‘วราวุธ’ยื่นศาลรอบ2
ไต่สวนปม‘เชื่อมจิต’
อสส.โต้ไม่ทำหน้าที่
อ้างพม.ร้องศาลเอง
“วราวุธ” เผยปมเด็กชายเชื่อมจิต จ่อยื่นศาลเยาวชนฯ ไต่สวนฉุกเฉิน รอบ 2ขณะที่พ่อแม่เด็กจ่อเข้าพบ พม.4 มิ.ย.นี้ ด้านโฆษก อสส.ยันไม่มีอัยการเชื่อมจิต โต้กรณีไม่ทำหน้าที่ ชี้ พม.สุราษฎร์ฯ ยื่นศาลฯ เอง
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความสั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีเด็กชายเชื่อมจิต ว่าได้รับข้อมูลจากนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้ยื่นขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไต่สวนฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ซึ่งศาลไม่ได้รับเป็นกรณีฉุกเฉิน จึงได้นัดไต่สวนในวันที่ 17 มิถุนายน 2567
“ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน จะยื่นคำร้องไต่สวนฉุกเฉินอีกครั้ง เพราะว่าหากขอยื่นอุทธรณ์จะเป็นคนละศาลกัน ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของ พม.ที่อยากจะให้มีการไต่สวนเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน จึงต้องติดตามว่าผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรในการยื่นครั้งที่ 2” นายวราวุธ กล่าวและว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า ครอบครัวเด็กชายเชื่อมจิต แจ้งว่าจะขอเข้าพบตนในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวตรงกับวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งแต่ละครั้งที่ประชุมคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีวาระเร่งด่วนหรือมีภารกิจผูกพันอย่างไรบ้าง จึงมอบหมายให้อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นผู้รับเรื่องดังกล่าว
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ได้เคยชี้แจงตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่าการเป็น รมว.พัฒนาสังคมฯ ไม่ได้ทำให้ตนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็ก หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ดังนั้นต้องยอมรับว่าองค์ความรู้ในมิตินี้ มีไม่เท่ากับทีมสหวิชาชีพ หรือเท่ากับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องแน่นอน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ทางอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน รับเรื่องไว้เบื้องต้นและดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ต้องรอดูผลการพิจารณาของศาลด้วย
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกคน ขอให้ทำตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด กฎหมายว่าด้วยเรื่องการพิทักษ์ คุ้มครอง ปกป้อง สิทธิเด็กต่างๆเหล่านี้ ทาง พม.ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากว่ามีการละเมิดตามกฏหมายข้อใด เราจะดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ พม.แต่ว่าในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่ พม.ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นจะถูกกล่าวหาว่าละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด วันเดียวกัน นายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้ตรวจสอบกรณีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายสุราษฎร์ธานี (อจคช.) ไม่ให้ความร่วมมือกับ พม.และไม่ให้คำแนะนำสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนในกรณีลัทธิเชื่อมจิต โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และคณะ รับมอบหนังสือ พร้อมกับแถลงข่าวชี้แจง
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ อจคช.ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ลัทธิเชื่อมจิตหรือไม่ รวมถึงหลังจากนี้อัยการจะให้ความช่วยเหลือ พม.ในการตรวจสอบลัทธิเชื่อมจิตหรือไม่ ประชาชนยังจำได้ไหมเมื่อครั้งที่ตนเป็นทนายความให้กับเว็บมังกรฟ้า ต้องสู้กับ 3 หน่วยงานรัฐ ซึ่งครั้งนั้นก็ชนะคดี 3 หน่วยงานรัฐในศาล ทั้ง 2 ศาล เหตุเพราะทั้ง 3 หน่วยงานนั้นไม่มีอัยการเข้าไปช่วย อัยการเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หากครั้งนั้นมีอัยการเข้าไปช่วย ตนอาจจะไม่ชนะคดี เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน อัยการต้องเข้าไปช่วย
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า ขอตั้งข้อสันนิษฐานว่าเด็กเชื่อมจิตคนนี้เข้าข่ายป่วยเป็นออทิสติกหรือไม่ และแม้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปออกมา แต่ตนมีหลักฐานที่จะชี้ชัดว่าอาจจะเข้าข่ายเอาเด็กพิเศษบกพร่องทางสติปัญญามาหากิน มาสอนธรรมะ เหตุผลที่เชื่อมั่นว่าเด็กเชื่อมจิตป่วยเป็นออทิสติก เพราะหลายอาการเหมือนกับลูกชายของตนที่ป่วยเป็นออทิสติกเหมือนกัน
ด้านนายประยุทธ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและเยาวชน ปี 2553 กรณีที่มีเรื่องความรุนแรง หรือประพฤติกับเด็กไม่ถูกต้อง สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ ให้มีมาตรการ หรือวิธีการที่จะดูแลเด็กได้ โดยมาตรา 171 ให้ประธานศาลฎีกา ออกข้อบังคับว่าด้วยสวัสดิภาพเด็ก มีประเด็นสำคัญกรณีที่มีการกระทำไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเด็ก โดยระบุผู้ที่มีอำนาจยื่นต่อศาลเยาวชนฯ คือ 1.ญาติ 2.พนักงานสอบสวน 3.พนักงานอัยการ 4.เจ้าหน้าที่ และ 5.องค์กรที่ช่วยเหลือเด็ก
นายประยุทธ กล่าวต่อว่า กรณีนี้ พมจ.สุราษฎร์ธานี เลือกที่จะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลเอง ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีหนังสือถึงอัยการสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่อย่างใด ซึ่ง พมจ.สุราษฎร์อาศัยข้อบังคับประธานศาลฎีกา ยื่นคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก แทนที่จะส่งให้อัยการยื่น ซึ่งสามารถทำได้และทำถูกต้องแล้ว แต่ถ้าขอให้อัยการยื่นให้ เราก็จะยื่น ไม่มีเหตุที่ต้องปฏิเสธ อย่างไรก็ดี ทราบว่า พม.ได้ยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ก็สามารถยื่นใหม่ได้ แต่ในส่วนคดีหลักยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ก็ต้องรอศาล เราจะไม่ก้าวล่วง
“ยืนยันว่าไม่มีอัยการคนใดเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือมีความเชื่อ ศรัทธา หรือเป็นสาวกของลัทธิเชื่อมจิต รวมถึงไม่มีอัยการรู้จักครอบครัวของเด็กลัทธิเชื่อมจิตตามที่เป็นข่าว ในส่วนที่มีการพาดพิงอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรื่องนี้เมื่อปรากฏเป็นข่าวก็กระทบภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้สอบถามหาความจริง พบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และยังทราบว่าอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ยังเคยให้ข้อแนะนำ พมจ.สุราษฎร์ธานี อยู่เป็นระยะๆ” นายประยุทธ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี