‘กมธ.อว.’แถลงหลังเชิญ CPF หารือปม‘ปลาหมอคางดำ’ ย้ำยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องต้นตอการแพร่ระบาด เตรียมเชิญ 11 บริษัทส่งออก-อธิบดีกรมประมง เข้าแจงสัปดาห์หน้า
1 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการเชิญ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เข้าหารือเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
นายฐากร กล่าวว่า กมธ. ได้หารือกับกรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย จากการที่อธิบดีกรมประมงได้ทำหนังสือสอบถามเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งกรมบัญชีกลางแจ้งว่า ได้ตอบหนังสือไปว่า ในแนวทางปฏิบัติสามารถใช้ในส่วนเงินทดรองราชการ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ตามความเหมาะสม
ขณะที่ CPF ได้เข้าชี้แจงโดยยืนยันตามเอกสารว่า ทั้งหมดที่บริษัทได้ดำเนินการทดลอง คือนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่เป็นลูกปลาขนาดเล็กจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งเมื่อนำเข้ามาที่ท่าอากาศยานได้ตายไปทั้งหมด 1,400 ตัว เหลือเพียง 600 ตัว และเมื่อนำทั้งหมด 600 ตัวไปอยู่ในบ่อพักปูนที่กำหนดไว้ ปลาหมอคางดำก็ได้ทยอยตายเรื่อยๆ จนเหลือ 50 ตัว และกระบวนการทั้งหมดนี้ ได้นำส่งปลาหมอคางดำให้กับกรมประมงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนมติของคณะกรรมาธิการฯ คือต้องการหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกในส่วนที่มีข่าวออกไปว่า มี 11 บริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำไปกว่า 17 ประเทศ จะมีการเชิญบริษัททั้งหมดนี้ เข้ามาชี้แจงว่ามีการนำเข้ามาอย่างไร รวมถึงอธิบดีกรมประมง เนื่องจากเคยชี้แจงว่าเป็นการกรอกเอกสารผิดนั้นจริงหรือไม่ในสัปดาห์หน้า
นายฐากร ยืนยันว่า กมธ.พิจารณาด้วยข้อเท็จจริงตามเอกสารและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ได้มีอคติกับใครในการพิจารณาเรื่องนี้ และภายหลังจากได้ข้อสรุป จะส่งให้กับทางรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป
นายฐากร ระบุว่า ไม่ได้ตัด CPF ออกจากข้อสงสัย เรื่องต้นตอของการแพร่ระบาด แต่ต้องซักถามจาก 11 บริษัท ที่ไม่ได้นำเข้า แต่กลายเป็นผู้ส่งออกได้อย่างไร เพื่อหาข้อสรุปให้สอดคล้องกับเอกสารที่มีการชี้แจง โดย CPF ยืนยันว่า ขั้นตอนการตัดครีบปลา และการเก็บซากปลาไปตรวจสอบ ต้องดำเนินการโดยกรมประมง
สำหรับกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เคยเชิญ CPF เข้ามาชี้แจง แต่กลับส่งมาเพียงเอกสารนั้น นายฐากร ระบุว่า ในการประชุมวันนี้ทั้ง นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ในฐานะประธานคณะอนุฯ รวมถึงนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะรองประธานคณะอนุฯ ได้มีการซักถามครบทุกประเด็น และได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจาก CPF เช่น ใบขออนุญาตการทำวิจัยในปี 2553 ด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี