อ่านหมาก"พลังประชารัฐ" เกมตั้งครม.ที่"อุ๊งอิ๊งค์-เพื่อไทย"ต้องระวัง "สมชัย"ชี้พลาดอาจซ้ำรอย"เศรษฐา"
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โฟนอินให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ ในเรื่องบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรี ว่า หากมองด้วยสายตาของคนนอกอาจเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นรอง จากความพยายามตื๊อเพื่อขอเข้าร่วมรัฐบาล มีการออกแถลงการณ์ มีการประชุมกรรมการบริหารพรรค และเมื่อยังไม่ส่งใบกรอกประวัติไปให้ก็ยังพยายามติดตามต่อเนื่อง
ภาพเหล่านี้ทำให้หลายคนบอกว่าพรรคพลังประชารัฐสิ้นลายแล้ว ต้องยอมพรรคเพื่อไทยทุกอย่าง แต่หากมองในแง่กระบวนการขั้นตอน พรรคพลังประชารัฐนั้นกระทำตามสิ่งที่ระบุไว้ในกฎหมายแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว โดยในทางกฎหมาย เมื่อพรรคการเมืองจะเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จะต้องมีการประกาศชื่อให้สมาชิกทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้พูดคุยให้ความเห็นหรือทักท้วง เพื่อให้ได้รายชื่อที่เหมาะสม
และหากไปดูข้อบังคับภายในพรรคพลังประชารัฐ ในข้อที่ 92 ได้กล่าวถึงกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง คือต้องประกาศรายชื่อตัวแทนพรรคที่จะส่งไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สมาชิกพรรคทราบโดยทั่วกัน ก่อนนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งการออกแถลงการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันส่งรายชื่อ 4 บุคคลเข้าร่วมเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็คือการประกาศให้สมาชิกพรรคได้ทราบโดยทั่วกัน เช่นเดียวกับการประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อรับรองทั้ง 4 คน ก็เป็นการทำตามกฎหมาย
“ตอนนี้เรื่องก็ไปถึงทางเพื่อไทยแล้ว ว่าเพื่อไทยจะดำเนินการอย่างไร ทีนี้ถ้าเพื่อไทยบอกว่าฉันเองมีสิทธิ์จะหยิบชื่อไหนก็ได้ใน 4 ชื่อ ก็ไม่ได้แปลว่าต้องหยิบทั้ง 4 ชื่อนะ สิ่งที่พูดมันก็ถูกว่าเพื่อไทยมีสิทธิ์หยิบชื่อใดก็ได้ เพราะท่านเองท่านเป็นนายกฯ ท่านต้องรับผิดชอบ แต่ว่าโดยมารยาททางการเมือง คือเมื่อคุณจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันแล้วคุณจะต้องให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าหากว่าคุณไม่หยิบชื่อใด คุณก็จะต้องส่งชื่อคืนมาด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง เช่น ตรวจสอบแล้วไม่ผ่านคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น แล้วก็ให้พรรคเขาเสนอชื่อใหม่ขึ้นไป” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า แต่หากเกิดกรณีมีคนในพรรคพลังประชารัฐไปเจรจาต่อรองอย่างไม่เป็นทางการกับพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะขอให้บุคคลใดได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แล้วในส่วนที่ไมได้เป็นก็ให้ใส่ชื่อบุคคลอื่นเข้าไปแทน ในเบื้องต้นก็จะเป็นปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐก่อน โดยบุคคลที่กระทำการดังกล่าวจะถือว่าทำผิดวินัยพรรคและอาจฝ่าฝืนข้อบังคับของพรรค ซึ่งกรรมการบริหารพรรคอาจมีมติขับบุคคลดังกล่าวออกจากพรรคได้
ซึ่งการขับสมาชิกออกจากพรรค ที่ผ่านมาจะเห็นใน 2 รูปแบบ คือ 1.ขับออกเพื่อให้ไปทำงานการเมืองที่อื่น แบบนี้เรียกว่าขับกันเล่นๆ เป็นพิธี คนที่ถูกขับออกก็ไปหาพรรคการเมืองอื่นอยู่ให้ได้ภายใน 30 วัน กับ 2.ขับออกแบบมีความผิดติดตัว แบบนี้อาจเป็นการตัดโอกาสในอนาคต เพราะ จะเป็นการประกอบหลักฐานโดยใช้คำว่าไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ก็จะเป็นปัญหาในเชิงจริยธรรม ซึ่งจะอยู่ในมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่าต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
ดังนั้นหากเกิดกรณีที่พรรคเพื่อไทยเลือกบุคคลในพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งอยู่ในรายชื่อที่เป็นมติพรรค แต่อีกส่วนไปเลือกบุคคลอื่น บุคคลที่ถูกเลือกนั้นก็อาจถูกขับออกจากพรรคโดยมีข้อกล่าวหาทางจริยธรรมติดตัว และอาจนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป เช่น ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมือง และหาก ป.ป.ช. มีความเห็นไปในทางเดียวกัน ก็จะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา หากศาลรับเรื่อง บุคคลนั้นก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และหากศาลตัดสินว่าผิดก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง
“ถามว่ามันจะลามไปยังพรรคเพื่อไทยไหม? ผมก็ใช้คำว่าก็ต้องพึงระวังให้ดี เพราะพอสมมติว่าปิดฉากสุดท้ายว่าบุคคลดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางด้านจริยธรรมต้องพ้นจากตำแหน่ง บุคคลที่เสนอ บุคคลที่แต่งตั้ง ก็อาจจะมีสิทธิ์โดนอะไรบางอย่างตามมาไหม? ก็เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังไว้ ไม่ว่าจะออกมาทางใดก็แล้วแต่ ทางที่ปลอดภัยที่สุดก็คือตามมติพรรค 4 ชื่อไป” นายสมชัย ระบุ
นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า หากพรรคเพื่อไทยตรวจสอบพบว่ารายชื่อที่เสนอมาบางคนไม่ผ่านคุณสมบัติ หรือเกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ กระบวนการที่ถูกต้องคือการส่งชื่อคืนไปที่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้กรรมการบริหารมีมติส่งรายชื่อบุคคลอื่นไปแทน จะเป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาและปลอดภัยที่สุด อีกทั้งเป็นมารยาททางการเมืองที่เหมาะสมเพราะการร่วมรัฐบาลก็ต้องให้เกียรติกันแบบนี้ แต่หากทำนอกเหนือไปจากนี้ ก็อาจเกิดช่องว่างที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับทั้งคนแต่งตั้งและคนที่ถูกแต่งตั้งได้
เช่น หากกรณีพรรคเพื่อไทย หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการให้มีชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ก็จะต้องแจ้งกลับไปยังพรรคพลังประชารัฐและต้องอธิบายว่าเหตุผลคืออะไร จากนั้นหากพรรคพลังประชารัฐเคารพการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล ก็อาจจะส่งชื่อบุคคลอื่นแทน ส่วนคำถามว่า นายกฯ สามารถตัดชื่อคนที่ไม่ต้องการออกแล้วหาคนอื่นมาแทนได้หรือไม่ เรื่องนี้สามารถทำได้เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ และที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าโควตารัฐมนตรีมีในส่วนของคนนอกอยู่
อย่างไรก็ตาม การจะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นรัฐมนตรีก็ต้องอยู่ในส่วนโควตาของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ของพรรคร่วมรัฐบาล หากทำแบบนี้ก็ไม่มีปัญหาใดๆ จะให้ใครมาเป็นก็ได้ แต่หากไปใช้โควตาของพรรคร่วมรัฐบาล แต่งตั้งคนนอกที่พรรคนั้นไม่ได้เสนอ แบบนั้นเรื่องจะยาว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความลำบากใจพอสมควรว่านายกฯ หรือพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร ที่สำคัญที่สุด แม้ภายหลังทุกอย่างจะนิ่งแล้ว รายชื่อที่เตรียมทูลเกล้าฯ ก็ยังต้องระมัดระวังว่ามีคนสีเทาๆ อยู่ใน ครม. หรือไม่
ซึ่งหากมีก็อาจถูกร้องเรียนซ้ำรอยกรณีของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแต่งตั้งบุคคลที่รู้หรือควรรู้ว่ามีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือมีปัญหาด้านมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยสรุปแล้วนายกรัฐมนตรีคือบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ในขณะที่ผู้จัดการรัฐบาลไม่มีความเสี่ยงใดๆ จะชงอะไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่คนรับผิดชอบคือนายกฯ แล้วในเส้นแบ่งของจริยธรรมกับกฎหมาย ใช้คำว่าแม้กฎหมายบอกว่าไม่ผิดแต่ก็อาจผิดจริยธรรมได้ เพราะจริยธรรมอยู่สูงกว่ากฎหมาย
ส่วนคำถามว่า พรรคพลังประชารัฐดูเหมือนจะแพ้พรรคเพื่อไทย แต่จริงๆ แล้วไม่แพ้ใช่หรือไม่? ตนมองว่าต้องดูกันยาวๆ ว่าสิ่งที่เขาจะทำคืออะไร เห็นกระบวนการแล้วคนนอกบอกว่าดูเหมือนหงอ พรรคพลังประชารัฐพยายามง้อแล้วง้ออีก แต่ในเชิงขั้นตอนตามกฎหมาย ในฐานะที่ตนพอได้อ่านกฎหมายมาบ้าง บอกได้เลยว่าเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว แต่ถามว่าพรรคพลังประชารัฐต้องการอะไรหรือเปล่า เรื่องนี้ตนไม่รู้ อาจจะเป๊ะแบบซื่อๆ ก็ได้
“ก็อยากให้ตั้งรัฐบาลได้เร็วๆ เพราะว่าประชาชนก็รู้สึกว่าอยากจะได้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามมองทุกอย่างให้รอบคอบสักนิด อะไรที่สุ่มเสี่ยงก็อย่าไปทำ โดยประเด็นเรื่องการครอบงำพรรคก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ก็ต้องพึงระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วแทนที่จะอยู่ได้นานก็จะอยู่ไม่ได้นาน ประเทศก็เสียโอกาสต้องมาตั้งรัฐบาลกันใหม่ อันนี้ก็เป็นปัญหาของประเทศว่ามันไม่เดินก้าวหน้าไปสักทีหนึ่ง” นายสมชัย ฝากทิ้งท้าย
ชมคลิปเต็มได้ที่นี่ (นาทีที่ 27.35-41.00) : https://www.youtube.com/watch?v=ymRV4IjSR28
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี