"จักรภพ"เผยเหตุผลที่รับใช้"ทักษิณ" ฝากบทเรียนถึงคนรุ่นใหม่ เข้าใจประนีประนอม อย่าสู้แบบเอาหัวชนกำแพง
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย หลังลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศนานถึง 15 ปี ว่า ในวันที่ออกจากประเทศไทย วันที่ 14 เม.ย. 2552 ซึ่งเวลานั้นกำลังมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ล้อมทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเวลานั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และตนก็มีสถานะเป็นหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงด้วย
โดยตนเห็นสถานการณ์ขณะนั้นว่า น่าจะคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว จึงเดินทางไปต่างประเทศ ไปดูว่ามีอะไรที่สามารถทำได้ มีผู้ร่วมเดินทางด้วย 2-3 คน แต่เป้าหมายปลายทางอยู่คนละที่กัน ออกเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ ข้ามฝั่งเข้าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขอไม่เล่าในรายละเอียดมาก ใช้การเดินทางด้วยรถยนต์ เดินทางอ้อมผ่านประเทศหนึ่งเข้าอีกประเทศหนึ่ง โดยตนมีเป้าหมายแล้วว่าจะไปไหน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
ซึ่งหากถามว่ากลัวหรือไม่? จะบอกว่าไม่กลัวก็คงไม่ได้ ยิ่งตนมาจากสายวิชาการยิ่งมีเรื่องให้คิดเยอะ หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางเป็นอดีตผู้นำระดับสูงทางการเมืองแต่ไม่ใช่หัวหน้ารัฐบาล และพรรคพวกที่กลัวว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น แต่เวลานั้น ความกลัวอันตรายยังมีไม่มากเท่าความรู้สึกอยากออกไปตั้งป้อมสู้ เบื้องต้นตั้งใจจะอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านสักพักหนึ่ง โดยต้องเช็คก่อนว่าเขาพร้อมรับเราหรือไม่ เพราะผู้ลี้ภัยก็อาจทำให้เขาเดือดร้อนได้ แต่เขาก็เข้าใจ
“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไปเรียนรู้มา คือทุกประเทศเขาก็มีประสบการณ์แบบนี้มาไม่มากก็น้อย แต่ไม่ใช่ว่ามีมาแล้วเขาจะเข้าใจเรา เพราะสถานการณ์ของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน แต่สรุปว่ามีเป้า แต่เป้านั้นก็ต้องไปดูความรู้สึกนึกคิดว่าเขาจะรับได้แค่ไหน? ก็ปรากฎว่าเขารับได้ เราก็เลยตกลงทำเงื่อนไขกันที่ว่าทำอย่างไรจะอยู่ไม่ให้เขาเดือดร้อน ทำอย่างไรจะอยู่โดยไม่เป็นภาระ ซึ่งผมตั้งใจแต่แรกว่าเป็นภาระของใครก็ไม่มีใครชอบ เราก็ต้องคิดทำมาหากิน พูดง่ายๆ เลี้ยงชีพตัวเองได้” นายจักรภพ กล่าว
นายจักรภพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนคำถามว่า เหตุใดจึงเลือกปักหลักในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ผู้ลี้ภัยการเมืองหลายคนเลือกไปไกลอยู่ในประเทศแถบทวีปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา จริงๆ แล้วหากไปไกลอยู่ประเทศใหญ่นั้นอยู่สบายกว่าเพราะตนก็เคยไปเรียน เพื่อนฝูงก็มีคงไม่อับจน แต่ก็คิดว่าอยากกลับมาทำงานในประเทศไทยให้เร็วที่สุด ซึ่งในช่วงนั้นเริ่มมีโปรแกรมสไกป์ ทำให้สามารถทำงานทางไกลได้ เช่น งานแปล งานเขียน แต่เวลานั้นทำให้กับต่างประเทศ
อาทิ ตนมีพรรคพวกเปิดสำนักข่าวในอินโดนีเซียและอินเดีย หากต้องการข่าวที่เกิดขึ้นในไทยก็มาจ้างตน แต่ขอไปว่าไม่ต้องใส่ชื่อว่าตนเป็นคนทำข่าวนั้น ซึ่งจริงๆ หากอ้างอิงตามจรรยาบรรณวิชาชีพก็ต้องบอก ส่วนค่าใช้จ่ายที่มาจากทางการเมือง หรือที่เรียกว่าท่อน้ำเลี้ยง แม้จะมีแต่ก็ไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งใครเป็นสายใครก็ต้องไปขอกันมา ไม่ได้มีการจ่ายแบบเป็นระบบ แต่ตนเป็นคนปากหนักในเรื่องนี้ อีกอย่างตนก็ไม่อยากรับเงินเดือนเพราะไม่อยากรับคำสั่ง
โดยการต่อสู้ครั้งนั้นไม่มีการจัดตั้ง จึงไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายให้เบิกที่ใคร แต่ทุกคนมารับบทเรียนทีหลังว่า การต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่เตรียมตัว สุดท้ายก็เป็นตนเองที่ต้องคิดเรื่องปากท้อง หรือแม้แต่จะไม่คิดถึงตนเองเลย ตนเองจะอยู่อย่างไรก็ได้ ก็ต้องนึกถึงคนในครอบครัวเพราะเคยเป็นคนหาเงินเลี้ยงคนที่บ้าน เรื่องนี้ก็ทำให้ตนแนะนำคนรุ่นหลังๆ ว่าต้องทำงาน
ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้าน ระดับการพัฒนายังตามหลังไทย หลายเรื่องยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา เช่น ประเทศไทยทำเกษตรแบบผสมผสานมานานแล้ว แต่ประเทศนั้นยังเน้นทำเกษตรเชิงเดี่ยว ดังนั้นผู้ลี้ภัยหลายคนที่ทำเกษตรเป็นก็เข้าไปช่วย และเมื่อประเทศนั้นเห็นว่าเราทำประโยชน์ได้ เขาก็มาเสนอให้ บอกมีพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ เดี๋ยวปลูกบ้านให้ ก็ส่งไปอยู่กันสัก 2-3 คน ไม่ได้ไปกันแบบกองทัพจัดตั้ง การจัดการจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งๆ ไป
โดยหากนับรวมทั้งหมด ซึ่งไม่ได้ไปทีเดียวแต่ทยอยกันไป และไม่ได้ไปอยู่ที่เดียวกัน มีกลุ่มคนเสื้อแดงหนีออกนอกประเทศไทยน่าจะถึง 300 คน อาทิ นายจอม เพชรประดับ ไปอยู่สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เริ่มจากการไปประเทศเพื่อนบ้านก่อน แล้วรีบเดินทางไปสหรัฐฯ ก่อนหนังสือเดินทางจะถูกยกเลิก ส่วนที่มีคำถามว่า เหตุใดชีวิตของนายจอมในสหรัฐฯ ถึงดูลำบากเหลือเกิน เรื่องนี้สำหรับตนใครจะชอบหรือไม่ชอบก็เรื่องหนึ่ง แต่นายจอมเป็นคนที่เด็ดเดี่ยวในอุดมการณ์มากคนหนึ่ง แต่ในความเด็ดเดี่ยวที่ไม่มีการประเมิน ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะถูกทางเสมอไป
ซึ่งเหตุที่นายจอมลำบากเพราะไม่อยากรับเงิน ไม่ขอใคร ก็ทำมาหากินของเขาไป หรืออย่าง “เมย์ อียู” เท่าที่ทราบคือไปได้สามีเป็นชาวเยอรมนี มีอาชีพเป็นผู้รับเหมาะ ฐานะก็ถือว่าอู้ฟู่อยู่ เป็นเศรษฐีย่อมๆ ซึ่งกรณีเมย์ อียู ส่งเงินมาช่วยผู้ลี้ภัย ตนคิดว่าเป็นเงินของเขาเอง ไม่ใช่เงินของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อดีตนายกฯ ทักษิณ ท่านรู้สึกรับผิดชอบต่อคนที่มาต่อสู้ ก็พยายามช่วยเพียงแต่ไม่มีระบบระเบียบอะไร เพราะในใจของอดีตนายกฯ ทักษิณ อยากจะกลับมาให้ได้ คือกลับมาทำความตกลงให้ได้ เป็นใจในเรื่องการสมานฉันท์อยู่ตลอดในตอนนั้น
ทั้งนี้ นอกจากตนกับเมย์ อียู ที่เดินทางกลับไทยแล้ว ยังมีอีกหลายคน แต่ขอไม่เอ่ยชื่อเพราะคนเหล่านั้นไม่อยากเป็นข่าว บางคนเคลียร์คดีแล้วก็อยากอยู่เงียบๆ แต่คนที่มีชื่อปรากฏแต่แรก เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ตนพยายามชวนให้กลับ แต่เจ้าตัวยังไม่กลับ เพราะเริ่มเคยชินกับชีวิตที่นั่นแล้ว อายุก็เป็นผู้สูงวัย กลับมาก็คงไม่มีบทบาทอะไร แต่ตนก็บอกไปว่าอยากให้กลับมาเป็นกำลังใจให้กับคนที่กำลังจะกลับ และกลับไทยแล้วจะกลับไปสหรัฐฯ อีกก็ได้
ส่วนคำถามว่า ปัจจุบันคนเสื้อแดงยังเข้มแข็งมีศักยภาพอยู่หรือไม่ ตนมองว่าลดลงแล้ว คือในความรู้สึกเชิงอุดมการณ์นั้นไม่ลด แต่คนไทยเราเก่ง คือเมื่อเห็นว่าเมื่อขบวนการของตนเองไม่ได้เป็นกระแสหลักแล้วก็อยู่อย่างสงบ ไม่ได้ชูขึ้นมามากแต่ยังแอบเป็นอยู่ คือเสื้อแดงนั้นเป็นทฤษฎีแย้งของสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนั้น ซึ่งทางฝั่งเสื้อเหลืองก็มองว่าเป็นแบบนี้มานานแล้ว เสื้อแดงมาตอนที่อดีตนายกฯ ทักษิณมา แล้วจะคิดว่าดีกว่าได้อย่างไร ก็เกิดขัดแย้งกัน หรือเสื้อหลากสีก็ตาม ตนก็มาเข้าใจเรื่องนี้ในภายหลัง
“ตัวผมเองที่มาเข้าร่วมขบวนการเสื้อแดง แล้วมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง เพราะผมอยู่ใกล้ชิดกับนายกฯ ทักษิณ แล้วมีความรู้สึกว่าคนนี้น่าจะลงตัวแล้วในเรื่องการบริหาร ไม่ได้ดีวิเศษสุดนะ แต่มีความดีพอที่จะพาประเทศไทยไปข้างหน้า เพราะบ้านเราความอิจฉาริษยามันเยอะ ความหมั่นไส้มันเยอะ ฉะนั้นถ้าเราไม่เข้าไปประคอง แต่ว่าอะไรก็ตามที่เราเข้าไปใกล้เกินไป บางทีเราก็ขาดการมองด้านอื่น อันนี้ผมพูดถึงตัวผมเองนะ” นายจักรภพ ระบุ
นายจักรภพ ยังกล่าวอีกว่า ตนได้เจอกับนายทักษิณอยู่บ้าง แต่ก็ไม่บ่อย ซึ่งท่านก็งงๆ ไม่ต่างจากตน เพราะประเทศไทยเปลี่ยนไปมาก และอย่าแต่คนละฝั่ง แม้แต่ฝั่งเดียวกันก็ยังความเห็นไม่ตรงกัน สถานการณ์วันนี้ซับซ้อนขึ้นมาก ส่วนคำถามว่า อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตนมองว่า เขาอยู่ในอารมณ์สู้ในวัยสู้ ตนเข้าใจ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะชำเลืองมองการต่อสู้ในรุ่นที่ผ่านๆ มา ว่าได้ตามที่ต้องการหรือไม่ หรือเสียใจอะไร ใจสลายเรื่องอะไร อย่างตนก็ยังชำเลืองดูคนรุ่น 6 ตุลา 2519 ไม่ใช่ดูเป็นตัวอย่าง แต่ดูเป็นบทเรียนก็ได้
ดังนั้นขอให้รู้ว่าเราไม่ได้เริ่มต้นทุกอย่าง และไม่ใช่ทุกอย่างขะจบที่เรา ฉะนั้นลองดูหัวกับท้ายว่ามันจะมีอะไรที่เชื่อมต่อไปได้ และไม่ใช่ว่าอะไรจะได้ดั่งใจเราทั้งหมด อีกทั้งเราต้องพร้อมจะประนีประนอม เพราะประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน เราก็ต้องเข้าใจว่าเหตุใดอีกฝ่ายถึงคิดอย่างนั้น แม้เราอยากจะด่าจะว่ากัน แต่เมื่อเราเข้าใจกันมากขึ้น อย่างน้อยเราพูดช้าลง มันก็จะได้คิดมากขึ้น ซึ่งตนก็มีโอกาสได้เจอคนรุ่นใหม่อยุ่บ้าง ก็มีความรู้สึกว่ามีเรื่องอัตลักษณ์-เอกลักษณ์ที่เขาต้องคุยระหว่างกันเอง เพราะในกลุ่มเขาก็มีทั้งประเภทอนุรักษ์นิยมหน่อยๆ แล้วทะลุไปเลย
“ทะลุไปเลยผมก็ห่วง เพราะว่าพอบอกว่าทะลุก็ต้องสู้กัน ซึ่งเราผ่านมาแล้วรู้สึกมันไม่อยากให้ต้องเจ็บ เพราะบางทีเราบำบัดความต้องการเราด้วยการทำด้านอื่นได้ เช่น บทเรียนใหญ่ที่สุดของผมก็คือว่าจะเอาหัวไปชนกำแพงทำไม? เราก็สร้างประชาชนให้พร้อมขึ้น เมื่อประชาชนพร้อมขึ้นวันหนึ่งเขาเลือกทางเอง ซึ่งอาจจะพ้นชีวิตเราไปแล้วก็ได้ อาจจะพ้นยุคเราไปแล้วก็ได้ แต่เราก็ได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อถือว่าเป็นทางที่ถูกต้อง” นายจักรภพ กล่าว
ทั้งนี้ นายจักรภพ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ซึ่งก่อนหน้านั้น ในช่วงที่เกิดรัฐประหารในปี 2557 นายจักรภพ เป็นหนึ่งในบุคคลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกไปรายงานตัว ตามคำสั่ง คสช. ที่ 49/2557 แต่ไม่ไปจึงถูกศาลทหารออกหมายจับข้อหาไม่ไปรายงานตัว และข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง จากนั้นวันที่ 7 ธ.ค. 2560 ศาลอาญาได้ออกหมายจับนายจักรภพ ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และข้อหาอั่งยี่-ซ่องโจร
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=ETa3Frm0qCo
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี