ปธ.มูลนิธิสืบฯแยกแก้ปัญหา3กลุ่มอาศัยในพื้นที่อุทยาน ชี้ปัญหาซ้อนหลายหน่วย-ห่วงผู้บุกรุกได้ประโยชน์ด้วย
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โฟนอินให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นปัญหาการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็มีประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ ว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี อย่างบริเวณวังน้ำเขียวก็มีประชาชนอยู่อาศัย แต่ต่อมามีโครงการของรัฐ เช่น สปก. ที่มีการประกาศแนวเขต
แต่การประกาศแนวเขตในอดีตจะประกาศแบบบริเวณ โดยไม่มีการจัดการในรายละเอียดว่าบริเวณนั้นมีแปลงไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องมีการไปสำรวจตรวจสอบก่อนว่าที่ดินบริเวณนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นหรือไม่ ซึ่งต้องประสานหน่วยงาน หรือหากเป็นป่าก็ต้องดูว่าสมบูรณ์หรือไม่ ก่อนเพิกถอนออกมาจัดรูปที่ดิน สปก. ก็ต้องยอมรับว่ามีชุมชนส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณนั้น แต่ในขณะเดียวกันโดยรอบก็เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติด้วย
“กระทั่งปี 2524 ที่มีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานขึ้นมา แนวเขตในช่วงเวลานั้นส่วนหนึ่งผมก็คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นลักษณะการครอบพื้นที่ในบริเวณนั้น ในช่วงแรกเพื่อคุ้มครองพื้นที่เอาไว้ก่อน แล้วก็ออกพระราชกฤษฎีกามาเป็นอุทยานแห่งชาติ กลายมาเป็นพื้นที่บางส่วนอาจจะมีประชาชนที่เขาอยู่มาก่อนอุทยาน บางส่วนก็อาจจะการที่หน่วยงานของรัฐไม่ว่าทหาร เข้าไปจัดที่ทำกินให้กับประชาชนที่เขาอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น เนื่องจากว่ามีเรื่องของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือการแก้ปัญหาความยากจนของกระทรวงเกษตร” นายภานุเดช กล่าว
นายภานุเดช กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานต่างๆ อาจขาดการประสานกัน และขาดข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องแนวเขต จึงซ้อนกันมาหลายสิบปี แต่การแก้ไขไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่มีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน แต่มีกระบวนการแก้ไขกันมาตลอด เพียงแต่ระหว่างกระบวนการจะมีการรวบรวมข้อมูล-ข้อเท็จจริง การตรวจสอบพื้นที่และการพิจาณาใช้กฎหมาย โกยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ออกออก พ.ร.บ.อุทยาน เมื่อปี 2562 ซึ่งในมาตรา 64 ได้กล่าวถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ ก็จะเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาในอดีตที่ผ่านมา
กล่าวคือ ต่อไปนี้กรมอุทยานฯ มีกฎหมายรับรองให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้แล้ว แต่จะอยู่อย่างไรก็ต้องไปดูเงื่อนไขที่ว่ากันในรายละเอียด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายอุทยานแห่งชาติ ซึ่งดูแลการแก้ปัญหาการจัดการอุทยาน ก็เสนอให้ใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.อุทยาน แต่รัฐบาลชุดที่แล้วได้โอนเรื่องของทับลานไปอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งทาง คทช. ได้ไปพิจารณาข้อมูล หนึ่งในนั้นคือแนวเส้นปี 2543 ที่ทางอุทยานเคยสำรวจไว้เพื่อควบคุมไม่ให้ประชาชนล้ำเข้าไปบุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้น ตามมติ ครม. ปี 2541
แต่เมื่อใช้แนวเส้นนั้น ก็กลายเป็นว่าพื้นที่ใดที่มีชุมชนอาศัยอยู่ ก็จะเพิกถอนแนวนั้นไปทั้งหมด ซึ่งรวมๆ แล้วก็ประมาณ 265,000 ไร่ อย่างที่ทราบกัน ส่วนที่มีคำถามว่า ตัวเลข 265,000 ไร่ มาอย่างไร? เพราะจากเดิมมีเพียง 50,000 ไร่ ตนขอชี้แจงว่าจริงๆ อยู่รวมกันหมด แต่แนวทางของมูลนิธิสืบฯ ที่เคยเสนอกับคณะกรรมการอุทยาน คือการแบ่งประชาชนออกมาเพื่อบริหารจัดการเป็นรายกลุ่ม
โดยกลุ่มแรกคือ 1.กลุ่มพื้นที่ 5 หมื่นไร่ หรือ 5.8 – 6 หมื่นไร่ ก็ต้องไปสำรวจในรายละเอียดอีกทีหนึ่ง กลุ่มนี้อยู่มาก่อนมีประกาศพื้นที่อุทยานทับลาน และอยู่ภายใต้พื้นที่ สปก. ที่มีการสำรวจและให้ประชาชนอยู่อาศัย ซึ่งกลุ่มนี้สมควรได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนก่อนกลุ่มอื่น ในอนาคตจะมีการเพิกถอนหรือมีกระบวนการทางกฎหมายมาช่วยประชาชนกลุ่มนี้อย่างไร เรื่องนี้รับได้และเข้าใจสถานการณ์
2.กลุ่มพื้นที่ 8 หมื่นไร่ เป็นกลุ่มที่เข้ามาอยู่ภายหลังประกาศพื้นที่อุทยานแล้ว แต่เป็นการเข้ามาอยู่ภายใต้โครงการของรัฐที่ขอใช้พื้นที่อุทยานให้ประชาชนอยู่อาศัย เช่น พื้นที่ความมั่นคง หรือพื้นที่แก้ไขปัญหาต่างๆ การแก้ปัญหาอาจเป็นการเพิกถอน หรือใช้กลไกกฎหมายอุทยานเพื่อให้ประชาชนยังคงอยู่อาศัยต่อไปได้ ภายใต้เงื่อนไขห้ามซื้อ-ขายที่ดินบริเวณดังกล่าว แต่ก็มีส่วนในการร่วมกันดูแลผืนป่าโดยรอบได้
และ 3.กลุ่มพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกเพิ่มเติม มีการเปลี่ยนมือ มีผู้กระทำผิด เช่น ไปสร้างรีสอร์ท ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการมอบที่ดินไว้ให้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ซึ่งก็มีการส่งฟ้องไปประมาณ 500 คดี รวมพื้นที่ราว 1 หมื่นไร่ มีทั้งที่คดีถึงที่สุดมีคำตัดสินแล้วและคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการ ตนมองว่าหากเจ้าหน้าที่มีสรรพกำลังพอ ก็อาจจะไปตรวจยึดได้มากกว่านี้ แต่การนำตัวเลขกลุ่มทุนหรือประชาชนในพื้นที่นี้ไปรวมกับกลุ่มที่ 1 และ 2 ก็เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับการเป็นพื้นที่สาธารณสมบัติ
“แนวทางที่อยู่ดีๆ จะเพิกถอนทั้ง 2.6 แสนไร่ ผมว่า คทช. ก็ต้องมีความชัดเจน สุดท้ายคุณเอาฐานเอาเกณฑ์ในการที่จะมาพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ตรงนี้อย่างไรให้มันเกิดความชัดเจน เพราะว่าผมบอกตรงๆ มูลนิธิสืบฯ มีประเด็นที่เกิดข้อสงสัยอย่างมาก ก็คือว่ากลไกการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเราใช้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาอุทยานแห่งชาติ มันเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายชัดเจน มีบทบาท มีคณะกรรมการ มีโครงสร้างกฎหมายรองรับ” นายภานุเดช ระบุ
นายภานุเดช ยังอีกอีกว่า แต่เมื่อ ครม. โยนเรื่องนี้ไปให้ คทช. เป็นผู้พิจารณาดำเนินการ ตนเห็นว่าจะถูกเบี่ยงไปในเรื่องที่ถ้าพูดตรงๆ ก็เหมือนมีการเมืองที่จะเข้ามาดึงประเด็นนี้ไปให้อีกหน่วยงานพิจารณาแล้วเสนอเรื่องไปที่ ครม. เห็นชอบและอนุมัติการดำเนินการ แล้วนำผลของ ครม. มาแจ้งกับคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อรับทราบเท่านั้นไม่มีสิทธิ์ทำอย่างอื่น ซึ่งตนว่านี่ไม่น่าจะเป็นเรื่องกลไกปกติของการบริหารจัดการพื้นที่ จึงเป็นประเด็นที่มูลนิธิสืบฯ พยายามออกมาเรียกร้อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี