รู้ดีที่สุดอาจจะเป็นพี่น้องประชาชนที่เข้าไปสัมผัส ตรงนี้อาจจะเป็นอำนาจหรือเราจะเรียกว่า ประชาชนจะมาช่วยกันเป่านกหวีด เมื่อพบการทุจริต" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ประธาน ป.ป.ช.กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรรมการ ป.ป.ช.ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา ซึ่ง ป.ป.ช.ถูกตรวจเข้มโดยวุฒิสภา เพราะตรวจเพียง 9 คน และตนก็ยังเคยถูกให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลยุติธรรม ตามมาตรา 102 และยังมีเจ้าพนักงานของรัฐตามที่กรรมการ ป.ป.ช.กำหนด รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป พนักงานไต่สวน เจ้าพนักงานตรวจสอบ ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเช่นกัน
"ในอนาคต ป.ป.ช.เสนอแก้ไขประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และตำรวจ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ทั้งหมด เพราะมีโอกาสที่จะประพฤติมิชอบได้ โดยให้ยื่นเอาไว้ทั้งหมด และหากวันใดที่มีเรื่องกล่าวหาก็สามารถหยิบยกขึ้นมา และตรวจสอบเปรียบเทียบได้ ส่วนที่มีความกังวลว่า เจ้าหน้าที่อาจจะไม่เพียงพอเนื่องจากหากให้เจ้าหน้าที่ยื่นทั้งหมดจะมีจำนวนมากนั้น ประธาน ป.ป.ชระบุว่าจะดูในเคสที่มี ข้อกล่าวหาเท่านั้นซึ่งปัจจุบันคนที่ยื่นบัญชีกับ ป.ป.ช.ก็มีการตรวจสอบทั้งหมด" ประธาน ป.ป.ช.กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี