"ภท."ย้ำต้องพลิกโฉมเปลี่ยนการศึกษาไทย มุ่งพัฒนาคนสู่"สายอาชีพ" จี้ปรับหลักสูตร-องค์ความรู้ที่ล้าสมัย เตรียมความพร้อมบุคลากรให้ตรงกับสายงาน
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ว่า ในการจัดสรรงบประมาณ เราได้เห็นยุทธศาสตร์การศึกษาเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วานนี้ (19 มิ.ย.) คนที่ลุกขึ้นมาอภิปรายส่วนใหญ่พูดว่าเรื่องการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ เพราะสะสมปัญหามานานจนเป็นหนึ่งในวิกฤติของประเทศ การที่จะแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา จะต้องยกเครื่องอย่างจริงจัง การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือต้องลดคนเพิ่มเทคโนโลยี
นายโสภณ กล่าวอีกว่า วันนี้เราจะเปลี่ยนการศึกษาไทยเพื่อพลิกโฉมใหม่ให้ประเทศ ต้องมีทิศทางที่ชัดเจนคือต้องมีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ทุกพรรคการเมืองร่วมกันทำ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นฉบับประวัติศาสตร์ คือต้องมุ่งเน้นพัฒนาคนตามวัย เพิ่มคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนันสนุนให้นักเรียนได้เลือกสายอาชีพ ฝึกทักษะด้านฝีมือ เพื่อจบมาแล้วจะไม่ตกงาน และอยากเห็นครูเป็นครูมืออาชีพมากกว่าการเป็นอาชีพครู
"ผมจึงเรียนไปยังกรรมาธิการว่าถ้าเราจะเอาจริงเรื่องการศึกษา ท่านต้องไม่ตัดงบกระทรวงศึกษา แต่สามารถปรับปรับโครงการที่ไม่สําคัญไปใส่โครงการที่สําคัญ และสามารถปรับลดงบกระทรวง ทบวง กรมอื่นที่สามารถรอได้ แล้วให้ครม.เสนอเพิ่มในงบกรรมาธิการก็สามารถทําได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าเราจะเปลี่ยนหรือพลิกประเทศต้องเอาการศึกษานำ ต้องเปลี่ยนการศึกษา เปลี่ยนทุกองคาพยพ และหวังว่าการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการจะได้นำประเด็นที่ผมได้อภิปรายไปพิจารณาว่าจะจัดงบอย่างไรจึงจะเกิดความสมดุลและพัฒนาการศึกษาได้อย่างยั่งยืน" นายโสภณ กล่าว
ด้าน น.ส.ผกามาศ เจริญพันธ์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า วันนี้ตนมีคําถามว่าตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีการคิดวิเคราะห์ คาดการณ์และพัฒนาหลักสูตร เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรให้สอดรับกับตลาดแรงงานในอนาคตแล้วหรือยัง ซึ่งในปี 2566 มีรายงานว่ามีเด็กไทยได้รับผลสอบPISA ต่ำสุดในรอบ 20 ปี เพราะไม่สามารถนําความรู้มาใช้ในชีวิตประจําวันได้ ถือเป็นกระจกสะท้อนหลักสูตรการเรียนของไทยที่ไม่ทันสมัย เนื่องจากหลักสูตรไม่ได้ปรับมาถึง 15 ปี และที่สําคัญความรู้ส่วนใหญ่ยังเน้นการท่องจํา หลักสูตรจึงมีความสําคัญเพราะเป็นตัวสะท้อนว่ารัฐมีความคาดหวังว่าเด็กจะทําอะไรได้หลังจากเรียนครบทั้งหลักสูตร ซึ่งในต่างประเทศอย่างฟินแลนด์มีการปรับหลักสูตรทุก 10 ปี
"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการปฏิวัติการศึกษาทั้งระบบ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่ออัพสกิล ให้ทันโลก เพราะผู้ที่ปรับตัวได้ดีเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ที่อยู่รอดและฝากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการปรับหลักสูตรของไทย เพราะตอนนี้เราอยู่ในจุดที่วิกฤตของการศึกษาก่อนที่จะสายเกินไป" น.ส.ผกามาศ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี