‘ธรรมนัส’ ประกาศศึกไล่ล่าฆ่าปลาหมอคางดำ ชี้สัตว์อันตรายยกเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมศึกษาโครโมโซม ทำหมันตัวผู้ตัดตอนแพร่พันธุ์
วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของปลาหมอคางดำ ว่า ตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ก็รับทราบปัญหามาโดยตลอด และได้สั่งการให้จัดการ ซึ่งเมื่อสมัยก่อนเรียกปลาหมอสีคางดำ แต่สมัยนี้ไม่มีสีแล้ว ถือเป็นสายพันธุ์พิเศษที่ขยายพันธุ์ได้ไว และกินทุกอย่างที่เป็นสัตว์น้ำ ถือว่าเป็นสัตว์อันตรายและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องนำมาเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้การปฏิบัติการที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ใหม่ที่จะทำให้ปลาหมอเป็นหมัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายต้องคิดหลายขั้นตอน จึงได้สั่งการให้ หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปศึกษาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ในการเปลี่ยนโครโมโซม ให้ปลาหมอตัวผู้ไปผสมพันธุ์แล้วเป็นหมัน และหากโครโมโซมตัวนี้ไปผสมพันธุ์กันเองจะเกิดสายพันธุ์ใหม่อีกหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ละเอียด แต่ ณ เวลานี้ต้องปฏิบัติการล่าและฆ่าให้หมด นอกจากนี้ตนยังได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ตั้งงบประมาณ เป็นกองทุนในการรับซื้อปลาหมอ เพื่อนำไปทำปุ๋ย
ร.อ.ธรรมมนัส กล่าวต่อว่า ส่วนการค้นหาว่าใครเป็นต้นเหตุที่มาของปลาหมอ ตนได้สั่งการให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบมาโดยตลอด ซึ่งความชัดเจนยังไม่มี เพราะการที่เราจะไปโทษบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เราจึงต้องทำงานให้ละเอียด แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องหาข้อมูลจากสภาผู้แทนราษฎรว่าปลาหมอคางดำใครนำเข้ามาสู่ราชอาณาจักร ฉะนั้นจึงต้องทำงานประสานกัน คาดว่าเร็วๆนี้จะได้รายละเอียด
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่ผ่านมา เราพยายามที่จะใช้แนวทางในการดัดแปลงพันธุกรรม ขณะเดียวกัน ก็ได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการล่าเพื่อจับปลาหมอคางดำมาแปรรูป ซึ่งมาตรการเหล่านี้เราได้ดำเนินการมานานแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้การแพร่พันธุ์ของปลา ชนิดนี้รวดเร็วมาก อาจจะเรียกว่าเป็นปลาปีศาจก็ได้
“การตั้งราคารับซื้อเราก็มีการพิจารณาเหมือนกัน ว่าปัจจุบันที่กรมประมงรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท เป็นราคาฐานที่ต่ำสุดถ้าเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงซึ่งอยู่ประมาณ 7 บาทเป็นไปได้หรือไม่ ว่าจะมีการขยับราคารับซื้อเพื่อจูงใจให้มีการล่าเพิ่มมากขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 15 บาท แต่ขอเน้นย้ำว่าเป็นการล่าไม่ใช่ส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เพราะการเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นก็ผิดกฎหมาย"
เมื่อถามว่าหลังจากนี้ถ้ามีการนำเข้าถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ใช่หลังจากนี้ แต่ก่อนนี้ก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้รับอนุญาตห้ามนำเข้า
เมื่อถามต่อว่าปลาหมอที่ถูกนำเข้าประเทศ คาดว่าเข้ามาเมื่อช่วงปีไหน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จริงๆแล้วมันหนักมาหลายปีแล้ว และเราก็มีการล่ามาโดยตลอดทุกจังหวัด และมีปฏิบัติการในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ แต่ตอนนี้ขยายไปถึงเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และอยู่ได้ทั้งลำน้ำสาขาทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มมันอยู่ได้หมด
เมื่อถามอีกว่าตอนนี้เหมือนว่าจะเริ่มบุกเข้ามาของชั้นในของกรุงเทพฯแล้ว ร.อ.ธรรมมนัส กล่าวว่า อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก เราจะต้องมีการป้องกันอย่างเอาจริงเอาจัง
เมื่อถามย้ำว่ามีข้อมูลว่าบริษัทที่นำเข้าปลาชนิดนี้ เชื่อมโยงข้อมูลของคลองในจังหวัดสมุทรสงคราม ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ข้อมูลนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เราไปตีความกันไม่ได้ เราจะต้องหาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี