"กมธ.ที่ดินฯ"สวนเสียงโหวตประชาชน หนุนถอนแนวเขตทับลานฯ 2.65 แสนไร่ ยึดมติ ครม.14 มี.ค.66 ใช้แนวเขตปี 43 "วันแม็พ"พิสูจน์สิทธิประชาชน จี้คณะกรรมการอุทยานฯเร่งรับรอง เผย"สคทช."อ้างกฤษฎีกาบอกไม่กระทบ 522 คดีบุกรุกป่า อัดกระบวนการรับฟังความเห็นของกรมอุทยานฯมีปัญหา บิดเบือนทำให้สังคมเข้าใจว่าป่ายังสมบูรณ์ ทั้งที่สภาพพื้นที่จริงเป็นเมืองไปหมดแล้ว
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แถลงผลการประชุมกรณีปัญหาการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2.65 แสนไร่ ตามมติ ครม.14 มี.ค.2566 ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุป 2 ข้อ คือ 1.ที่ประชุมเห็นด้วยกับการใช้มติ ครม.14 มี.ค.66 ที่เห็นชอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ใช้เส้นปรับปรุงตามการสำรวจแนวเขตปี 2543 หรือ วันแม็พ ในการจัดการพื้นที่แนวเขตอุทยานฯ ทับลาน ซึ่งคิดว่าเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานราชการเห็นพ้องต้องกัน 2.ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าควรจะใช้แนวทางในการรักษาสิทธิ์ของพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ ส.ป.ก. กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้สมควรได้รับการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิ์
นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กมธ.จะเชิญ ส.ป.ก.มาชี้แจงอีกครั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาแนวทางในการแจกจ่ายที่ดินให้กับประชาชนที่สมควรได้รับสิทธิ์ ซึ่งในที่สุดแล้วเรามองว่าอาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ข้อสังเกตต่อมาคือเรื่องของการดำเนินการในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นซึ่งมีประชาชนร่วมกันลงชื่อเกือบ 1 ล้านคน กมธ.จะมีการดำเนินการขอข้อมูลโดยเฉพาะระเบียบเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน จากกรมอุทยานฯ มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะต้องขอมติของ กมธ.ที่ดินฯ เพื่อส่งเรื่องไปยัง กมธ.คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อพิจารณาต่อไป โดยกรณีนี้เราพบว่าอาจจะประเด็นปัญหาเรื่องของคำถาม ที่อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ที่ลงคะแนนเสียงได้
นายพูนศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมเห็นว่าต้องมีการเร่งรัดไปยังคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในการพิจารณารับรองแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าเราจะใช้แนวเขตของคณะกรรมการวันแม็พในการพิจารณา เราต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดกระบวนการรับรองนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ กมธ.ได้ขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น การประชุมอนุกรรมการวันแม็พ รวมถึงบันทึกการประชุม คทช.ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแต่ละประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงกัน
"ในส่วนเรื่องของคดี ประมาณ 552 คดี ที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เราก็ต้องขอข้อมูลการตรวจสอบของกรมอุทยานฯ ว่ามีคดีอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันในที่ประชุม ทาง สคทช.ได้แจ้งว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าจะไม่มีผลต่อรูปคดีในการเปลี่ยนแปลงเขตที่ดินจากของเขตอุทยานฯ เป็นเขต ส.ป.ก.ซึ่งเราจะขอเอกสารหลักฐานมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกัน" นายพูนศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะ กมธ.ที่ดินฯ กล่าวว่า กล่าวว่า ตนมีความกังวลและข้อห่วงใยต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือกระบวนการในการเพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ ทับลาน กระบวนการในการดำเนินการกฎหมายกำหนดว่าต้องจัดรับฟังความคิดเห็นก่อน ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องราวในสังคมขึ้นมา เพราะว่าในการดำเนินการกรมอุทยานฯ ทำให้สังคมเข้าใจว่าพื้นที่ 2.65 แสนไร่ ที่จะมีการเพิกถอนนั้นมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ สังคมเข้าใจแบบนี้มาโดยตลอด คนจึงคัดค้านในการเพิกถอนพื้นที่ป่าแห่งนี้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ 2.65 แสนไร่นี้ ไม่มีสภาพเป็นป่าแล้ว แต่มีชุมชน วัดวาอาราม ตลาด โรงเรียน สถานพยาบาล ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมดแล้ว
นายเล่าฟั้ง กล่าวว่า ดังนั้น เรื่องนี้จึงขอเรียกร้องไปยังฝ่ายการเมือง ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะต้องออกมาแสดงความกระจ่างต่อสังคม ว่าพื้นที่ดังกล่าวความจริงคืออะไร เอาให้ชัดเจนว่าการเพิกถอนพื้นที่ไม่ใช่การเอาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไปออกเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของคนที่เขาอยู่มาก่อนแล้ว ส่วนสิทธิ์จะเป็นแบบไหนก็ว่ากันไปตามกฎหมาย และเรียกร้องไปยัง ส.ป.ก.ว่าทางอุทยานฯ กังวลว่า ส.ป.ก.อาจจะไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการพื้นที่เพราะที่ผ่านมามันมีปัญหา มีข้อครหาหลายประการ ซึ่งเรื่องนี้สังคมก็กังขาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ป.ก.เช่นเดียวกัน ดังนั้น เรื่องนี้ ส.ป.ก.จำเป็นต้องแสดงให้กรมอุทยานฯ และสังคมเชื่อได้ว่าถ้าเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้ ส.ป.ก.แล้วจะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้พื้นที่ตกไปอยู่ในมือของคนที่มีคุณสมบัติจริงๆ ไม่ได้ตกไปอยู่ในมือของนายทุน
เมื่อถามว่า กมธ.ที่ดินฯ เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่ทั้ง 2.65 แสนไร่ ใช่หรือไม่ นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า คณะทำงานฯ รวมถึงผู้ที่มาชี้แจงทั้งหมดที่เป็นส่วนราชการทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ควรใช้แนวเขตที่ดินวันแม็พเป็นแนวเขตที่ใช้สำหรับการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งในวันแม็พถ้าไปดูจะเห็นว่ามีการแบ่งพื้นที่ต่างๆ ไว้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.หรือในส่วนของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งตามมติ ครม.แนวเขตนี้ที่ประชาชนอยู่มาก่อน เขาก็ควรจะได้รับสิทธิ์ตรงนั้น อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ กมธ.ถกเถียงกันอยู่ว่าสิ่งที่ทางกรมอุทยานฯ ได้นำเสนอในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นมีความครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนที่ลงคะแนนเสียงได้รับข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ เพราะอาจจะมีส่วนของการบิดเบือนขึ้นมาได้ ถ้าข้อมูลที่ให้กับประชาชนไม่ครบถ้วน เพราะจากแผนที่ที่นำมาแสดงในที่ประชุมหลายส่วนกลายเป็นชุมชนเมืองไปแล้ว มีทั้งโรงพยาบาล วัด ศูนย์ราชการต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายกังวลในการนำพื้นที่ไปเปลี่ยนเป็นโฉนด และกรมอุทยานฯ ระบุว่ามีกฎหมายในการดูแลราษฎรในเรื่องที่ทำกินอยู่แล้ว เรื่องนี้รับฟังได้หรือไม่ นายเล่าฟั้ง กล่าวว่า เรื่องนี้รับฟังได้ แต่เรื่องนี้เป็นแนวนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ก่อนหน้านี้รัฐบาลมี 2 แนวทาง คือ 1.ผนวกทั้งหมดมาเป็นอุทยานฯ แล้วใช้กฎหมายมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 62 มาเป็นเครื่องมือ และ 2.เพิกถอนและใช้ ส.ป.ก.เป็นเครื่องมือ แต่มติ ครม.เลือกใช้แนวทางที่ 2 ซึ่งการเพิกถอนมันจะส่งผลให้บางคนที่เขาอยู่ในพื้นที่มาก่อน และมีสิทธิ์สามารถพิสูจน์สิทธิ์และออกโฉนดได้ด้วย เมื่อรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ จึงเป็นแนวทางในการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาล
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี