‘วิษณุ’ฉะสังคมไทย
ชินกับการทุจริต-คอร์รัปชัน
ปลุกประชาชนร่วมปราบโกง
“วิษณุ” ห่วงสังคมไทย ชินกับการทุจริต “เม้ม รีดไถ แลกความสะดวก” ทำชาติไม่พัฒนา โยนการตรวจสอบ ป้องกันปราบปราม เป็นของผู้อื่น ไม่นึกถึงตัวเอง ชี้ต้องมีส่วนร่วม เผย“กฤษฎีกา” ตรวจร่างกฎหมายอำนวยความสะดวกและบริการประชาชน ให้ปราบโกง ยุคดิจิทัล คาดได้ใช้ปี’68
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง(นยปส.) รุ่นที่ 15 จัดกิจกรรมสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “นวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกง ในยุค Digital Disruption”
โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต้อนรับว่านักศึกษาโครงการหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 15 ว่า หลักสูตร นยปส. เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายพัฒนาผู้นำที่มีคุณภาพและสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตประเทศไทย และผู้ศึกษาก็จะใช้โอกาสนี้ใช้เวทีนี้เสนอยุทธศาสตร์ มาตรการหรือแนวทางการป้องกันการทุจริต ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการปราบปรามการทุจริตให้เป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะทำให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับค่า CPI ให้สูงขึ้น และนโยบายการแก้ไขปัญหาทุจริตของ ป.ป.ช.ปัจจุบัน เน้นการป้องกันนำการปราบปราม การจะป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐเอกชนและประชาคม โดยการที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในนามของรัฐบาลเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการจะแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบให้ลดน้อยถอยไปเพื่อประเทศชาติสามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคง
ทางด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ได้กล่าวเปิดองค์การฯว่าภาพลักษณ์ของไทยในการทุจริตคอรัปชั่นถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย โดยดูจากดัชนีการรับรู้การทุจริตคอรัปชั่น หรือค่า CPI ของไทย อยู่ในลำดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ เป็นคะแนนที่ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย เป็นเรื่องที่เรารู้เราอยากแก้ แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่สะสมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน โดยรัฐบาลนโยบายในการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น โดยเฉพาะในยุค Digital Disruption มีเทคโนโลยีต่างๆมากมาย ทำให้ต้องวิ่งแข่งกับการทุจริตคอรัปชั่น การแก้ไขปัญหาก็มีความยากขึ้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการทุจริตจะต้องดูในหลายเรื่องให้สัมพันธ์กัน และต้องหาอย่างจริงจังถึงองค์ประกอบของปัญหาคืออะไร
ส่วนตัวคิดว่าการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจและหาช่องทางในการแก้ไขให้มากขึ้น โดยจะต้องใช้กลไกกระบวนการและวิธีการในการแก้ไขปัญหา และคิดว่าหัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในสังคมไทยก็คือ mind set ประชาชน และทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมกัน หากเราไม่สามารถเปลี่ยน mind set ของข้าราชการ ผู้บริหารระดับสูง ราชการและเอกชน หากยังยืนในจุดที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและไม่คำนึงถึงความรู้สึกทางด้านจริยธรรม จะส่งผลให้แก้ไขยิ่งยาก เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและเป็นอันตรายต่อสังคมไทย ดังนั้นต้องสร้างสำนึกให้เกิดขึ้นให้ได้ ขณที่ป.ป.ช.ก็พยายามดำเนินการในหลายเรื่อง แม้หลายเรื่องจะลุล่วงดีขึ้นบ้าง แต่การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่ลดลง ไม่คลี่คลายทำให้เกิดความสบายใจ โดยสำคัญต้องสร้างสำนึก ความตั้งใจในการช่วยกันแก้ไขปัญหา
นายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้การจะแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องยาก หากทุกคนมีส่วนร่วม เรียนรู้ หาองค์ความรู้ในการช่วยกนแก้ไขปัญหา พร้อมย้ำว่าการสร้างจิตสำนึกให้เกิดในทุกภาคส่วน ให้มีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตในสังคมไทย ตนได้มีข้อเสนอในหลายๆเรื่องให้กับนักศึกษา นยปส.ที่กำลังรวบรวมข้อมูล เสนอแนะมาตรการต่างๆมายังรัฐบาลให้ออกนโยบายในการดำเนินงาน ทั้งนี้โลกมีการเปลี่ยน แปลง ปัญหาการทุจริตมีความซับซ้อน ดังนั้นการที่จะป้องกันคือการเปลี่ยนแปลง mindset สร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้น และเท่าทันที่จะใช้เทคโนโลยีต่างๆที่มีความทันสมัย แต่สุดท้ายจะต้องใช้การมีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นสิ่งสำคัญ และหน่วยงานภาครัฐก็จะต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ
อีกทั้ง ข้อเสนอของนักศึกษา นยปส.จะเป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่สำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่จะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสังคมไทยทุกภาคส่วนให้มีสำนึก สร้างการรับรู้การทุจริต ซึ่งจะเป็นมาตรการป้องกันทุจริตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมต่อไป
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน)ด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ บรรยายพิเศษเรื่อง การป้องกันการทุจริตภาครัฐยุค Digital Disruption ตอนหนึ่งว่า หลักสูตรฯ ต้องการสร้างการรับรู้ของเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป ให้รู้ว่าการทุจริตในวงราชการมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โครงการหลายอย่างไม่สำเร็จ หลายโครงการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นคำที่เกิดใหม่ ในอดีตจะใช้คำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ปัจจุบันคำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงอาจไมค่อยมีแล้ว แต่พบว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายมากขึ้น อาทิ การยักยอกทรัพย์ รีดใต้โต๊ะ บนโต๊ะ เรียกค่าคุ้มครอง ค่าปิดปาก ค่าอำนวยความสะดวก การทุจริต การเม้มเงินหลวงมาเป็นของตนเอง เรื่องนี้มีประวัติยาวนาน จนคนชินกับการเม้ม ชินกับการเรียก รับ ให้มาเป็นเวลานาน การจะมาห้าม ก็ห้ามยาก เพราะเห็นว่า ทำได้ ไม่รู้สึกว่าผิดบาป
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรมของพระราชาที่นำมาใช้กับวงราชการ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ เป็นหนึ่งในหลักนิติธรรม เป็นหนึ่งในธรรมาภิบาลการบริหารบ้านเมือง คือเน้นเปิดเผย โปร่งใส รับผิด รับชอบ นอกจากนี้ยังเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะประเทศจะพัฒนาไม่ได้ หากมีทุจริต งบประมาณที่ตั้งขึ้นมาถูกหัก 5% 10% หรือบางครั้งมีการไปเรียกรับจากประชาชน ผู้รับเหมา พอเขาไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปขึ้นราคาข้าวของ ดังนั้นการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะละเลยไม่ได้ ซึ่งตนคิดว่าไม่ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ แค่ปรับทัศนคติ ยึดมั่นกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
“นี่เป็นข้อหาอาญาที่ผ่านมาคนมักนึกว่าเป็นหน้าที่ตำรวจ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปคือนึกถึงคนอื่นทั้งนั้นที่จะมาปราบปรามการทุจริต แต่ลืมนึกไปว่า เราที่เป็นประชาชนเป็นองค์ประกอบในการป้องกัน เวลาทุจริตส่วนหนึ่งประชาชนก็เป็นคนเสนอ เป็นคนให้ และเป็นคนเก็บงำเรื่องนี้ไม่บอกใคร” นายวิษณุ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาพอประชาชนร้องหรือฟ้องร้องก็ถูกฟ้องกลับเป็นการปิดปาก ทำให้ประชาชนไม่พูดดีกว่า ซึ่งวันนี้ต้องมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการอนุญาต อนุมัติ ของราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา ซึ่งถ้าเป็นยามปกติกฎหมายนี้ไม่สามารถจะออกมาได้ โดยกฎหมายนี้กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องออกคู่มือในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตจะต้องติดต่อใคร มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และจะใช้เวลาในการดำเนินการเท่าไหร่ เพื่อปิดช่องว่างการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการทุจริตเรียกรับเงิน เช่น หากขออนุญาตตั้งโรงงาน บางคนใช้เวลา 2 ปี บางคนจ่ายเงินก็ใช้เวลาพิจารณาพียง 2 เดือน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวก ดำเนินการให้อย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายนี้กำหนดให้ต้องกำหนดเวลา หากทำไม่เสร็จตามกำหนด เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ประชาชนสามารถฟ้องร้อง หรือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา แต่ปัญหาคือทุกหน่วยงานทำคู่มือเหล่านี้แล้วแต่เก็บใส่ตู้ ลั่นกุญแจไว้ ประชาชนเลยไม่ทราบ ติดต่อราชการก็เลยยังใช้เวลานานเหมือนเดิม
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ตอนนี้จะเกิดนวัตกรรมใหม่ คือรัฐบาลได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต การให้บริการประชาชน เป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับปี 2558 มาเป็นฉบับปี 2568 ซึ่งที่แตกต่างกันคือมีการขยายไปถึงการให้การบริการ เช่น ขอติดตั้งประปา ไฟฟ้า ขอเงินสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยง อย่างที่เราเคยได้ยืนว่ามีการเม้ม มีการจ่ายช้า จากนี้จะมาเจออภินิหารของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฏหมายสำคัญ หากเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนจะมีโทษ ผิดจริยธรรมร้ายแรง ขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าว อยู่ในชั้นกฤษฎีกา ชุดที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีตนและอีกหลายคนเป็นกรรมการร่วมกันตรวจอยู่ขณะนี้ พิจารณาไปได้กว่าครึ่งหนึ่งแล้ว หากเสร็จ ก็จะเสนอสภา และจะใช้ในต้นปี 2568
สาระหลักมีการกำหนดละเอียดยิบในการทำคู่มือ มีการจัดทำศูนย์บริการร่วมแบบเบ้ดเสร็จ หากการขออนุญาตทำสิ่งใดแล้วจำเป็นต้องขออนุญาตหลายใบ จากหลายหน่วยงานก็ให้ประชาชนดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานเดียว แล้วหน่วยงานนั้นจะไปดำเนินการต่อส่วนที่เหลือเอง ที่สำคัญคือ นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ทุกขึ้นตอนเพื่อลดการเผชิญหน้าของประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ลดโอกาสเรียกงินใต้โต๊ะ แต่จะสำเร็จได้ก็ต้องร่วมมือกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี