‘กร ทัพพะรังสี’มอง 92 ปีประชาธิปไตยไทย ยังไปไม่ถึงไหน ไม่เกลียด แต่สงสาร‘อุ๊งอิ๊งค์’ไร้ประการณ์การเมือง กลับต้องนั่งหัวโต๊ะบริหารประเทศ ‘ลลิตา ฤกษ์สำราญ’ชี้อลเวง‘พปชร.-ปชป.’ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย‘สส.งูเห่า’ ปี 41
29 สิงหาคม 2567 สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (พตส.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีและบรรยายวิชาการเรื่อง “92ปี ประชาธิปไตยไทยไปถึงไหน”
นายกร ทัพพะรังสี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยเรามาถึงจุดที่ไม่มีใครรู้ว่าประเทศชาติจะเป็นอย่างไร เราผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามากมายหลายครั้ง แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามถึงประชาธิปไตยไทย ซึ่งหัวข้อ "ประชาธิปไตยไทยไปถึงไหน" ตนถูกกำหนดบรรยายให้สถาบันวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) มาแล้ว 7 ปี ขณะที่ปีนี้เป็นปีที่ 92ของประชาธิปไตยไทย เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าปัญหาของการปกครองต้นเหตุสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญเรามีมากี่ฉบับ ก็ไม่ลงตัวสำหรับประชาชนคนไทย รัฐธรรมนูญฉบับแรกก็มาจากนักเรียนไทยที่ไปเรียนฝรั่งเศสนำความรู้กลับมา แล้วมาใช้กับคนไทย ทั้งที่เวลานั้นคนไทยยังไม่รู้เลยว่าประชาธิปไตยคืออะไร แล้วเปลี่ยนเรื่อยจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งตนไม่แปลกใจถ้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 , 22 , 23 ต่อเนื่องไป ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ ตนเคยไปนั่งฟังการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยินหลายครั้ง กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจบดอกเตอร์ ใช้คำพูดว่า อยากจะให้ใส่เรื่องนั้นเรื่องนี้ไว้ในมาตรานั้นมาตรานี้ของรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าเพราะมาตรานี้ใช้ได้ในประเทศอังกฤษ ฟังแล้วก็สลดใจเพราะตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ความคิดเช่นนี้ก็ยังคงอยู่
“ไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กไทยที่ไปเรียนนอกได้รับความรู้จากต่างประเทศ อารยประเทศทั่วโลกแทนที่กลับมาจะนำความรู้นั้นเก็บไว้ในตน โดยเอาความเป็นไทยเป็นตัวตั้งแล้วแสวงหาแนวทางให้ประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองบนความเป็นไทยของเราเองไม่ได้หรือ ท่านจะอ้างมาตรานั้นดี เพราะประเทศนั้นเขาใช้ แล้วความเป็นคนไทยเราอยู่ตรงไหนตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศมาแล้วก็มาจากคนที่จบฝรั่งเศสทั้งนั้น จึงอยากฝากถึงคนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องยึดวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมของคนไทยเป็นตัวตั้ง อยู่กินอย่างไรเป็นตัวตั้ง เพื่อแก้ไขความทุกข์ยากให้กับคนไทย” นายกร กล่าว
นายกร กล่าวว่า 92 ปี ประชาธิปไตยประเทศไทยยังวนอยู่ที่เดิมเริ่มตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง เปิดสภา ตั้งรัฐบาล รัฐบาลทำงาน เดินขบวน และสุดท้ายจบที่การปฏิวัติ ซึ่งเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เลือกตั้ง 29 ครั้ง ปฏิวัติ 12 ครั้ง แม้กระทั่งช่วงปี 2531-2534 ในช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด ไม่มีการเดินประท้วงรัฐบาล ก็ยังมีการปฏิวัติ คนไทยต้องการแบบนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ประเทศ ไทยใกล้ถึงทางตัน ทหารมีการไล่ต้อนนักศึกษา รัชการที่ 9 ทรงเปิดพระราชวังสวนจิตรลดาให้นักศึกษาเข้าไปพักพิง และทำอาหารเลี้ยง และรับฟังความต้องการ รวมถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และดำเนินกรทันที จึงทำให้เห็นว่ายามใดที่ประเทศไทยมีปัญหาพระมหากษัตริย์มีคำตอบ
นายกร ยังเห็นว่าระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมากลไกอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เคยเป็นกลไกของประเทศชาติในด้านการเมืองเลย แต่กลับถูกดึงให้เข้ามามีบทบาทคือตุลาการภิวัฒน์ อย่างที่ได้เห็นศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยให้คนนั้นคนนี้ออก ไปอย่างที่ตนได้เคยบอกไว้ว่าทุกครั้งที่จะประกาศให้คนพ้นจากตำแหน่ง ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอ้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับต้องไปโทษที่คนเขียนอย่าไปโทษที่ตัวรัฐธรรมนูญ นำมาสู่ความไม่ต่อเนื่องของการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองโดยเฉพาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แก้ที่ตัวศาลต้องแก้ที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญเขียน อย่างไรก็ได้ให้เกิดความต่อเนื่องเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งชาติ คงไม่ยากเย็นสำหรับผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องสร้างให้เกิดความราบรื่น
“คิดว่าประเด็นหลักของบ้านเราที่หนักที่สุดเลข 3-4 ปีที่ผ่านมาคือการคอรัปชั่นเป็นเรื่องเดียวที่เป็นหนามทิ่มแทงความเจริญของประเทศชาติ ซึ่งก็จะโยงไปถึงพรรคการเมือง ซึ่งก็จะโยงไปถึงคนที่ออกเงินให้กับพรรคการเมือง ซึ่งก็นำไปสู่การให้ได้เงินกลับมา ในเมื่อคนที่ออกเงินให้กับพรรคการเมืองเป็นนักธุรกิจ แล้วนักการเมืองก็นำเงินไปให้สส.ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็ต้องมาหาประโยชน์คืนให้กับนักธุรกิจหาผลประโยชน์ มันก็วนอยู่แบบนี้ ดังนั้นอย่ามีพรรคการเมืองได้หรือไม่ ผู้แทนราษฎรต้องมาจากประชาชนที่เลือกเข้ามา ไม่ใช่เมื่อเลือกเข้ามาแล้วถึงเวลาประชาชนทวงถามนโยบายที่ได้ให้สัญญาไว้ สส.ต้องอ้างว่าเสนอพรรคแล้วไม่เห็นชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่สอดคล้องวิถีชีวิตความเป็นคนไทย คนไทยเรามีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรมของเรา สันดานของเราเป็นอย่างไร ตั้งข้อตกลงให้ออกมาตรงกับตรงนั้นหน่อย บ้านเมืองผมจะไปรอด” นายกร กล่าว
นายกร กล่าวว่า พรรคการเมืองมักเห็นผลประ โยชน์ของตัวเอง คิดแต่คำว่ามติพรรค หรือพรรคร่วมรัฐบาล และบางครั้งสส.ก็มีความเห็นไม่ตรงกับมติพรรคการเมือง จะดีหรือไม่ถ้ามีแค่สส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วประเทศนั่งอยู่ในสภาแต่ไม่มีพรรคการเมือง ไม่ต้องมาใช้นโยบาย หรือรับใช้พรรคการเมือง ไม่ต้องมีมติพรรคเข้ามาครอบงำสส. แต่รับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ พูดถึงปัญหาของคนในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น เพื่อให้รัฐบาลรับรู้เพื่อแก้ไขความขัดสนของคนในประเทศ นี่คือความหมายของประชาธิปไตยอย่างแท้ ซึ่งตนเชื่อว่าประเทศไทยทำได้
นายกร กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ว่า นายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น มีการตรวจสอบการถูกดำเนินคดีในทุกศาลทุกคดีความเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้ามาแล้วไม่เกิดปัญหาเพราะถ้ายังมีปัญหาอีกนายกรัฐมนตรีก็จะโดนด้วย ซึ่งหวังว่ารอบนี้น่าจะผ่านการกลั่นกรองอย่างดีแล้วจากทุกฝ่าย จากบทเรียนที่ผ่านมาแล้วนายกรัฐมนตรีโดนเรื่องจริยธรรม รอไปตั้งรัฐมนตรีที่มีคดีติดคุกมาแล้ว จึงหวังว่าคณะรัฐบาลที่จะเข้าสู่การเสนอทูลเกล้าฯจะไม่มีตัวบุคคลที่มีความด่างพร้อยด้านจริยธรรมอีก
“ที่ยังไม่กล้าทูลเกล้าฯขึ้นไปก็เพราะรายชื่อที่เข้ามาร้อยพ่อ พันแม่จากทุกพรรคเป็นใครบ้างนายกฯก็ยังไม่รู้จักเลย เพราะนายกเข้าสู่การเมืองมาได้เพียง 8 วันเท่านั้น ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยเข้าเลย ผมสงสารนะนายกฯท่านนี้ คือในความเป็นมนุษย์ท่านไม่เคยเป็นสส.สักสมัย ไม่รู้สภาเป็นอย่างไร ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีมาเลย วันดีคืนดีขึ้นมานั่งเป็นนายก นั่งอยู่หัวโต๊ะเลย เปิดการประชุมวาระนั้นวาระนี้ท่านนายกจะไปทางไหน ท่านนายกฯอาจจะบอกว่าแล้วมันต้องไปเริ่มต้นจากตรงไหน สงสารมากกว่าครับ ไม่เกลียดท่านเลย” นายกร กล่าว
ด้านนางลลิตา ฤกษ์สำราญ อดีตกรรมการบริหารพรรคประชากรไทย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการฟอร์มทีมครม. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ว่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองเห็นได้ว่ากลับมาซ้ำรอยเดิม โดยในช่วงที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ลาออกเองเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้จะไม่มีการเดินขบวนในเวลานั้นก็ตาม ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ปี 2541 เกิด “กลุ่มงูเห่า ในพรรคประชากรไทย ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น และตนเองเป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งผ่านมา 20 กว่าปี ซึ่งขณะนั้นพรรคประชากรไทย มีสส. 40 คน และช่วงที่จะมีการจัดตั้งรัฐมนตรีนั้น สส.แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอ พลเอก ชวลิต เป็นนายกฯอีกครั้งหนึ่ง ส่วนสส.อีกซีกหนึ่ง ก็เสนอท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกฯแต่จำนวนเสียงไม่พอ ปรากฏว่ามีสส.ของพรรคประชากรไทย ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ตัวดิฉันไม่ไปยังอยู่กับท่านสมัคร
“เหตุการณ์ในวันนั้นที่พรรคเดียวกัน มีสส.กลุ่มหนึ่งไปเป็นรัฐบาล ขณะที่ตนเองเลือกที่จะเป็นฝ่ายค้าน ปรากฏว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้กับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ ที่มีการแบ่งกลุ่มการออกไป เพื่อจะไปตั้งรัฐมนตรีนั้น เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองกำลังเข้าสู่วัฏจักรซ้ำรอยเดิม” นางลลิตา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี