เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2567 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (รมว.อว.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “เรื่องเล่า...เมื่อผมเป็น รมว.อว.ปี 63-66 ตอนที่ 1” โดยระบุว่า "ผมอยากรู้ว่า มีใครฝึกขับรถ โดยอ่านตำรา ฟังครูสอน เปิดคลิปดูจนเข้าใจแล้วบอกว่า ขับเป็นแล้วบ้างครับ หรือ ถ้ามีคนบอกว่า เค้ายืนดูหมอผ่าตัดสมองจนจำได้ว่าทำอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง แต่ไม่เคยเรียนทฤษฏี คุณจะให้คุณหมอคนนี้ผ่าตัดสมองให้คุณไหมครับ
นี่แหละครับ คือ การศึกษาในขั้นอุดมศึกษาในมุมมองของผม ซึ่งไม่ใช่เพียงการเรียนรู้เพียงเพื่อให้ได้ปริญญา แต่เป็นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพ และ การทำมาหากินได้จริง จึงไม่ใช่เรื่องของผู้ที่พึ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการเรียน เพื่อรู้และนำไปปฏิบัติ สำหรับคนทุกวัย และ จะต้องเรียนตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มทักษะ ความรู้สำหรับการพัฒนาตนเอง พัฒนาประเทศ ให้คนไทยสามารถแข่งขันกับคนประเทศอื่นได้ ซึ่งเป็นฐานของการเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทย
ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม ขึ้นในปี 2562 เพื่อปฏิรูปการอุดมศึกษา เพื่อสร้างคนไทยให้เป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถตามความเปลี่ยนแปลงของโลก และ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เป็นอุดมศึกษาแบบใหม่ที่เน้น Demand Side (ผลิตคนตามความต้องการของประเทศรับ)
โลก และ ไทย ต้องการคนแบบไหน อว.จึงผลิตคนแบบนั้น ไม่ใช่ผลิตตามใจตัวเองแต่ไม่มีใครต้องการ เสียเวลา และ เสียงบประมาณโดยใช่เหตุครับ ตอนเป็น รมต.นั้น ผมยึดไว้ในใจว่า เราเป็นนักการเมืองย่อมมีเวลาน้อย และ มีความไม่แน่นอน ในงานสำคัญที่แบกรับอยู่ เพราะจะได้อยู่กี่เดือนกี่ปีก็ไม่ทราบ จะถูกปรับออกเมื่อไรก็ได้ ย้ายกระทรวงก็ได้เสมอ
(** คุณสาวิตต์ โพธิวิหค อดีตรัฐมนตรี รุ่นพี่ที่นับถือกัน โทรมาทันทีที่ทราบว่า ผมได้รับตำแหน่ง และบอกว่า “คิดดีแล้ว...ทำให้ดีที่สุด” เพราะ รมต จำนวนมาก เป็นครั้งหนึ่งแล้วไม่ได้เป็นอีกเลย และแทบไม่มีใครที่พ้นตำแหน่งแล้ว จะได้กลับมาว่าการกระทรวงเดิมอีก once and for all นะ)
ผมจึงต้องทำทันที โดยปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ปฏิรูปให้ได้ในสมัยของผม และผมต้องรบให้ชนะเท่านั้น ผมจะไม่ทำไปเรื่อยๆจนหมดวาระ และ ปล่อยให้เป็นอุดมศึกษาแบบเดิม เพราะภารกิจของ อว. คือ การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และ สร้างนวัตกรรมของประเทศ และผมทำสำเร็จด้วยการปฏิรูปอุดมศึกษา 5 เรื่อง คือ
1.จัดทำหลักสูตร Higher Education Sandbox สร้างหลักสูตรจาก Demand Side เพื่อผลิตคนตามความต้องการของประเทศ
2.จัดกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อสร้างความเป็นเลิศตามความโดดเด่นของแต่ละกลุ่มมหาวิทยาลัย
3.ปลดล็อกการจำกัดเวลาเรียน ตรี โท เอก ไม่จำกัดเวลาจบ เปิดโอกาสให้คนเรียนไปทำงานไปได้
4.เรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ เก็บหน่วยกิตไปใช้ร่วมกันได้
5.เปิดโอกาสให้ใช้ทุนแทนการกู้ยืมในสาขาวิชาที่ประเทศต้องการ
“ผู้นำ” ต้องคิดและออกแบบทิศทาง โดยมองเห็นเป้าหมายระยะไกล แต่ต้องทำวิจัย คือ คิด วิเคราะห์ ประเมินผลด้วยตัวเองตลอดเวลา และพร้อมปรับเปลี่ยนแผนระยะสั้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเสมอ
ผมไม่อยากให้ดูแคลน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะ เป็นการประกาศเปิดเผยจากภาครัฐเป็นครั้งแรกว่า ภายในปี 2580 เราจะพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่พัฒนาและเริ่มมีรายได้สูง เติบโตสูงด้วยเทคโนโลยี และวิทยาการ
แต่ผมอยากชวนให้ผู้นำทั้งหลาย ปักหมุดให้ชัด และ ปรับแผนระยะสั้นให้พุ่งไปที่เป้าหมายใหญ่ของประเทศให้เร็วที่สุด ผมเชื่อว่า ไทยจะเปลี่ยนเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายในปี 2580 แน่นอนครับ
..... เชิญทานอาหารให้อร่อย และ รอติดตามตอนต่อไปด้วยนะครับ
“เอกเขนก” รวมบทสนทนา (ไม่) ลับบนโต๊ะอาหารตลอด 3 ปี 1 เดือน ที่คุณไม่เคยได้ยินของผม อดีต รมว.อว.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ เรื่องราวเบื้องหลังแผนการเปลี่ยนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2580 ครับ"
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี