"ปธ.อนุฯจำแนกนิรโทษกรรม"ยก 3 เหตุผล ย้ำ"ประธานคกก.นิรโทษฯ"ควรมาจาก"ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ" ขอรอ"กมธ.ชุดใหญ่"เคาะวันนี้ แจงไม่ปัดตก"พ.ร.บ.ฉบับประชาชน"โยนเป็นเอกสิทธิ์สภาฯ
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ถึงความเห็นของคณะอนุ กมธ.ฯ ที่ต้องการให้คณะการนิรโทษกรรมควรเป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ ว่า เราเคยได้เสนอเป็นตัวแบบสองทางเลือก คือ 1.ให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ 2.ให้ประธานสภาผู้แทนเป็นประธานคณะกรรมการฯ และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ แต่ กมธ.วิสามัญฯ ก็มีความเห็นที่หลากหลาย ท้ายที่สุด เราจึงมีการปรับเปลี่ยน และให้น้ำหนักยังคงเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลักในการมีบทบาทนำ โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานคณะกรรมการฯ และนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ
นายยุทธพร กล่าวต่อว่า โดยมีเหตุผล 3 ประการ คือ 1.ฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าเป็นอำนาจที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เพราะมาจากการเลือกตั้ง 2.อำนาจนิติบัญญัติ ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองที่หลากหลายในสภา จึงมีความเป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าฝ่ายบริหาร และ 3.กลไกตรวจสอบและติดตามกระบวนการทำงานของ กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเราได้เสนอไป 2 กลไก คือ กลไกตรวจสอบเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งเสนอให้คณะกรรมการฯ ต้องมีเป้าหมายในการทำงาน ทุก 6 เดือน และเสนอต่อสภา เพื่อพิจารณา ซึ่งเมื่อมีการรายงานแล้ว ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องมีการจัดทำรายงานชี้แจงต่อสภา และมีการเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย และกลไกตรวจสอบความโปร่งใส เสนอให้ สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือประชาชน ไม่น้อยกว่า 1,000 คน สามารถเข้าชื่อได้ หากพบว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น และจะต้องมีการจัดทำรายงานสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริงโดยสภา เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงต้องอาศัยกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบคณะกรรมการฯ ชุดนี้
"ในการประชุมวันนี้ จะมีการสรุปข้อเสนอทั้ง 7 ข้อที่คณะอนุ กมธ.ฯ เสนอไป แต่ใน กมธ.ชุดใหญ่ ต้องพิจารณาในประเด็นต่างๆ ว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไร เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเห็นชอบไปเพียง 3 เรื่อง ส่วนตัวคิดว่า กมธ.ชุดใหญ่จะรับทั้งหมด แต่จะฟังทั้งหมดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กมธ.วิสามัญฯ" นายยุทธพร กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่เว็บไซต์ของรัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า ทาง กมธ.จะปัดตกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ทั้งร่างของประชาชนและร่างของพรรคการเมือง เป็นเอกสิทธิ์ของสภาฯ ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจไปปัดตกใดๆ ทั้งสิ้น แต่หาก กมธ.วิสามัญฯ มีข้อเสนอ ก็จะถูกหยิบจับไปเสนอต่อสภา ซึ่งสภาก็มีเอกสิทธิ์ที่จะฟังข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ จะฟังทั้งหมด หรือจะฟังแค่เพียงบางส่วนไปใช้ เพื่อไปผนวกกับร่างกฎหมายก็ได้ โดยร่างทั้งหมดที่ถูกเสนอเข้าสภาขณะนี้ สภาก็มีเอกสิทธิ์ที่จะนำร่างทั้งหมดมารวมกันทั้งหมด หรือจะไม่เอาร่างกฎหมายใดมาเลย แล้วยกร่างทั้งฉบับก็ได้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าควรจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ และไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด เนื่องจากคนมักจะหยิบโยงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองว่า จะไปช่วยคนนั้นคนนี้เป็นพิเศษ หรือยกเว้นความผิด
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี