กกต.แจงขั้นตอนเลือก“สว.ระดับประเทศ”26 มิถุนายน เพื่อคัดให้เหลือ200 คน ทำบัญชีสำรอง 100 คน ขีดเส้นผู้สมัครรายงานตัว ก่อน 9 โมงเช้า
รอบไขว้ลงคะแนนได้ 5 คน กกต.เตือน“สว.ระดับจังหวัด”รวมตัวจัดกิจกรรม ระวังเข้าข่ายผิดกฎหมายสัญญาว่าจะให้ จูงใจบุคคลลงคะแนน ชี้โทษหนักคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ่วงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารแจ้งว่าตามที่กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายนและผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศประกาศกำหนดสถานที่เลือก ณ อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีนั้น
สำนักงาน กกต.ขอประชาสัมพันธ์วิธีการเลือกสว.ระดับประเทศ โดยก่อนเลือก ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศจะนำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดของแต่ละกลุ่ม มาจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกระดับประเทศ (สว.ป. 5) และทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือก ในการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันของแต่ละกลุ่ม (สว.ป. 10) จากนั้นจึงดำเนินการจัดการเลือก ดังนี้
รอบที่ 1 ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน การรายงานตัว ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลา 09.00 น. ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิเลือกและได้รับเลือก ผอ.การเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มรวมอยู่ ในกลุ่มเดียวกัน ที่สถานที่ที่ผอ.การเลือกระดับประเทศกำหนด
ส่วนการลงคะแนนเมื่อแต่ละกลุ่มรายงานตัวครบ หรือเมื่อพ้นระยะเวลา 09.00 น. ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายชี้แจงผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้
สำหรับการนับคะแนน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 40 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 40 คน ให้จับสลากเพื่อหาผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 40 คน แต่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ให้เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นเท่าที่มีอยู่
กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 20 คน ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ที่สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่ เพื่อให้ได้ 20 คน การดำเนินการแบ่งสายและการจับสลากเพื่อแบ่งสาย ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ส่งตัวแทนจับสลากแบ่งสายจำนวนไม่เกิน 4 สาย สายละ 3 – 5 กลุ่ม
ส่วนรอบที่ 2 การลงคะแนนเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่สายเดียวกัน การลงคะแนนผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยจะลงคะแนนให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองมิได้
การนับคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาของกลุ่มนั้น ผู้ได้คะแนนลำดับที่ 11 – 15 ของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นกรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 15 คน ให้ดำเนินการจับสลากเพื่อเรียงลำดับ กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากัน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้จับสลาก เพื่อให้ได้ผู้ได้รับคะแนนในแต่ละลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศได้รับประกาศผลนับคะแนนจากกรรมการประจำสถานที่เลือกแล้ว จะจัดทำประกาศผลนับคะแนนรายงานให้ กกต.ทราบ เมื่อได้รับประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนด กกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต เที่ยงธรรม ให้ประกาศผลเลือกในราชกิจจานุเบกษา และแจ้งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
วันเดียวกัน สำนักงาน กกต.ยังประกาศแจ้งผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ระดับจังหวัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการเลือก สว.ว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่ามีบุคคลรวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมตามสถาบันการศึกษา หรือโรงแรม โดยให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสว.ระดับจังหวัดลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมนั้น กกต.ขอให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสว.ระดับจังหวัด ระวังการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ขอให้ศึกษาทำความเข้าใจ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการเลือกสว. โดยเฉพาะ มาตรา 77 (1) และมาตรา 81พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ฯ มาตรา 77 (1) กำหนดว่า ผู้ใดเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่อาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนน หรือไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้ง 20,000 -200,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และมาตรา 81 กำหนดผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดเรียก รับ หรือยอมรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อเลือกหรืองดเว้นไม่เลือกผู้ใด ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 10 ปี
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวย้ำถึงการห้ามกรรมการบริหารพรรค สส. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคภูมิใจไทยยุ่งเกี่ยวกับการเลือก สว. โดยอ้างถึงประกาศพรรคภูมิใจไทย วันที่ 30 เมษายน เรื่อง ห้ามทำการโดยวิธีการใดๆ ในการเลือกสว. เพื่อให้การเลือกสว.เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ได้มีบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ฯ มาตรา 76 กำหนดข้อห้ามกรรมการบริหารพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรค สส. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการโดยวิธีการใด ที่ช่วยเหลือให้ผู้สมัครผู้ใดได้รับเลือกเป็นสว. หรือทำให้ผู้สมัครผู้ใดไม่ได้รับเลือก ประกอบกับ มาตรา 7 7, 78,79, และ มาตรา 80 ของกฎหมายฉบับเดียวกันยังกำหนดข้อห้ามอื่น ๆ ไว้อีกด้วย โดยขอให้สมาชิกพรรคทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด อย่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย นำมาซึ่งความเสียหายต่อพรรคภูมิใจไทยได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี