สภาฯถกนัดพิเศษโหวตเลือกนายกฯคนที่31 เปิดให้อภิปรายชี้แนะ ห้ามแตะ‘คุณสมบัติ’ ด้าน‘ไทยสร้างไทย’ชี้เปิดซิงรอบ 10 ปีเลือกนายกฯไร้‘สว.’เอี่ยว
16 ส.ค.2567 เมื่อเวลา10.00น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่1) เป็นพิเศษ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยนายวันมูหะมัด ได้ชี้แจงขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการโหวตเลือกนายกฯ โดยใช้วิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคลตามลำดับรายชื่อสส. เพื่อลงคะแนน
จากนั้นในเวลา10.11น. นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา159 โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ทั้งนี้น.ส.แพทองธาร แคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย ได้รับการเสนอชื่อเพียงรายเดียว ไม่มีบุคคลอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯจากพรรคอื่น
แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ลุกขึ้นเสนอให้มีการเปิดอภิปรายผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ แต่ทางฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วย ควรให้มีการโหวตลงคะแนนเลย เนื่องจากไม่เป็นไปตามระเบียบวาระ อาทิ นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมฯ ดังนั้นควรให้ขั้นตอนกระบวนการการเลือกนายกฯแล้วเสร็จ จนมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แล้วค่อยใช้โอกาสนั้นอภิปรายถึงคุณสมบัติ
ขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิป2ฝ่ายตกลงกันก่อนหน้านี้ว่าจะอภิปรายในเชิงเสนอแนะ หรือแนะนำเท่านั้น โดยขอให้ใช้เวลาไม่เกิน20นาที ดังนั้นหากจะมีการอภิปราย ต้องอยู่ในประเด็น หากก้าวก่ายไปเรื่องอื่น อาจมีการประท้วง จึงอยากให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประนีประนอม
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะฝ่ายค้าน ยืนยันว่า จะไม่อภิปรายถึงคุณสมบัติต่างๆของนายกฯ แต่จะขออภิปรายเพียงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีนายกฯมาบริหารประเทศเท่านั้น
เมื่อมีความเห็นแตกออกเป็น2ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีการอภิปราย และไม่ต้องการให้เปิดอภิปราย ควรดำเนินการตามระเบียบวาระ เข้าสู่การโหวตลงคะแนน ทางประธานสภาฯ ชี้แจงว่า จะไม่ใช่สิทธิ์ชี้ขาดว่าจะเลือกแบบใด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชุมของสภาฯ
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ มีผู้รับรองถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ถือว่าเป็นญัตติแล้ว จึงสามารถอภิปรายได้ ถือเป็นหลักทั่วไปที่ทำมาตลอดในสภาฯ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า ไม่ใช่ญัตติ เนื่องจากการความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอตามรัฐธรมนูญ ไม่ใช่เป็นการเสนอตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ จึงไม่จำเป็นต้องอภิปราย ดังนั้นการวินิจฉัยของประธานที่ประชุมครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป
ทั้งนี้เมื่อมีการเปิดให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานที่ประชุม เห็นควรให้เป็นไปตามที่วิป2ฝ่ายตกลงกันก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดการประนีประนอม คือเปิดให้มีการอภิปรายชี้แนะ เป็นเวลาไม่เกิน20นาที โดยไม่มีการอภิปรายแตะไปถึงคุณสมบัติ เนื่องจากสภาฯไม่มีหน้าที่ตัดสินเรื่องนี้ได้ เพราะมีองค์กรดำเนินการอยู่
จากนั้นได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย โดยนายฐากร ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรกว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เรากำลังขาดนายกฯ ที่ต้องหลุดจากตำแหน่งไป กราบเรียนว่าวันนี้การเมืองของเราเข้าอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าทางตันของประเทศ จึงเสนอวาระเร่งด่วนคัดเลือกนายกฯ เพื่อเข้ามาบริหารประเทศต่อไป สภาฯวันนี้เป็นครั้งแรกในรอบ10ปีที่สภาฯจะมีสิทธิ์ใช้อำนาจเลือกนายกฯด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านวุฒิสภา เดินทางมาถึงจุดขาลงด้านเศรษฐกิจ วันนี้ภูเขาอีกลูกหนึ่ง คือภูเขาทางการเมืองเข้ามาทับซ้อน จนประชาชนจะทนอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกร้องจากนายกฯ จะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยขบวนการนิติสงครามที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนชั้นนำ แม้ว่าสส.จะลงมติอย่างไร แต่ภารกิจของสภาฯและนายกฯคนต่อไปคือ การแก้ปัญหาประเทศที่ต้นตอ ถ้านับเฉพาะคดียุบพรรคก็มีหลายครั้ง หลายคนล้วนเป็นเหยื่อการตัดสินทางการเมืองที่ให้อำนาจล้นเกินแก่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องวางอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติจนล้นเกิน เชื่อว่าทุกคนเห็นปัญหาเช่นเดียวกันว่า หลายคนไม่สมควรถูกประหารชีวิตทางการเมือง มาตรฐานทางจริยธรรมควรเป็นเงื่อนไข กติกาที่พวกเราตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่กติกาที่ให้องค์กรตุลาการมาวินิจฉัยโดยใช้มาตรวัดทางกฎหมาย โดยมาตรวัดมาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องที่แต่ละคนเห็นไม่เหมือนกัน ต้องใช้เสียงประชาชนมาตัดสิน 7ปีที่ผ่านมาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซ้ำร้ายยังถูกไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งจากกล่มคนชั้นนำทุบทำลายสส.ที่ได้รับอำนาจสูงสุดจากประชาชน
ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่คือสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ ไม่ให้เกิดสุญญากาศการเมือง ภารกิจสำคัญสส.คือ เชิญชวนสานต่อภารกิจ ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้อำนาจศาลรธน. องค์กรอิสระ เป็นไปตามหลักสากล ปรับกติกาพรรคการเมืองให้เกิดขึ้นง่าย ตายยาก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ระบอบประชาธิปไตย การลงมติของพรรคประชาชนจะไม่เห็นชอบการเลือกนายกฯ เพราะต้องสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี