วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โฟนอินให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือก สว. กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า เมื่อการเลือก สว. เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 5 วัน เมื่อเห็นว่าผลการเลือกเป็นไปอย่างถูกต้อง สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็น 3 คำสำคัญที่เราต้องขีดเส้น
แต่คำถามคือถูกต้องหรือไม่ ซึ่งที่มีรายงานเรื่องการฮั้ว การวิ่งเต้น การถือโพยเข้าไป แบบนี้สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ตนว่าทุกคนตอบได้ แต่อาจมีเฉพาะ กกต. ที่ตอบไม่ได้ แต่หาก กกต. จะเดินหน้าต่อไปก็ต้องไปวัดกันที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าตกลงจะให้การเลือกครั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญคิดว่าในกระบวนการนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำได้ ไม่เห็นมีอะไรไม่สุจริตเที่ยงธรรม ท่านก็ปล่อยผ่านไป จะค้านสายตาประชาชนหรือไม่ ด้วยความเคารพ ก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ
“แต่ถ้าเกิดมองอย่างผม ผมคิดว่ามันแยกได้ 2 ลักษณะ ถามว่า กกต. ตามแก้ผลที่มันเป็นปัญหาได้ไหม? เหตุมันเกิดแล้วก็คือฮั้วกัน วิ่งเต้นจ่ายเงินกัน มันไปแก้เหตุก็คงยากแล้ว แต่ถ้าเกิดตามแก้ผล เช่นนับคะแนนใหม่ได้ไหม? ถ้านับคะแนนใหม่แล้วพบบัตรที่ผิดปกติ บีบเอาบรรดาคนที่กรอกบัตรนั้นออกได้ไหม? คะแนนคนเหล่านั้นที่ถูกกรอกไปในบัตรที่มันผิดปกติถูกยกเลิกไปไหม? อะไรแบบนี้ อันนี้มันก็แบบเบาะๆ ทำเนา” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อไปว่า ประการต่อมาคือหาผู้กระทำผิดได้หรือไม่ ถ้าหาผู้กระทำผิดได้ก็ต้องตัดสิทธิ์ผู้กระทำผิดเหล่านั้น หรือหากไม่ได้จริงๆ แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไปตามกระบวนการแล้วไม่ได้ทำอะไรบิดพลิ้วผิดกฎหมาย อาจมีคนดี แต่หากไม่ได้ช่วยกันมาตั้งแต่แรก ไม่มีความพยายามร้องเรียนกันตั้งแต่ระดับอำเภอ โดยเฉพาะกรรมการ อย่างตนก็คิดว่า หากมีคนไปยื่นฟ้อง ป.อาญา มาตรา 157 หรือ กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 172 ซึ่งว่าด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย กกต. ก็อาจโดนด้วย
เพราะ กกต. ต้องกวดขันตั้งแต่แรก ตั้งแต่ระดับอำเภอ มาถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ กรรมการต้องเด็ดขาด ใครมีพฤติกรรมน่าสงสัย เช่น เดินไป 2 คน เข้าห้องน้ำพร้อมกัน ต้องตัดคนเหล่านั้นออกก่อนแล้วค่อยให้ไปยื่นร้องต่อศาลภายใน 3 วัน แต่ในความเป็นจริงไม่มีการทำแบบนั้น ดังนั้นหากจะบอกว่าทั้งหมดเป็นไปอย่างถูกต้อง สุจริตและเที่ยงธรรม ตนว่าไม่ใช่ จึงบอกว่าควรจะเป็นโมฆะแล้วเริ่มเลือกกันใหม่ แม้จะเกรงใจคนดี แต่เก็เหมือนปลาดี 100 ตัว โยนปลาเน่าตัวที่ 101 เข้าไปแล้วเขย่ารวมกัน ผลก็คือเน่าส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งกันไปหมด
เมื่อถามต่อไปว่า กกต. เสี่ยงติดคุกหรือไม่ ตนก็มองว่ามีแนวโน้มแบบนั้น ตนก็ฟังจากหลายๆ ท่านแล้วก็เป็นห่วง อย่าลืมว่า กกต. บางครั้งก็พลาดอะไรง่ายๆ อย่างเช่นมีครั้งหนึ่งไปแจกใบส้มให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ แต่สุดท้าย กกต. แพ้คดีทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลมีคำสั่งจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้สมัครคนดังกล่าวหลายสิบล้านบาทด้วย และหลายๆ ครั้ง กกต. ก็ทำอะไรค้านสายตาประชาชน
อย่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กว่าที่ กกต. จะบอกวิธีคำนวณคะแนน ก็เอาล่อเอาเถิดกันอยู่นาน และพอประกาศออกมาก็ค้านสายตาทั้งที่กฎหมายเขียนไว้อยู่แล้ว บอกแต่แรกก็ได้แต่กลับไม่ทำ มาถึงการเลือก สว. ครั้งนี้ พบคนแจ้งทุจริตเต็มไปหมด กกต. กลับบอกว่ารับรองก่อนแล้วค่อยไปสอยทีหลัง แต่ก็ยังไม่มีใครโดนสอยเลย แบบนี้แปลว่าอะไร
“ฉะนั้นทั้งหมดถ้าเกิดผนวกรวมกัน แล้วท้ายที่สุดคนเขาทนไมได้ตรงนี้ที่เลือก สว. กกต. ก็มีโอกาสที่จะโดน แล้วอย่าลืมว่ามันเคยมี กกต. ชุดหนึ่งที่คนไปขนานนามว่าสามหนา ติดคุก” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวย้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี