เลขาฯกฤษฎีกายัน
รัฐบาลไม่ได้กู้ธกส.
แจกดิจิทัลวอลเล็ต
สื่อพูดเอง-ย้ำใช้ม.28
เลขาฯ กฤษฎีกายันรบ.ไม่ได้กู้ธ.ก.ส.แจกดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท โบ้ยสื่อพูดกันเอง ระบุใช้ตามมาตรา 28 ดําเนินโครงการ ด้านรมช.คลังแจงยิบร้านสะดวกซื้อเข้า Digital Wallet ไม่ได้เอื้อทุนใหญ่ เพราะทั่วปท.มีร้านสะดวกซื้อกระจายทั่วไป เป็นแหล่งจ้างงานสร้างรายได้ ยันเป็นรบ.เลือกปฏิบัติไม่ได้ โต้คนห่วงล้วงเงิน ธ.ก.ส. 1.7แสนล้าน ไม่รู้จริง-ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ย้ำเป็นการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน
เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ทําเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐบาลแถลงถึงการกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทจะทำได้หรือไม่ว่า สิ่งที่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตได้ดูในการประชุมที่ผ่านมาคือ เรื่องแหล่งเงิน โดยจะใช้งบประมาณปี 2567 และปี 2568 อีกส่วนหนึ่งคือ ดําเนินโครงการตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอํานาจหน้าที่ ดังนั้น ที่ประชุมไม่มีการพูดถึงเรื่องแหล่งกู้เงิน โดยเวลาทำโครงการตามมาตรา 28 ต้องกำหนดรายละเอียด และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ตนจึงไม่แน่ใจว่ากระแสข่าวที่จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาจากไหน ยืนยันว่าในที่ประชุมไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เป็นการพูดกันเองของสื่อหลังจากมีแถลงข่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แหล่งเงิน 170,000 ล้านบาท จะนำมาจากไหน นายปกรณ์กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการโครงการคือ จะดำเนินการตามมาตรา 28 เพียงเท่านั้น ซึ่งโดยหลักการทำได้ แต่ต้องทำรายละเอียดเพื่อเสนออีกครั้ง อย่างโครงการโคแสนล้าน ที่ต้องเขียนรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนก่อน จึงจะดำเนินการได้ แต่ทั้งหมดสื่อพูดกันเอง
ถามต่อว่าการใช้เงินตามมาตรา 28 กับการใช้เงินธ.ก.ส. เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า คนละเรื่อง แต่หากใช้เงินของธ.ก.ส.ต้องผ่านมติบอร์ดของธ.ก.ส. ซึ่งต้องพิจารณาตามกรอบมาตรา 27 และมาตรา 28 ถามอีกว่า ถ้าไม่ใช้เงินจากธ.ก.ส. จะใช้เงินจากช่องทางอื่นได้อีกหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่ากระทรวงการคลังจะคิดอย่างไร เพราะเป็นผู้คิดโครงการ
ส่วนการใช้มาตรา 28 กับเงินธ.ก.ส.จะมีวิธีตรวจสอบอย่างไร ให้เงินไปถึงกลุ่มอาชีพเกษตรกรจริงๆ นายปกรณ์กล่าวว่า เป็นรายละเอียดที่กระทรวงการคลังต้องไปดู ทั้งนี้ ในวันที่มีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้มีการพูดถึงรายละเอียดเลย หารือแค่เฉพาะหลักการว่าแหล่งเงินจะมาจากไหน
เมื่อถามว่าสหภาพ ธ.ก.ส.ต้องการให้กฤษฎีกาชี้แนะข้อกฎหมายของ พ.ร.บ. ธ.ก.ส. จะสามารถทำได้หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า จะแยกส่งให้กฤษฎีกาหรือจะส่งพร้อมกับความเห็นของ ครม.ก็ได้ เพราะขั้นตอนการหารือของกฤษฎีกามี 2 แบบคือ 1.เข้า ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นประกอบ 2. การหารือโดยตรงกับกฤษฎีกา โดยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบว่ามีปัญหาประเด็นข้อกฎหมายตรงไหน ซึ่งเป็นไปตามหลักการแก้ปัญหา การบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น หากแก้ปัญหาภายในหน่วยงานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านกฤษฎีกา แต่ถ้าส่งผ่านความเห็นครม.ก็จะใช้ขั้นตอนสั้นลง
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลังเปิดเผยว่า มั่นใจสูงว่าการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะสำเร็จแน่นอนภายในไตรมาส 4/2567 โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมเป็นห่วงว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ เพราะร้านค้าสะดวกซื้อสามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น ในส่วนกระทรวงการคลังก็มีข้อสังเกตเรื่องนี้ แต่ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ก็มีเหตุผล ด้วยความเป็นรัฐคงไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งปัจจุบันในต่างจังหวัด ก็มีร้านค้ารายย่อยที่เป็นร้านสะดวกซื้ออยู่จำนวนมากเช่นกัน และร้านค้าเหล่านี้ก็รวมสินค้าอุปโภค บริโภค ทำให้เกิดการผลิต การจ้างงาน
รมช.คลังชี้แจงต่อว่า ร้านค้าสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อรับชำระดิจิทัลวอลเล็ต จากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์แล้ว ในรอบแรกยังไม่สามารถไปขึ้นเป็นเงินสดได้ทันที ต้องนำเงินดังกล่าวไปซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิต เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในการนำสินค้ากลับมาขาย โดยจะขึ้นเงินได้ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตรอบที่ 2 เป็นต้นไปแล้ว โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน คาดว่าเงินจะหมุนเวียนอยู่ในระบบ 1 ปี
ส่วนกรณีที่มีการใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.7 แสนล้านบาท ต่อมามีเสียงคัดค้านว่าไม่สามารถทำได้ เพราะอาจผิดกฎหมายนั้น รมช.การคลังกล่าวว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คนพูดไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณ เรื่องนี้เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน แต่ใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสนับสนุนนโยบายแก้ปัญหาให้ประชาชน และไปตั้งงบชดเชยภายหลัง เช่น ตั้งงบคืนธ.ก.ส.ปีละ 60,000-80,000 ล้านบาท ใช้เวลาเพียง 3 ปี ก็ชำระหนี้ส่วนนี้ได้ครบ
“ทำไมจึงไม่เชื่อส่วนราชการ ที่ได้พิจารณากฎระเบียบเงื่อนไขแล้ว เห็นว่าดำเนินการได้ตามกฎหมายทุกประการ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ และไม่มีการขยายเพดาน มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 32% จะยังคงเป็นไปตามกรอบ เรื่องนี้กระทรวงการคลังกำลังดูอยู่ว่า จะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายอีกชั้นว่าทำได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) และจบภายในเดือนเมษายนนี้” นายจุลพันธ์ กล่าว และว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอะไรที่ใหม่ ครั้งแรกของโลกในการทำนโยบายการคลัง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลทำให้เห็นแล้วว่า คิดใหญ่ ทำยาก แต่ต้องทำ เพราะคนคิดเกมคือผู้ชนะ ไทยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย และเป็นเครื่องมือของรัฐในอนาคต
นายจุลพันธ์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการกำหนดนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ภาวะซึม ตามทฤษฎีกบต้ม จำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามากระชาก เพื่อให้เศรษฐกิจโงหัวขึ้นมาให้ได้ ร่วมกับมาตรการอื่น เช่น มาตรการอสังหาริมทรัพย์ แก้หนี้ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดูในองค์รวม ดูเป็นเฉพาะมาตรการไม่ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี