ทูตสหรัฐส่งจม.จี้‘เศรษฐา’
เร่งซื้อ‘เอฟ 16’
ดัมพ์ราคาลง/ผ่อนจ่าย9ปี
ทั้งดอดพบ‘บิกทิน’อีกทาง
ปาดหน้า‘กริพเพน’สวีเดน
กองทัพอากาศยังไม่ฟันธง
ทูตสหรัฐฯ เข้าพบบิ๊กทิน ทั้งส่งหนังสือถึงนายกฯ เร่งเครื่องโค้งสุดท้ายดัน เอฟ-16 เสนอเงินกู้ยืม 9 ปี แต่เสียดอกเบี้ย–การค้าต่างตอบแทนกับไทย แข่งกับ Gripen สวีเดนก่อน ทอ. ฟันธงเลือกแบบในเร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย 2567 นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัคราชฑูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในการโครงการช่วยเหลือทางทหารในการเสนอขายเครื่องบิน F-16 block70 ของบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังไม่มีรายงานว่าเนื้อหาในหนังสือที่ส่งให้นายกรัฐมนตรีว่ามีรายละเอียดอย่างไร คาดว่าเป็นการแจ้งข้อเสนอในเรื่องของความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่นอกจากโปรแกรมการซื้ออาวุธในโครงความช่วยเหลือกับมิตรประเทศ และข้อมูลการค้าต่างตอบแทนที่มีกับไทย พร้อมกันนั้นเอกอัคราชฑูตสหรัฐประจำประเทศไทย ยังได้เชิญ รมว.กลาโหมของไทยไปเยือนสหรัฐฯ ด้วย
ทางด้าน พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกองทัพอากาศจีนอย่างเป็นทางการ ปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องที่ฑูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของกองทัพอากาศกำลังดำเนินการตามขั้นตอนในการคัดเลือกแบบให้มีความคุ้มค่าในทุกด้าน และเป็นไปตามนโยบายการตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยยังรับฟังข้อเสนอที่เพิ่มเติมจากทั้ง2ชาติ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการประชุมเชียงการีน่าไดอาล็อค ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รมว. สหรัฐ ได้ร่วมหารือทวิภาคี กับ นายสุทิน พร้อมหยิบยกข้อเสนอในโปรแกรม Foreign Military Financing (FMF) ซึ่งเป็นการมอบเงินช่วยเหลือและเงินกู้แก่ในรัฐบาลประเทศพันธมิตร เพื่อใช้ในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการฝึกอบรมของสหรัฐฯ แต่ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณแต่มีความจำเป็นในการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร จากเดิมที่มีการลดราคา F-16 block แล้ว จะให้ผ่อนชำระในระยะยาว 9 ปี มีดอกเบี้ยต่ำกว่า 5เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ และเป็นระยะเวลาที่ผ่อนยาวกว่าการจัดซื้อปกติ ซึ่งสหรัฐฯจะอนุมัติให้กับมิตรประเทศที่ใกล้ชิด
มีรายงานว่า ในร่างพระราชบัญญติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้บรรจุรายละเอียดโครงการผูกพันงบประมาณในปีแรกวงเงินประมาณ 3,500 ล้านบาทจำนวน 4 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นงบฯซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน 4 เครื่อง (ระยะที่ 1) แต่ในเอกสารงบประมาณไม่ได้แบ่งเป็นรายการให้เห็นว่าเป็นโครงการใดบ้าง ทั้งนี้จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคมก่อนลงมติในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
ทำให้ระหว่างนี้บริษัทและประเทศผู้ผลิตเครื่องบินรบ 2 ชาติ คือ SABB จากสวีเดนผู้ผลิตเครื่องบิน Gripen /E และ Lockheed Martin สหรัฐฯ ผู้ผลิตเครื่องบิน F-16 block 70 ซี่งกองทัพอากาศให้ความสนใจ ต่างเร่งยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้ชนะการคัดเลือกในโค้งสุดท้าย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณารวบรวมข้อมูลฯ ที่มี พล.อ.อ.เสกสรร คันธา เสนาธิการทหารอากาศเป็นประธาน เดิมจะแถลงข่าวผลการสรุปว่า เครื่องบินแบบใดได้รับคะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แต่ได้เลื่อนออกไปก่อนเพื่อรอเอกสารจากบริษัท กองทัพอากาศก็จะให้คณะกรรมการคัดเลือกแบบฯ เป็นผู้เลือกแบบในขั้นตอนสุดท้าย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 Mr.Marcus Wallenberg ประธานกลุ่มบริษัท SAAB SEB ได้เดินทางเข้าพบ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องเครื่องบินกริพเพน โดยปีหน้านายกฯ จะเดินทางไปดาวอสอีกครั้ง และอาจจะจัดเป็นฟอรั่มเล็กๆ ระหว่างไทยกับสวีเดนในการนำบริษัทที่เกี่ยวข้อง2ประเทศมาพูดคุยจะพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีร่วมกันได้หรือไม่ พร้อมยังระบุว่าในกรณีของเครื่องบินF-16 ของสหรัฐฯ ถ้าซื้อก็ต้องมาพัฒนาที่เมืองไทยเหมือนกัน เป็นการต่างตอบแทน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี