‘อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ’เดือด‘กรมประมง’ไม่มีเอกสารชี้แจงผลสำรวจความเสียหายเกษตรกร ขณะที่สถาบันการศึกษามีตัวเลขชัด มองไม่คิดจะฟ้องร้องแทนประชาชน ทำไปก็ไม่ได้ใช้ ‘ณัฐชา’เผยหลัง 15 ส.ค.สรุปผลแล้วจะแถลงต่อสังคม
8 สิงหาคม 2567 ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 9 โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธานอนุ กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ก่อนการประชุม นายณัฐชา ระบุว่า วันนี้มีการเชิญหน่วยงานที่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายมาร่วมให้ข้อมูล ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจไปแล้วอย่างน้อยตำบลละ 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเราจะทำให้ภาครัฐได้รับรู้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างแค่ไหน และหาแนวทางดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการช่วยเหลือประชาชน
นายณัฐชา ยอมรับว่า จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐถึงสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ แต่ยืนยันว่ากระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติจะทำให้ชัดเจน คาดว่าจะแถลงสรุปผลการทำงานได้ภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะส่งสรุปเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่ควรต้องเอาผิดต้นตอ ผู้ก่อเรื่อง หรือผู้มีส่วนร่วมกับปัญหาที่เกิดขึ้น ให้มารับผิดชอบในส่วนนี้ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐจะไปดำเนินการต่อหรือไม่ ทางอนุกรรมาธิการไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้ แต่ยืนยันว่าจะสรุปผลออกมาทั้งหมดแล้วให้ประชาชนตัดสินใจ
สำหรับบรรยากาศในห้องประชุม ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลสำรวจการระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น ปลาหมอคางดำ กับความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้านการประมงของ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งพบปรากฏการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำ ในปี 2562 แต่จากการสรุปพบว่าในปี 2559 สร้างความเสียหายต่อรายได้ประมงของชุมชนลดลง 5%, ปี 2560 สร้างความความเสียหายต่อรายได้ประมงของชุมชนลดลง 10%, ปี 2561 สร้างความเสียหายต่อรายได้ประมงในชุมชนลดลง 15% ปัจจุบันคาดการณ์ความเสียหายต่อรายได้ไม่ต่ำกว่า 90% โดยอ้างอิงความเสียหายจากสื่อในพื้นที่
ขณะที่ผู้แทนทางกรมประมง ชี้แจงว่าตั้งแต่ปี 2560 มีสำรวจผลความเสียหายของเกษตรกร โดยสำรวจกว่า 500 ฟาร์มจาก 3 อำเภอ จ.สมุทรสงคราม เสียหายประมาณ 150-350 ล้านบาทต่อปี แต่นายณัฐชา บอกว่าถ้าศึกษาข้อมูลมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ก็ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ไม่รู้ว่ากรมประมงทำอะไรอยู่ และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ที่สำคัญผลสำรวจที่ชี้แจงวันนี้ เมื่อขอดูเอกสารก็ไม่มี ไม่ได้เอามา แล้วจะให้ทำอย่างไร
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานอนุ กมธ.ฯ ซึ่งเข้ามาประชุมทีหลัง กล่าวต่อผู้แทนกรมประมงที่มาชี้แจงวันนี้ว่า เมื่อมาชี้แจงแต่ไม่มีเอกสารมา ควรเชิญออกจากห้องประชุมดีหรือไม่ หรือให้โทรไปแจ้งที่หน่วยงานให้ส่งแฟกซ์ข้อมูลมา การประชุมกินภาษีของชาวบ้าน แต่มาแล้วไม่พร้อม เสียเวลา จะเสียชื่ออธิบดีด้วย ตนอุตส่าห์เคยชมไปตั้งเยอะ
หลังจบการประชุม นายณัฐชา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า วันนี้เน้นการประเมินมูลค่าความเสียหายเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องการฟ้องดำเนินคดีมีสภาทนายความมาร่วมสังเกตการณ์ และดำเนินการเพื่อที่จะเป็นตัวแทนประชาชนในการฟ้องร้อง ซึ่งในหลายจังหวัดก็เริ่มแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือถ้าเรื่องขึ้นสู่ศาลจะต้องมีตัวเลขมูลค่าความเสียหาย แต่หน่วยงานรัฐอย่างกรมประมง กลับไม่รอบคอบ ไม่มีการวิเคราะห์หรือพิจารณามูลค่าความเสียหายของเกษตรกรแม้แต่ครั้งเดียว แต่มีสิ่งที่เรียกว่าคล้ายรายงานประเมินความเสียหาย คือรายงานการประชุมขออนุมัติวงเงิน 11.4 ล้านบาท เมื่อปี 2561 เพื่อไปช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 20 บาท ในขณะนั้น โดยระบุความเสียหายราวปีละ 150-350 บาท ซึ่งถือเป็นเพียงข้อสรุปที่ประเมินจากเกษตรกร แต่ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ก็รู้สึกเสียใจ เพราะกรมประมงเกี่ยวข้องโดยตรง และต้องสู้แทนเกษตรกร แต่การต่อสู้ครั้งนี้กลายเป็นการต่อสู้ที่ไม่เต็มที่
ในขณะที่หน่วยงานวิจัยอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประเมินความเสียหายย้อนหลังเอาไว้ราวปีละ 130 ล้านบาท จากปัญหาใน 1 ตำบลเท่านั้น ขณะนี้มูลค่าความเสียหายจนถึงปัจจุบันแพร่กระจายไป 17 จังหวัด 40 อำเภอ มีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเดือดร้อนกว่า 40,000 ราย แต่กรมประมงไม่เคยประเมินมูลค่าความเสียหาย จากนี้ต้องขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยประเมินมูลค่าความเสียหาย เพราะในอนาคตอันใกล้ต้องใช้ข้อมูลนี้ในเรื่องคดีความอย่างแน่นอน
“มีแต่การสำรวจและสอบถามเกษตรกรในเบื้องต้น แต่ไม่มีใครหยิบประเด็นเรื่องนี้เป็นเรื่องหลัก อาจเป็นเพราะไม่ได้คิดจะฟ้องร้องเอกชน ดังนั้น มูลค่าความเสียหายตรงนี้ไม่รู้ว่าดำเนินการไปแล้วจะเอาไปใช้ในส่วนไหน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลนี้ก็ได้” นายณัฐชา กล่าว
สำหรับการประชุมของอนุ กมธ.ฯ ถือว่าครบทุกมิติ เพราะเราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ได้สืบหาข้อเท็จจริงทุกประเด็นที่สังคมสงสัย ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ส่วน กมธ.ชุดใหญ่ มีการเชิญบริษัทเอกชนต่างๆ เข้าชี้แจง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะสรุปหลังจากวันที่ 15 ส.ค. 67 แล้วจะประกาศให้ประชาชนทราบอีกที เพื่อให้ข้อสงสัยได้รับความกระจ่าง ส่วนสิ่งไหนที่ไม่ได้รับข้อมูล เพื่อให้มีคำถามในสังคม และเกิดแรงกดดันว่าจะเปิดหรือไม่เปิดข้อมูล
“ตอนนี้เราขยับไปไกลกว่ากระทรวงเกษตรฯ เราต้องการเป็นตัวแทนประชาชน แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะผู้ปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของประเทศ กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อจากนั้น หรือแม้การประเมินมูลค่าความเสียหาย อยากฝากข้อมูลไปถึง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ รมว.เกษตรฯ ด้วย ที่สำคัญขอให้เอกชนแจ้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ 2 ล้านกิโลกรัม ให้ชัดเจนด้วย เพราะประชาชนรู้แค่ 75 จุดรับซื้อของภาครัฐ แต่ต้องใช้เอกสารหลายอย่าง จึงอาจหันไปขายเอกชนแทน แต่ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ขอให้ความกระจ่างตรงนี้ด้วย เพราะประชาชนฝากแจ้งมา” นายณัฐชา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี