"นิพิฏฐ์"เล็คเชอร์"ยุบพรรค"มาจากเหตุใดได้บ้าง? ชี้ล้มล้างการปกครองไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธเสมอไป
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Zoom กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่นำไปสู่การถูกยุบพรรคตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ว่า เรื่องนี้ต้องอธิบายกันยาว เพราะมีหลายหลักที่เกี่ยวข้อง คือ 1.หลักกฎหมายทั่วไป ก็เหมือนกับคดีคดีหมิ่นประมาท โดยเทียบระหว่างหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ว่าแตกต่างกันอย่างไร
2.ระบอบการปกครอง ซึ่งเรื่องนี้อธิบายยาก ตนพยายามบอคนรุ่นใหม่หรือแม้แต่คนรุ่นเดียวกับตนเองว่าการคิดเรื่องนี้ต้องคิดให้ตลอดสาย ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมี 3 ระบบ ได้แก่ ระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และระบบกึ่งประธานาธิบดี โดยระบอบการปกครองของไทยคือประชาธิปไตยระบบรัฐสภาและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถตัดพระมหากษัตริย์ออกจากระบอบการปกครองได้ สถานะของพระมหากษัตริย์จะอยู่ตรงไหน จะเป็นแบบอังกฤษ หรือสวีเดน หรือญี่ปุ่น แต่จะตัดพระมหากษัตริย์ออกไม่ได้
3.การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ จะคุ้มครองในระดับไหน จึงเป็นที่มาของกรณีการโพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ที่ตนระบุว่า ป.อาญา มาตรา 112 สามารถแก้ไขได้ ใม่ว่าจะแก้ให้อัตราโทษสูงขึ้นหรือลดลงก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองคือการที่ไม่สามารถตัดพระมหากษัตริย์ออกจากระบอบการปกครองได้ และจะย้ายการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไปอยู่ในหมวดเดียวกับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปก็ไม่ได้ เพราะหระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง
ดังนั้น การเสนอนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 แล้วทำให้พรรคการเมืองที่เสนอนั้นถูกยุบก็อาจเป็นไปได้ เช่น สมมติตนมีพรรคการเมือง หาเสียงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ไม่มีการคุ้มครองหระมหากษัตริย์ หรือหาเสียงว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ จะทำได้หรือไม่? แน่นอนว่าทำไม่ได้ ซึ่งการล้มล้างการปกครองไม่จำเป็นเฉพาะต้องใช้ปืนหรือรถถัง แต่ยังทำได้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ทำให้ผิดไปจากระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ว่าพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากถึง 14 ล้านเสียง จึงไม่ควรถูกยุบพรรค ในความเป็นจริงการยุบพรรคก็มีมาโดยตลอด ซึ่งความถูกต้องกับความถูกใจนั้นต่างกัน บางเรื่องแม้เราจะชอบแต่มันขัดต่อกฎหมาย การได้รับเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าประชาชนเลือกมาให้ทำผิดกฎหมาย เพราะในเมื่อมาตามรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ จะไปเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองที่ล่อแหลมจะเป็นอันตรายไม่ได้ ประชาชนเลือกมาไม่ได้หมายความว่าจะไปทำอะไรได้ทุกเรื่อง
“อันนี้เป็นความรู้ที่ประชาชนต้องเข้าใจ ก็คือการยุบพรรคมันอาจจะมีเป็นร้อยครั้งร้อยพรรคอะไรก็ว่าไป แต่พรรคที่ตั้งขึ้นมาแล้วไม่มีสาขาครบทั้ง 4 ภาค อันนี้มันก็ต้องยุบ และยุบแบบนี้เยอะ ผมว่ามีประเด็นอื่นสัก 99% เช่น มีสมาชิกไม่ครบ ไม่ทำงบการเงิน ไม่แสดงกิจกรรม อย่างนี้มันต้องยุบอยู่แล้วตามกฎหมาย ถ้าผมจะพูดหยาบๆ ก็คือบางทีเราตั้งพรรค เรามักง่ายเกินไป ไปจดทะเบียนตั้งพรรคมา หาสมาชิกไม่ได้ เอาเงินอุดหนุนไปแล้วไม่ใช้ตามวัตถุประสงค์ มันก็ต้องถูกยุบ ธรรมดา! แต่ประเทศอื่นก็อาจไม่เป็นอย่างเรา” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า การยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แต่กรณียุบพรรคเพราะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือเพราะได้อำนาจมาโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เช่น กรรมการบริหารพรรคไปซื้อเสียง ตนเห็นว่าน่าจะมีเพียงราวๆ ร้อยละ 1
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=ZYKIJSy0WmE
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี