'ป.ป.ช.'เปิดผลประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใส ITA ทั่วไทยได้ 93.05 คะแนน ผ่านเกณฑ์ 7,696 หน่วยงาน กลุ่มองค์กรอิสระ-ศาล-อัยการ หน่วยงานรัฐสภาได้ 97.62 คะแนน จัดระดับผ่านดี ประธานป.ป.ช.เผยปี 68 จ่อขยายการประเมินหน่วยงานย่อย
เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานประกาศผลการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และพิธีมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 (ITA DAY 2024 : Transparency with Quality)
โดยพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. มอบรางวัลผลการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หรือ ITA AWARDS 2024 ซึ่งการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน ทั้งสิ้น 8,325 หน่วยงาน โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 และสิ้นสุดการประเมินในวันที่ 30 มิ.ย.2567 ภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานการประเมินและความถูกต้องน่าเชื่อถือทางวิชาการ โดยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทุกหน่วยงาน และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแล และขับเคลื่อนการประเมิน ITA เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในของบุคลากรภาครัฐ และการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ของประชาชนที่มาติดต่อหรือรับบริการหน่วยงานภาครัฐ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,369,235 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 362,989 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 461,440 คน และประชาชนผู้มาติดต่อหรือรับบริการหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 907,795 คน ซึ่งถือว่ามีผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินเป็นจำนวนมาก ในสัดส่วน ที่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐด้านคุณธรรมและความโปร่งใสได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ เช่นเดียวกันกับการดำเนินการในปีที่ผ่านมา อันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐจะได้นำไปปรับปรุง และพัฒนาหน่วยงานของตนเองได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ตอนนี้ ป.ป.ช.ไม่ต้องการเป็นมือปราบ แต่ใช้ป้องกันนำการปราบปราม ซึ่ง ITA จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในเรื่องนี้ โดยเครื่องมือ ITA ถูกออกแบบให้มีจุดมุ่งหมายหลักส่งเสริมธรรมาภิบาล และป้องกันการทุจริตเป็นหลัก สำหรับประเด็นคำถามมุ่งเน้นการป้องกันการทุจริต และป้องกันภาครัฐ หน่วยงานรัฐต้องปรับปรุง และพัฒนาตามการประเมินที่กำหนด ถ้าคะแนนดีสะท้อนการป้องกันการทุจริต และการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลถึงสถานการณ์การทุจริตและประพฤติมิชอบในองค์กรนั้น ๆ ได้ดีขึ้น แต่ถ้าคะแนนไม่ดี อันนี้สำคัญ ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานมีการทุจริต แต่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการดำเนินงาน การบริหารจัดการ และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ทั้งนี้ ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้ต้องการเพียงค่าคะแนน แต่กรอบของหลักการประเมินที่กำหนดขึ้น มาจากนโยบายการพัฒนาภาครัฐ แผนยุทธศาสตร์ มาตรฐานการดำเนินงาน และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรอบชี้นำทิศทางขององค์กรภาครัฐแต่ละแห่งตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการขยายการประเมินไปยังคู่ค้าของรัฐ ซึ่งดำนินการแล้วในกรุงเทพมหานคร และในปี 2568 มีเป้าหมายขยายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการประเมิน ITA ระดับส่วนงานย่อยภายในกับหน่วยงานอื่นเพิ่มเติมหลายแห่ง เช่น กรมสรรพากร กรมที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมศุลกากร เป็นต้น อย่างไรก็ดีนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐอีกเป็นจำนวนมาก นำเครื่องมือการประเมิน ITA ไปปรับปรุงและต่อยอดขยายผลการประเมินภายในหน่วยงานตัวเอง เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
โดยผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมระดับประเทศพบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 คะแนน ซึ่งมีทิศทางแนวโน้นที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 2.86 คะแนน และเมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนน หรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,696 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 92.44 % ของหน่วยงานทั้งหมด 8,325 หน่วยงาน โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 11.50 % และค่าเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ได้กำหนดให้คะแนนเฉลี่ยการประเมินคุณธรรมฯ ทุกหน่วยงานในประเทศต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 89 คะแนน ซึ่งปรากฎว่าผลการประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 นั้น ผ่านตามค่าเป้าหมาย ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้
โดยผลการประเมินที่น่าสนใจคือ หน่วยงานส่วนกลางที่มีผลการประเมิน “ผ่านดีเยี่ยม" แบ่งเป็นกลุ่มกรมหรือเทียบเท่า ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติได้ 99.31 คะแนน กองทัพเรือ 99.21 คะแนน ธนาคารออมสิน 98.96 คะแนน การประปานครหลวงได้ 98.84 คะแนน องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ 98.46 คะแนน กรมการศาสนาได้ 98.30 คะแนน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ 97.94 คะแนน
กลุ่มหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ 97.27 คะแนน และกลุ่มรัฐวิสาห กิจ คือ การยาสูบแห่งประเทศไทย ได้ 97.22 คะแนน
ส่วนส่วนผลการประเมินในรายกระทรวง ผลพบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้ 93.85 คะแนน กระทรวงแรงงาน 93.69 คะแนน กระทรวงการคลัง 93.29 คะแนน กระทรวงพลังงาน 92.92 คะแนน กระทรวงวัฒนธรรม 92.37 คะแนน กระทรวงมหาดไทย 92.13 คะแนน กระทรวงยุติธรรม 91.42 คะแนน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 90.88 คะแนน กระทรวงพาณิชย์ 90.67 คะแนน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 90.5 1 คะแนน สำนักนายกรัฐมนตรี 90.14 คะแนน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 90.11 คะแนน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 89.69 คะแนน กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 89.66 คะแนน กระทรวงสาธารณสุข 89.01 คะแนน กระทรวงกลาโหม 88.91 คะแนนกระทรวงการต่างประเทศ 88.7 คะแนน
หน่วยงานไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวง หรือทบวง 88.24 คะแนน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 87.7 คะแนนกระทรวงคมนาคม 86.67 คะแนนและกระทรวงศึกษาธิการ 82.66 คะแนน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี