เปิดนิยาม‘เนติบริกร’! เทียบ‘หมอ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์’ที่ไม่ยึดมั่นในเป้าหมายที่แท้จริงขององค์ความรู้ของตน
29 พฤษภาคม 2567 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...
“ผมยิ่งเรียนรัฐศาสตร์ ยิ่งสอน ยิ่งไปสัมมนาทั่วโลก ก็ยิ่งลดศรัทธาในวิชาที่ผมเรียนมา
เคยคิดว่าหากโลกนี้ขาดวิศวกรและแพทย์เราคงแย่
แต่ถ้ามนุษย์ต่างดาวมากวาดต้อนนักการเมืองและนักรัฐศาสตร์ ตลอดจนนักกฎหมายมหาชนไปให้หมดโลก โลกก็คงจะอยู่ได้และอาจจะอยู่ดีด้วย”
ข้างต้นเป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช ผู้เป็นอาจารย์ของผม
——-
ผมคิดว่า การลดศรัทธาต่อวิชารัฐศาสตร์ของอาจารย์ชัยอนันต์ อาจจะเกี่ยวข้องกับการที่นักกฎหมายมหาชนที่ทำตัวเป็น “เนติบริกร” และนักรัฐศาสตร์ที่ทำหน้าที่เป็น ”รัฐศาสตร์บริการ”
คำว่า “เนติบริกร” นี้ ขนาดพจนานุกรมของ Sanook ยังบรรจุไว้ โดยมีผู้ที่ใช้นามว่า poc_ket33 ได้ให้ความหมายไว้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ว่า
เนติบริกร หมายถึง “บุคคลองค์กรหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งซึ่งสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ โดยมีหน้าที่ให้บริการทางกฎหมายแก่บุคคลผู้มีอำนาจ อาชีพเนติบริกรนี้เป็นอาชีพที่เปิดสำหรับนักกฎหมาย ที่ไม่สนใจเรื่องของผิดชอบ ชั่วดี หรือจริยธรรมใดๆ ขอเพียงได้ใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือผลประโยชน์ของตน”
สาระสำคัญของการเป็น “เนติบริกรและรัฐศาสตร์บริการ” อยู่ที่การใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายหรือผลประโยชน์ของตน โดยไม่สนใจเรื่องผิดชอบ ชั่วดีหรือจริยธรรมใดๆ”
ในขณะที่เป้าหมายขององค์ความรู้รัฐศาสตร์คลาสสิก (ซึ่งจะขอรวมองค์ความรู้ทางกฎหมายไปด้วย เพราะในสมัยกรีกโบราณ ยังไม่ได้แยกรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ออกจากกัน) ไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายหรือผลประโยชน์ของตัวเอง
องค์ความรู้รัฐศาสตร์คลาสสิกไม่แยกรัฐศาสตร์ออกจากจริยศาสตร์
ดังนั้น การเมืองภายใต้องค์ความรู้รัฐศาสตร์คลาสสิกจึงแยกไม่ออกจากจริยธรรม หรือความผิดชอบชั่วดี
รัฐศาสตร์ภายใต้องค์ความรู้รัฐศาสตร์คลาสสิกไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ใช้ความรู้นั้นบรรลุซึ่งผลประโยชน์ของตัวเอง หรือผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ
ในทำนองเดียวกับที่ความรู้ทางการแพทย์ไม่ได้มีไว้ให้เพื่อบรรลุผลประโยชน์ส่วนตัวของแพทย์หรือเจ้าของโรงพยาบาล แต่มีไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยหรือผู้มารับการรักษา
และถ้าหมอหรือเจ้าของโรงพยาบาลเข้าใจตรงกันว่าเป้าหมายของการใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนไข้
เป้าหมายหรือผลประโยชน์ของหมอและเจ้าของโรงพยาบาลก็จะสอดคล้องกันกับเป้าหมายและประโยชน์ขององค์ความรู้ทางการแพทย์
สำหรับหมอ เจ้าของโรงพยาบาลก็ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจ
และหากหมอใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์หรือเทคนิคต่างๆ ในองค์ความรู้ทางการแพทย์ไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าของโรงพยาบาล
โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายที่แท้จริงขององค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้รับการรักษา
พยาบาล หมอแบบนั้นก็เข้าข่ายเป็น “หมอบริกร” ไม่ต่างจาก “เนติบริกร”
แต่หมอที่ยึดมั่นในเป้าหมายที่แท้จริงขององค์ความรู้ทางการแพทย์มักจะมีปัญหากับเจ้าของโรงพยาบาลที่เป็นผู้มีอำนาจและต้องการเปิดโรงพยาบาลเพื่อเป้าหมายเพียงกำไรและความร่ำรวยเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึง “เรื่องของผิดชอบ ชั่วดี หรือจริยธรรมใดๆ ขอเพียงได้ใช้เทคนิคทางการแพทย์เพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือผลประโยชน์ของตน/เจ้าของโรงพยาบาล”
ด้วยเหตุนี้ หมอหลายคนจึงต้องออกจากงานไป ในขณะที่หมออีกหลายคนได้ดิบได้ดีในโรงพยาบาลนั้นต่อไป
หมอ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ที่ไม่ได้ยึดมั่นในเป้าหมายที่แท้จริงขององค์ความรู้ของตน คือ ผู้ที่ลดทอนองค์ความรู้ของตนให้กลายเป็นเพียงความรู้ที่เป็นเครื่องมือ หรือที่รัฐศาสตร์คลาสสิกเรียกว่า ความรู้ในเชิงเทคนิค (technique, technic) ที่มีไว้เพื่อใช้บรรลุเป้าหมายอะไรก็แล้วแต่ แต่ละคนจะปรารถนา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี