ใกล้ครบรอบ 1 ปีของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกเศรษฐา ทวีสิน ที่มาพร้อมกับความกังวลเกี่ยวกับรายได้ภาษีที่หดหาย พลาดเป้าเพราะนโยบาย“กินตัวเอง” เจ็บสุดคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก“กรมสรรพสามิต” ที่ผ่านมา 8 เดือนแล้วในปีงบประมาณ 2567 ยังทำผลงานรั้งท้าย 3 กรมภาษีของกระทรวงการคลัง ทำให้ต้องเร่งเครื่องรีดภาษีให้ได้มากขึ้น เก็บเล็กผสมน้อยจากสินค้าและบริการที่ไม่ได้สร้างรายได้ทางภาษีมากนัก แต่ต่อให้พยายามเท่าไหร่ก็ยังไม่เห็นผลเพราะสินค้าที่สร้างรายได้สรรพสามิตในระดับต้นๆ ยังเป็นปัญหา
ปัญหาของกรมสรรพสามิตถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ระหว่างการอภิปรายงบประมาณรายรับรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อสภาผู้แทนราษฎร จากผลงานที่ย่ำแย่ในปีงบฯ 67 สั่นคลอนภาพรวมสัดส่วนรายได้รัฐของงบฯ ปี’68 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 นี้คลังจัดเก็บภาษีได้ราว 1.68 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณอยู่ 26,238 ล้านบาท หรือ 1.5% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตที่ต่ำกว่าเป้า หากมองหาสาเหตุ เศรษฐกิจชะลอตัวคงเป็นแค่คำตอบพื้นฐานของปัจจัยทั้งหมดเท่านั้น เพราะความจริงแล้วปัญหาหลักมาจากนโยบายภาครัฐขัดแย้งกับเป้าหมายด้านการจัดเก็บรายได้ของสรรพสามิตมาโดยตลอด
เริ่มจาก “ภาษีรถยนต์” ที่คิดเป็น 14% ของรายได้กรมสรรพสามิต โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบฯ 2567 เก็บได้ลดลงถึงกว่า 70% เพราะปริมาณการใช้รถยนต์สันดาปซึ่งเสียภาษีอัตราสูงกว่าลดลง เป็นผลจากนโยบายสนับสนุนด้านภาษีเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฮบริดและ EV ที่เสียภาษีอัตราต่ำกว่า กระทบกับรายได้ภาษีอย่างมีนัยสำคัญ
อีกส่วนหนึ่งคือ “ภาษียาสูบ” ซึ่งมีสัดส่วนราว 10% ของรายได้กรมสรรพสามิต ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ปี 2560 โดยในช่วง 8 เดือนแรก ร่วงแล้วถึง 15% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบฯ 2566 ในปีที่ผ่านมาแม้ไม่มีการขึ้นภาษี หรือเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใดๆ ก็ยังไม่สามารถกู้สถานการณ์ได้ เมื่อสอบถามแนวทางแก้ไขกลับได้คำตอบเพียงว่า “กำลังศึกษาแนวทางปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่อยู่” ซึ่งผ่านมาหลายปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ ปล่อยให้รายได้ลดลงเรื่อยๆ โดยไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม
ปัญหาที่โครงสร้างหากไม่รีบแก้คงกระทบกับ “ภาวะสังคมสูงวัย” ของไทยเข้าอย่างจัง บวกกับการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งมักจะใช้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่ตรงตามเป้าและจำเป็นต้องมีการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้าง “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” กระตุ้นเศรษฐกิจทุกระดับโดยจะกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อทดแทนรายรับที่ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวมีอาการน่าเป็นห่วง ตามที่ธนาคารโลกเคยระบุไว้ในรายงานยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ : ก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองของคนทุกกลุ่ม เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2567
โดยระบุไว้ว่าระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยนั้นยังเก็บภาษีได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่มีกลุ่มรายได้เท่าๆ กันประมาณร้อยละ 5.6 ของ GDP (Tax gap) ประกอบกับล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับประมาณการการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือร้อยละ 2.4 สะท้อนภาวะ Down Cycle ที่เกิดจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำในช่วง 7 ไตรมาสที่ผ่านมาจากการที่การส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับไปจุดเดิมก่อนที่จะมีโควิดเกิดขึ้น ในขณะที่การลงทุนก็ชะลอตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงควรเร่งปฏิรูปเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยสิ่งที่รัฐบาลไทยควรใส่ใจในช่วงเวลา 3 ปีที่เหลือนี้ คือ จัดอันดับความสำคัญใหม่ เร่งปฏิรูปเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีเสริมรายรับของรัฐให้เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากภาวะสังคมผู้สูงอายุที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาความสามารถทางการเเข่งขันของประเทศ มากกว่าการอัดฉีดเงินเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ไม่ว่าจะมากขนาดไหนก็ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพกลับมาเติบโตได้อย่างที่หวัง กลายเป็นที่จดจำว่าเป็นรัฐบาลที่เข้ามาสั่นคลอนระบบการเงินการคลังของประเทศโดยไม่ได้ผลลัพธ์อะไรกลับมา จนชีพจรเศรษฐกิจและการค้าขายของคนไทยหยุดลง ก่อนที่จะได้ “ดิจิทัล วอลเล็ต”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี