ปี 2567 ยังคงเป็นปีที่สาหัสสำหรับภาคธุรกิจ กระทบถึงภาครัฐอย่างกระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิตเข้าอย่างจัง ที่ผ่านมาครึ่งปีงบประมาณแล้วยังจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าถึง 12.65% จนปลัดกระทรวงการคลังออกมาระบุว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพรวมการเก็บภาษีของกระทรวงยังไปไม่ถึงดาว
แม้จะปรับการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลจากลิตรละ 5 บาท เป็นลิตรละ 1 บาท กลับมาจัดเก็บภาษีน้ำมันไอพ่นในอัตราปกติ แต่ยอดรวมของภาษีน้ำมันก็ยังต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ของปี 2567 เพราะการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรม เช่น ไบโอดีเซลน้ำมันเตา และน้ำมันไอพ่น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV และ Hybrid ทำให้จำนวนการจดทะเบียนสูงขึ้นมาก แต่รายได้กลับไม่ได้เพิ่มตามเพราะอัตราภาษีที่ต่ำกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไป รวมถึงการปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์กระบะมีจำนวนสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนแบกรับภาระดอกเบี้ยไม่ไหวจนเกิดหนี้เสีย
นโยบายด้านภาษีสรรพสามิตเป็นเรื่องยาก เพราะต้องหาสมดุลระหว่างภาครัฐที่อยากจัดเก็บรายได้และภาระของผู้บริโภค รวมถึงภาคธุรกิจ รวมทั้งวัตถุประสงค์ที่ขัดแย้งกันในตัว ตัวอย่างเช่น การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เป็นแบบ 2 อัตราในปี 2560
ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 7 ปีแล้ว ยังไม่ทำให้สรรพสามิตจัดเก็บรายได้สูงขึ้นตามที่เคยระบุไว้แต่อย่างใด และยังมีแนวโน้มลดลงทุกปี ไม่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยครึ่งปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษียาสูบต่ำกว่าประมาณการถึง 11.05%
โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรา แบ่งบุหรี่ออกเป็น 2 ประเภท คือ บุหรี่ราคาประหยัดที่จะเสียภาษีน้อยกว่า และบุหรี่ราคาสูงที่จะเสียภาษีมากกว่า
โครงสร้างนี้ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่เน้นขายบุหรี่ราคาประหยัด แต่ผลที่ได้กลับกลายเป็นว่าทุกผู้เล่นในตลาดบุหรี่ขณะนี้ลงมาแข่งกันในตลาดบุหรี่ราคาถูกเพื่อให้เสียภาษีน้อยกว่า ไม่เฉพาะแค่การยาสูบแห่งประเทศไทย จนส่งผลให้การยาสูบฯ ในปี 2566 มีกำไรเหลือเพียง 221 ล้านบาท จากที่เคยมีกว่า 1 พันล้านบาท ในช่วงก่อนปรับภาษี 2564 โดยมีรายได้กว่า 93.49% มาจากการขายบุหรี่กลุ่มราคาประหยัด ทั้งนี้ การปรับอัตราภาษีบุหรี่ขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นเรื่อยๆ ยังเปิดช่องให้บุหรี่ผิดกฎหมาย ที่มีทั้งบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามาแย่งตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีของรัฐบาลกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี แล้วแบบนี้จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้อย่างไร
ภาษีบุหรี่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการบริโภคบุหรี่ แต่การลดลงของรายได้สรรพสามิต และกำไรของการยาสูบฯ แสดงให้เห็นว่าระบบโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรา ไม่เหมาะสมกับความเป็นจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอย่างนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งกำกับดูแลกรมสรรพสามิต จึงควรกล้าลงมือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค้างคามานาน และยังไม่มีผู้บริหารคลังชุดไหนทำได้ตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการเร่งปรับโครงสร้างและอัตราภาษีบุหรี่ให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการเข้มงวดกวดขันปราบปรามการลักลอบเข้ามาของบุหรี่เถื่อน และจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
การควบคุมการบริโภคบุหรี่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลควรดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปกป้องชีวิตคนไทยกว่า 70,000 คน ในแต่ละปี จากการเสียชีวิตเพราะสารพิษที่ได้รับจากควันบุหรี่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี