"สามารถ"ถาม"ทักษิณ"ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าเอกชนมา ให้รัฐเอาเงินที่ไหน? ชี้"เก็บเงินรถวิ่งเข้าเมือง"ก็ทำจริงไม่ได้
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปปาฐกถาแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Dinner Talk Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 โดยตอนหนึ่งเสนอแนะให้เวนคืนกิจการรถไฟฟ้าจากเอกชนมาเป็นของรัฐ เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ ว่า ตนเข้าใจว่าเรื่องนี้หมายถึงการซื้อสัมปทานคืนจากเอกชน
ซึ่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง หรือก่อนหน้านั้นก็ยังเคยหาเสียงไว้ที่ 15 บาท แต่ไม่สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันสามารถทำได้ 2 สาย คือสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน กับสายสีม่วง เส้นทางเตาปูน-บางใหญ่ เพราะทั้ง 2 สายรัฐลงทุนเองทั้งหมด แต่สายอื่นๆ ที่เหลือเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน การจะไปลดเหลือ 20 บาท ในมุมเอกชนที่ได้รับสัมปทานย่อมต้องไม่ยอมเพราะรายได้ลดลง เว้นแต่ต้องมีมาตรการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป
โดยหากทำกับรถไฟฟ้าทุกสาย รัฐต้องจ่ายชดเชยให้เอกชนไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงมีแนวคิดว่าหากเป็นแบบนั้นก็ไปซื้อสัมปทานคืนมา แต่จริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 2547 ก็เคยมีแนวคิดแบบนี้โดยหวังว่าจะลดค่าโดยสารให้เหลือ 15 บาทตลอดสาย แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จทั้งที่เวลานั้นมีรถไฟฟ้าเพียงสายเดียวคือสายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน แต่ปัจจุบันมีถึง 8 สาย แล้วจะใช้เงินจากที่ใดไปซื้อ
“แล้วการไปซื้อเป็นการไปอุ้มเอกชนหรือเปล่า? เป็นการไปเอื้อเขาไหม? อันนี้ต้องระวังให้ดี เพราะว่าเอกชนมีบางสายที่เขาขาดทุน ผู้โดยสารยังน้อยอยู่ เขาต้องแบกภาระความเสี่ยงเอง แล้วเราไปเอาความเสี่ยงเขามาเป็นของรัฐมันเหมาะสมหรือไม่? แล้วเงินจะไปหาที่ไหน? ก็มีแนวคิดขึ้นมา หลังจากแสดงวิสัยทัศน์ รัฐมนตรีสุริยะ (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) บอกว่าต้องทำให้ได้ รับมา เขาจะเก็บเงิน ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หาเงินมาจากเก็บค่าธรรมเนียมรถติดที่จะขับรถเข้าเมือง เช่นย่านสีลม สุขุมวิท ตรงนี้จะได้เงินพอหรือไม่?” นายสามารถ กล่าว
อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยหรือกรุงเทพฯ เคยทำการศึกษามาหลายครั้งแล้ว พบว่ามาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถเข้าเมืองไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะหากจะระบุว่าพื้นที่ใดใช้รถส่วนตัวเข้าไปแล้วต้องจ่ายเงิน พื้นที่นั้นก็ต้องมีรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ที่ดีให้บริการ เพื่อให้ประชาชนจอดรถส่วนตัวไว้นอกพื้นที่แล้วเปลี่ยนมาใช้บริการรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ดังนั้นต้องเตรียมสร้างที่จอดรถไว้ด้วย อีกทั้งสภาพเมืองอย่างกรุงเทพฯ ยังมีตรอกซอกซอยจำนวนมาก คนใช้รถส่วนตัวก็สามารถหาทางหลบเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมได้
ขณะที่เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ แต่ก็มีอีกหลายเมืองที่ทำไม่สำเร็จเช่นกัน ดังนั้นตนก็เป็นห่วงว่าประเทศไทยจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนก็ต้องการให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง และหากทำ 20 บาทได้ตลอดสายก็เป็นเรื่องนี้ แต่ต้องดูด้วยว่าหากไปซื้อสัมปทานจากเอกชนมาให้รัฐดูแล ในอนาคตหากต้องการสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่มเติม รัฐจะชวนเอกชนมาร่วมลงทุนอีกหรือไม่ จะไปชวนมาแล้วภายหลังไปซื้อคืนแบบนั้นก็คงไม่ได้ นโยบายต้องชัดเจน รัฐก็ต้องลงทุนเองทั้งหมด
แต่หากเอกชนไม่มาร่วมลงทุน โอกาสขยายเส้นทางรถไฟฟ้าออกไปรอบนอกจะเกิดขึ้นอย่างล่าช้า การที่เอกชนมาร่วมลงทุนจึงเป็นข้อดีเพราะทำให้ขยายเส้นทางได้เร็ว แต่อีกด้านก็มีข้อเสียเนื่องจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง รัฐบาลจึงต้องคิดให้ดี อย่างไรก็ตาม หากถึงวันที่รถไฟฟ้าสายเดิมที่มีอยู่สัมปทานหมดลง ตนเสนอให้นำกิจการกลับมาเป็นของรัฐ ไม่ใช่ไปหาเรื่องยืดเวลาให้เอกชนอีก แล้วรัฐก็จะสามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้
“ทางด่วนก็เหมือนกัน ทางด่วนดอนเมือง โทลเวย์ ทางด่วนขั้นที่ 2 นี่คิดจะขยายสัญญาสัมปทานให้เขาอยู่ ทำไมไม่รีบดึงกลับมาเป็นของรัฐ ให้การทางพิเศษฯ ให้กรมทางหลวงบริหารเอง ต้นทุนจะถูกกว่า ค่าผ่านทางจะถูกด้วย ต้องทำอย่างนี้ แล้วที่น่าเป็นห่วงก็คือการไปซื้อสัมปทานคืนจากเอกชนมันน่าเป็นห่วง ถ้าคิดจะโกงมันโกงได้ ก็คือเวลาไปซื้อเขามา เขาลงทุนก่อสร้างมากี่หมื่นล้าน ถึงเวลานี้บริษัทที่รับสัมปทานอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เราจะประเมินราคา ทั้งประเมินให้เป็นธรรม ไม่ใช่เขาบอกแค่นี้เราไปซื้อแค่นี้ มันมีส่วนต่างขึ้นมาอีก” นายสามารถ ระบุ
นายสามารถ ยังกล่าวอีกว่า และเมื่อซื้อมาแล้วแทนที่จะให้รัฐบริหารเอง กลับจ้างเอกชนมาบริหาร ซึ่งการจ้างเอกชนนั้นอาจแพงกว่าราคาจริงก็ได้หากต้องการโกง ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมเกี่ยวกับการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ สำหรับคนที่ไม่เคยตามอาจตื่นเต้น แต่หากคนที่เคยตามอย่างตนก็จะเป็นเรื่องที่เคยรู้ ซึ่งตนก็เป็นห่วงว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ จะมองว่าขายฝันก็ได้ แต่มองว่ารัฐบาลก็พยายามทำ
ส่วนข้อเสนอของนายทักษิณ ที่ให้ขยายรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่บริเวณทิศใต้ ใกล้กับถนนบางนา-ตราด เรื่องนี้ตนเห็นด้วยเพราะเป็นไปตามแผนแม่บท และขอให้ทำให้ได้แล้วสุวรรณภูมิจะกลายเป็นสนามบินที่ดี เพราะเมื่อ 4-5 ปีก่อน เคยคิดจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร แต่ไปก่อสร้างผิดตำแหน่งจากในแผนแม่บทจนเกิดปัญหามากมาย ทั้งนี้ ในปี 2549 ที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการใหม่ๆ ติดท็อป 10 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่ช่วงอันดับ 50-60 กว่าๆ อันดับลดลงมา ดังนั้นก็ต้องทำให้ดีเพราะเป็นหน้าตาและประตูของประเทศไทย
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4hoO81fuv2k
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี