‘รสนา’สรุปให้! เลือก‘สว.’รอบนี้คือ‘จัดตั้ง’ แบ่งกันไป‘บ้านใหญ่-คนรุ่นใหม่-อุดมการณ์’ ถึงใช้เงิน‘กกต.’ก็จับยาก
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2567 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพฯ โฟนอินให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการเลือก สว. ด้วยกติกาล่าสุดที่ใช้ในปัจจุบัน ว่า การได้มาซึ่ง สว. ในประเทศไทย เคยผ่านมาแล้วทั้งแบบแต่งตั้งและเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ต้องเรียกว่าจัดตั้ง ซึ่งเป็นการจัดตั้งจากหลายสาย ทั้งระดับบ้านใหญ่ใช้เงิน และระดับที่ใช้อุดมการณ์ ดังนั้นการเลือก สว. ครั้งนี้ จะเรียกว่าจัดตั้งหรือบล็อกโหวตก็ได้ เพื่อจัดสรรปันส่วน สว. ว่าอยู่ในค่ายใด อนุรักษ์หรือคนรุ่นใหม่
เพราะที่บอกว่ามาเป็นสายอาชีพ แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกจังหวัดที่จะมี สว. เข้าไปอยู่ใน 200 คนก็ได้ แต่อาจเป็นระดับภูมิภาค ซึ่งก็จะได้เห็นเมื่อการเลือก สว. เสร็จสิ้นลง ที่บอกว่าเป็นตัวแทนวิชาชีพก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนของคนในระดับจังหวัด ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมเข้าไปสมัคร สว. ในครั้งนี้ด้วย มีความชัดเจนใครก็ตามที่เข้ามาแบบอิสระไม่มีการจัดตั้ง ก็จะไม่มีทางผ่านเข้าไปได้ อย่างตนสามารถเข้าไปถึงรอบระดับจังหวัด
แต่อย่างที่ตนเคยสมัคร สว. ในปี 2551 ซึ่งขณะนั้นยังมี สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง มีกติกาห้ามผู้สมัคร สว. หาเสียง ให้ใช้ได้แต่ชื่อเสียงเดิมและความสามารถ แล้วประชาชนที่มาลงคะแนนให้เขาจะเลือกจากคุณวุฒิเรา แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ ครั้งนี้เป็นการจัดตั้ง ซึ่งก็มีแบบที่ได้ยินกันมาตลอดว่าส่งคนเข้ามาเลือก แต่เสียงที่ส่งมาเหล่านั้นอาจไม่มีคุณสมบัติคุณวุฒิของวิชาชีพนั้นๆ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด แต่จะเรียกว่าคะแนนผีได้หรือไม่? คือเข้ามาเลือกคนอื่น จัดตั้งมาเพื่อเลือกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
“จริงๆ ต้องบอกว่า กกต. นี่เปิดโอกาสให้มีการเช็กว่าใครลงให้ใครด้วยนะ เพราะตอนที่ดิฉันเลือกในระดับอำเภอ เขาก็มีการเปลี่ยนเรื่องว่ากล่องที่จะใส่ผลโหวตตอนเลือกไขว้ เขาไม่ให้รู้ว่ากลุ่มไหนลงคะแนนให้ใคร เขาจะใส่กลุ่มรวม ใส่กล่องรวม แต่ปรากฏว่ามาเลือกในระดับจังหวัด กกต. วิธีการของเขาทำให้คนรู้หมดเลยว่าใครเลือกใคร” น.ส.รสนา กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างตอนที่เลือกกันเอง เลือกในกลุ่มของตนเอง จะเป็นบัตร 1 ใบ ช่องแรกโหวตให้ตนเอง ช่องที่สองโหวตให้ผู้อื่น เพราะฉะนั้นเวลาขานคะแนนจะรู้เลยว่าใครลงให้ใคร เช่น บัตรดีหมายเลข 1 บัตรดีหมายเลข 2 ก็แสดงว่าหมายเลข 1 เลือกหมายเลข 2 ดังนั้นเมื่อไปตรวจสอบก็จะเห็นคนที่เข้ามาแล้วยอมให้ตนเองไม่มีคะแนน ก็คือล็อกว่าจะเลือกใคร 2 คน ซึ่งหากเป็นสายอุดมการณ์เขาจะบอกว่าเข้าไปเพื่อเป็นโหวตเตอร์ ไม่ได้ต้องการเป็นแคนดิเดต แต่โหวตเตอร์นี้จะมาด้วยอุดมการณ์หรือด้วยเงิน กกต. ไม่มีทางจับได้
อย่างสมัยก่อนที่เวลามีการเลือกตั้งทั่วไป การตั้งคูหาต้องหันในทิศทางที่ไม่ทำให้สื่อมองเห็น เพื่อที่จะได้ไม่รู้ว่าคนที่ไปลงคะแนนนั้นเลือกใคร อย่างเรื่องที่ว่ามีประชาชนรับเงินผู้สมัครคนหนึ่งแต่ไปลงคะแนนให้ผุ้สมัครอีกคนหนึ่ง แต่หากทำแบบนั้นแล้วคนจ้างสามารถตรวจสอบได้ว่าไม่ได้ลงคะแนนให้ตามข้อตกลงเขาก็มาเช็คบิลได้ ในขณะที่ระบบเลือก สว. ครั้งล่าสุด เปิดโอกาสให้ดูได้เลยว่าใครเลือกใคร คือไม่ได้ตั้งคูหาแบบเปิดเผย แต่วิธีการใบลงคะแนนและการขานคะแนนทำให้รู้ได้
จากนั้นในขั้นตอนเลือกไขว้ ในระดับอำเภอ ในพื้นที่ที่ตนไปลงสมัครจะมีทั้งหมด 5 กลุ่มวิชาชีพ จะให้ใช้กล่องรับคะแนนใบเดียว เลือกกลุ่มอื่นได้แต่ห้ามเลือกตนเอง พออยู่ในกล่องเดียวกันก็ตรวจสอบไม่ได้ว่าใครเลือกใคร แต่เมื่อมาถึงการเลือกระดับจังหวัด จะแบ่งเป็นกลุ่มๆ เช่น เราจับได้สาย ก. ได้กลุ่มที่ 1-5 ก็จะตั้งกล่อง 5 ใบ ดังนั้นก็จะรู้ได้ว่า เช่น กลุ่มที่ 1 ลงคะแนนให้กลุ่มอื่นๆ ลงให้ใครได้บ้าง ฉะนั้นในระดับประเทศหากทำแบบนี้ก็เช็คบิลได้หมดเลย
“ฉะนั้นนี่มันก็คือากรจัดตั้งไง แล้วเป็นการจัดตั้งที่ทำให้จะทำให้คนที่ส่งแคนดิเดตมาประกวด แล้วก็ส่งโหวตเตอร์ของตัวเองเข้ามาเลือกแคนดิเดตของตัวเองได้สัดส่วนเท่าไร เพราะฉะนั้นดิฉันบอกว่า สว. ในการเลือกครั้งนี้เป็น สว. แบบบล็อกโหวตและ สว. แบบจัดตั้ง เพื่อให้สามารถคุมสัดส่วนของ สว. ที่จะมาโดยสายบ้านใหญ่ สายคนรุ่นใหม่ สายอุดมการณ์ สายอะไรก็ตาม จะรู้หมด” อดีต สว. กรุงเทพฯ ระบุ
ชมคลิปเต็มได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=fCNilgUxLXw
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี