‘โฆษกรัฐบาล’แจง 3 ข้อ ปมประชาชนกังวล รัฐให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี
6 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก “ชัย วัชรงค์ - Chai Wacharonke” ชี้แจงกรณีรัฐบาลมีแนวคิดขยายสัดส่วนการครอบครองอาคารชุดของคนต่างชาติ จาก 49% เพิ่มเป็น 75% และขยายระยะเวลาเช่าจาก 50+50 ปี เป็น 99 ปี ดังนี้...
ต่อกรณีแนวคิดที่จะขยายสัดส่วนการครอบครองอาคารชุดของคนต่างชาติ จาก 49% เพิ่มเป็น 75% และขยายระยะเวลาเช่าจาก 50+50 ปี เป็น 99 ปีนั้น ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ และส่งเสริมการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ
ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักดีว่า นอกจากผลดีที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลแล้ว พี่น้องประชาชนบางส่วนยังอาจจะมีความกังวลถึงผลเสียที่อาจเกิดตามมาบางด้านได้ เช่น
1) อาจส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้น จนยากที่คนไทยจะซื้อมาครอบครองได้
2) ชาวต่างชาติอาจจะเช่าซื้อห้องชุดแล้วนำมาปล่อยให้คนไทยหรือนักท่องเทียวเช่าต่ออีกที ไม่ได้เข้ามาอยู่อาศัยจริง
3) ชาวต่างชาติอาจจะมากว้านเช่าที่ดินจำนวนมากแล้วนำไปประกอบธุรกิจที่ให้ผลกำไรดีมีอนาคตแข่งกับคนไทย
4) ชาวต่างชาติเข้ามาครอบครองคอนโดเกิน 50% แล้วจะมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎระเบียบของคอนโด จนเป็นเหตุให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในคอนโดเดียวกันได้รับความเดือนร้อนรำคาญใจ
ขอเรียนชี้แจงว่า…..
1) แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ แต่อำนาจอธิปไตยทั้งหมดยังคงอยู่ในมือของรัฐบาลของคนไทย รัฐบาลสามารถออกกฏระเบียบเพิ่มเติมในภายหลังได้ทุกกรณี หากเห็นว่ามีเหตุอันจำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมและผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาวไทย
2) รัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สามารถกำหนดเงื่อนไขแต่ต้นว่า แม้ชาวต่างชาติจะได้สิทธิ์ครอบครองห้องชุดในอาคารหรือคอนโดต่างๆได้ถึง 75% แต่สิทธิในการออกเสียงในนิติบุคคลของอาคารชุดจะมีได้ไม่เกิน 49% สัดส่วนที่ชาวต่างชาติถือครองเอาไว้เกิน 49% นั้นจะต้องสละสิทธิ์ในการออกเสียง นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถกำหนดเอาไว้ในกฎระเบียบใหม่ตั้งแต่ต้นว่า ที่ดินที่ชาวต่างชาติเช่าระยะยาวนั้น ห้ามมิให้ประกอบกิจการใดบ้างที่รัฐบาลต้องการจะสงวนไว้ให้คนไทย เช่น ห้ามนำไปทำเป็นสวนทุเรียน เป็นต้น
3) ต่อข้อกังวลว่า จะเป็นเหตุให้ที่อยู่อาศัยแพงขึ้นจนคนไทยไม่สามารถซื้อมาครอบครองได้นั้น ในความเป็นจริงนั้น ดีมานด์และซัพพลายของอสังหาริมทรัพย์นั้น มันจะมีความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาตามภาวะตลาด เมื่อมีความต้องการซื้อมากขึ้น แน่นอนว่าช่วงหนึ่งราคาอาจจะสูงขึ้น แต่ตลาดก็จะมีการตอบสนองด้วยซัพพลายที่เพิ่มขึ้น โครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆก็จะถูกเสนอตัวเข้ามาแข่งขันแย่งส่วนแบ่งการตลาดกันมากขึ้น ในที่สุดกลไกการตลาดนี้ก็จะดึงราคาที่อยู่อาศัยให้ต่ำลงมา ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลก็ยังสามารถกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการขยายตัวด้านที่อยู่อาศัยได้ และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ประชาชนก็จะมีรายได้ดีขึ้น กำลังซื้อก็จะสูงขึ้นตาม ดังนั้น ปัญหานี้จึงมีทางออก ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงแต่อย่างใด
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคในแนวทางนี้ ได้มีการปฏิบัติกันมาในหลายประเทศทั่วโลก ข้อเท็จจริงเป็นที่ปรากฏชัดว่า ส่งผลดีจริงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลกระทบในทางลบไม่ได้เกิดขึ้นมากอย่างที่กังวลกัน
รัฐบาลเข้าใจดีในความกังวลถึงผลกระทบในทางลบบางด้านที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางรอบด้าน และท่านนายกฯก็ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ขอให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบที่สุด โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้และให้หาแนวทางในการป้องกันผลกระทบดังกล่าวเอาไว้แต่ต้นด้วย
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี