"ปานปรีย์"เผยเหตุผลลาออก"รมว.ต่างประเทศ" ย้ำตำแหน่ง"รองนายกฯ"สำคัญต่อความน่าเชื่อในสายตาโลก
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ว่า เหตุที่ตนไม่ได้บอกเรื่องนี้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เพราะตนไม่ให้เกียรตินายเศรษฐา แต่เป็นความชัดเจนว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะลาออก ทางสาธารณะรับทราบก็ถือว่าเป็นการลาออกแล้ว
ซึ่งในช่วงเวลานั้นตนก็ได้ส่งให้กับสื่อมวลชนให้ได้รับทราบ ขณะที่ตนอยู่ในโรงพยาบาล ไม่สามารถไปพูดข้างนอกได้ และเมื่อสื่อมวลชนรับทราบว่าตนประสงค์จะลาออกก็ถือว่าลาออกแล้ว แต่หากไปบอกนายกฯ ตนก็ไม่แน่ใจ ท่านอาจให้อยู่ต่อ หรือบอกว่าออกไปก็ดีแล้ว หรืออะไรก็แล้วแต่ ตนก็ไม่ทราบ แต่ในเมื่อตนตัดสินใจแล้วก็จะไม่มีการต่อรองกัน เพราะแม้นายกฯ จะให้อยู่ต่อ หากตนอยากออกอย่างไรก็จะออก และเวลานั้นใจก็ไปแล้ว
“เหตุผลการปรับออกจากรองนายกฯ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในหลายๆ เหตุผล เพราะว่าจริงๆ แล้วตำแหน่งรองนายกฯ จริงๆ แล้วท่านนายกฯ ก็สามารถที่จะตั้งได้หลายคน จริงๆ ครม. มี 35 คน บวกนายกฯ เป็น 36 คน อันนี้จำนวนคน แต่ตัวตำแหน่งรองนายกฯ จะตั้งสัก 10 ตำแหน่งก็ยังได้ หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเหตุผลใดทำไมท่านถึงให้ผมพ้นจากตรงนี้ แล้วการมอบหมายงาน ถ้าเป็นการมอบหมายที่มันมีมากเกินไป เช่น ผมดูแลคณะกรรมการอยู่ 30-40 คณะ ท่านอาจไม่ต้องให้สักคณะเลยก็ได้ แต่ตำแหน่งรองนายกฯ ทิ้งไว้” นายปานปรีย์ กล่าว
นายปานปรีย์ กล่าวต่อไปว่า หตุผลสำคัญคือตนเดินทางไปต่างประเทศเยอะมาก ช่วงนั้น 20 กว่าประเทศ และได้พบผู้นำของหลายประเทศ ซึ่งเขาก็รับทราบตนในตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งในช่วงท้ายๆ ก่อนจะลาออก ตนก็ไปเดินเรื่ององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ไปแสดงเจตจำนงว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมด้วย โดยตนต้องไปแสดงเจตนำนงกับชาติสมาชิก OECD กว่า 30 ประเทศ ดังนั้นการมีตำแหน่งรองนายกฯ ทำให้รู้สึกว่าเขารับฟังเรามากขึ้น หรือเราดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ในจุดนั้นเขาก็แสดงการยอมรับกับเรา
ซึ่งมาถึงเวลานี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการแล้ว แต่ปกติการเข้ากระบวนการทำได้ไม่ง่าย โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีเพียงไทยกับอินโดนีเซียที่สมัครเข้าร่วม OECD จากนี้ไปหากเราเดินดีๆ เราก็จะเข้าไปเป็นสมาชิก OECD ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าชาติสมาชิก OECD เป็นประเทศพัฒนาแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยไทยให้เหตุผลหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือทางตะวันออกกำลังเติบโตมากทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ OECD ต้องให้ความสำคัญ และจะได้กระจายกลุ่มให้ทั่วถึง เรื่องนี้ OECD ก็รับไว้พิจารณาและดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม หากตนมีตำแหน่ง รมว. ต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียวมาตั้งแต่ต้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่การที่เคยเป็นรองนายกฯ แล้วอยู่ดีๆ ลดตำแหน่งตนลงเหลือเพียง รมว. ต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียว ต่างประเทศจะเข้าใจว่าอย่างไร เช่น เข้าใจว่ามีข้อบกพร่องทำอะไรไม่ถูกต้อง หรือรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับตน หรือไม่ให้ความสำคัญกับ รมว. ต่างประเทศแล้ว ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่านายกฯ หรือคนทีเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คิดอย่างไร
ส่วนที่มีกระแสข่าวร่ำลือกันไปว่า มีกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกรณีเกาะกูด เป็นปัจจัยที่ทำให้ลาออก เรื่องนี้ตนต้องบอกว่า ปัญหาของคนภายนอกตนไม่ทราบ แต่คนที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายมีคนเดียวคือนายกรัฐมนตรี ส่วนใครจะให้ความเห็นว่าคนใดควรอยู่หรือควรไป เรื่องนี้ตนไม่สามารถทราบได้ และตนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีทางเป็นของชาติอื่น เคยพูดไปแล้วในสภาผู้แทนราษฎร
แต่บังเอิญอาจมีข้อสงสัยอยู่บ้างว่าตอนไปทำข้อตกลงร่วม (MOU) มีแผนที่แนบท้าย และแผนที่นั้นมีการขีดเส้นผ่านเฉียดเกาะกูดไป ก็อาจทำให้คนที่เห็นแผนที่นี้ไม่สบายใจนัก ว่าตกลงหากจะมีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ระหว่างไทยกับกัมพูชา เราอาจต้องเสียเกาะกูดไปหรือไม่? แต่ตนคิดว่าเรื่องแผนที่ก็ส่วนแผนที่ แต่ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทยไม่มีทางเป็นอื่น
“การขีดเส้นนั้นก็ไม่ได้เป็นการขีดเส้นที่ประเทศไทยยอมรับ แล้วจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เป็นการยอมรับ เพียงแต่ว่าเขาเอามาแนบท้ายเพื่อที่จะได้เห็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าในกรณีที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์กันในพื้นที่ทับซ้อนจะแบ่งกันอย่างไร ซึ่งต่างคนต่างขีด และต่างคนต่างอ้างว่าเป็นพื้นที่ของประเทศตัวเอง” อดีต รมว. ต่างประเทศ ระบุ
นายปานปรีย์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่ในเวลานั้นที่มีกระแสข่าวเรื่องเกาะกูด มีการโยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กับ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ตนคิดว่าเรื่องบุคคลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงก็ต้องเป็นข้อเท็จจริง แผ่นดินถ้าเป็นของไทยก็ต้องเป็นของไทย และการขีดเส้นก็ยังไม่ได้เป็นการยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย ว่าเป็นแผ่นดินของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา
ดังนั้น หากถึงวันที่ต้องเจรจากันจริงๆ ในเรื่องของดินแดนและผลประโยชน์ ต้องเจรจาควบคู่กันไป ไม่ใช่เจรจาแต่เรื่องผลประโยชน์อย่างดียว เพราะหากเจรจาแต่เรื่องผลประโยชน์ เกิดวันหน้ามีใครนำเรื่องไปฟ้องศาลแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องชัดเจนว่าเมื่อมีการเจรจาผลประโยชน์ เรื่องดินแดนต้องจบ ก็ต้องระมัดระวังในการเดินเรื่องนี้ ผลประโยชน์ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็ต้องการ เพราะจะเสริมให้เศรษฐกิจแข็งแรงขึ้นและเสริมความมั่นคงทางพลังงาน แต่การที่เราจะตัดสินใจเดินเรื่องนี้ก็ต้องเดินให้ถูกทางและแม่นยำ อย่าให้หลุดเพราะจะมีปัญหา
โดยอำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสุดท้ายไปที่สภา แต่ก่อนที่จะไป ครม. ในอดีตจะตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะกรรมการในการพิจารณา และคณะกรรมการก็จะไปตั้งอนุกรรมการอีก 2 ชุด อนุกรรมการเรื่องดินแดนชุดหนึ่ง อนุกรรมการเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์อีกชุดหนึ่ง ส่วนจะให้ใครเป็นประธานอนุฯ ก็ว่ากันไป แต่ขั้นตอนเหล่านี้ยังมาไม่ถึงตน มีเพียงการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา แต่ส่งเรื่องไปแล้วยังไม่มีการตอบรับ แล้วตนก็ลาออกมาก่อน
ส่วนความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ลาออกจากตำแหน่าง รมว.ต่างประเทศ ตนก็ยังไม่ได้กลับเข้าไปที่พรรค แต่หลายคนในพรรคก็ยังเคารพนับถือกัน และตนไม่มีปัญหาอะไรกับพรรค แต่พรรคจะคิดอย่างไรกับตนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว คือตนตัดสินใจแบบนี้ และตำแหน่งรัฐมนตรีมีคนอยากเป็นเยอะ อีกทั้งการที่ตนลาออกก็ไมได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ส่วนที่มีการพูดกันว่า ใครลาออกจากพรรค
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4abPkJNHro0
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี