ผมไม่ได้ว่า “แพทองธาร” จะไม่ดี เพราะเธอน่าจะได้เสียงสนับสนุนมากมายจาก สส. ถึง 319 เสียง จากพรรคการเมือง และกลุ่ม สส. บางกลุ่ม
เธอจะบริหารประเทศไทยเราได้ดีแค่ไหน ก็ต้องรอดูไปหน่อยเพราะ “ระยะทางพิสูจน์ม้า เวลาพิสูจน์คน”
แต่ที่ผมเอาหัวข้อข้างต้นมาพูดในวันนี้ ก็เพราะว่าเราเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว 92 ปี (พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2567)
เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 30 คน (ไม่นับคนปัจจุบันเพราะเพิ่งเข้ามาไม่กี่วัน เป็นคนที่ 31)
เฉลี่ยแล้วก็เป็นนายกรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทยกันมาคนละ 3 ปี
ก็นับว่ามีเสถียรภาพ พอสมควร คนละ 3 ปี ก็พอจะทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าได้พอสมควร
แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น
ความจริงคือว่าเรามีนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารและที่ มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพียง 11 คน ตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศ รวมเป็นเวลา 54 ปีเศษ โดยใช้นายกรัฐมนตรีเพียง 11 คนเท่านั้น ได้แก่
1.พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา 5 ปีเศษ (5 ปี 178 วัน)
2.พลตรี หลวงพิบูลสงคราม 15 ปีเศษ (5 ปี 229 วัน + 9 ปี 161 วัน)
3.จอมพล ถนอม กิตติขจร 9 ปีเศษ (292 วัน + 7 ปี 343 วัน + 300 วัน)
4.จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 4 ปีเศษ (4 ปี 302 วัน)
5.พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 2 ปีเศษ (2 ปี 113 วัน)
6.พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ 8 ปีเศษ (8 ปี 154 วัน)
7.พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ 2 ปีเศษ (ไม่นับรวม เพราะมาจากพรรคการเมือง)
8.พลเอก สุจินดา คราประยูร 47 วัน
9.พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ 349 วัน (ไม่นับรวมเพราะมาจากพรรคการเมือง)
10.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ 1 ปีเศษ (1 ปี 120 วัน) 11.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 9 ปีเศษ (8 ปี 0 วัน + 363 วัน)
รวมแล้ว เรามีนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร 9 คน บริหารบ้านเมืองอยู่ 54 ปี 47 วัน เฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 6 ปีเศษ
และเรามีนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งจากพรรคการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) อีกถึง 19 คน ปกครองบ้านเมืองอยู่ 30 ปี 292 วัน (นับจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2567) อยู่เฉลี่ยแล้วคนละ 1 ปีเศษๆ
และนายกรัฐมนตรีพระราชทาน จากการเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในประเทศ อีก 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์, ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร รวมเวลาเพียง 2 ปี 136 วัน
ทั้งนี้ ไม่นับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 (358 วัน) และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลงเช่น ศาสตราจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ (17 วัน) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (14 วัน)นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (15 วัน) และนายอานันท์ ปันยารชุนอีก 1 ปี 141 วัน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยคณะ รสช. (1 ปี 35 วัน) และโดยการปฏิวัติเงียบของประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น (105 วัน)
และหากไม่นับพลเอกสุจินดา คราประยูร เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เพียง 47 วัน นายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ก็มีเพียง 9 คน เมื่อเฉลี่ยจากจำนวนปี 54 ปี ก็เท่ากับว่า ท่านเหล่านั้น เป็นหัวหน้าผู้ใช้อำนาจบริหารอยู่คนละ 6 ปี
แล้วประเทศไทยเราได้อะไร จากท่านนายกรัฐมนตรีเหล่านี้เล่า เราน่าจะเอามาวิเคราะห์กันดู
1.เราได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ทั้ง 9 ท่าน อยู่กันเฉลี่ยแล้วคนละ 6 ปี (ความจริงบางท่านอยู่นานถึง 8-9-15 ปี) มีใครพูดได้บ้างว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ไม่นำความเจริญมาสู่บ้านเมือง
ตรงกันข้าม รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ย่อมมีโอกาสพัฒนาประเทศ โดยมีการพัฒนาเศรษฐกิจ แผนปฏิรูปกิจการต่างๆ ได้ดีกว่ารัฐบาลที่ล้มลุกคลุกคลาน บริหารบ้านเมืองได้เพียง 1-2 ปี หรือไม่กี่เดือน ก็ถูกพรรคฝ่ายค้าน หาทางคว่ำไปเสียแล้ว
2.เราได้ผู้บริหารมืออาชีพ มาใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย ตามที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับเรียกพวกเราว่า “ปวงชนชาวไทย”
ทำไมเราไปยอมรับว่า นายทหารที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นผู้บริหารมืออาชีพ (Professional Executive หรือ Professional Public Administrator)
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลส่งไปเรียนการทหารที่เยอรมนี จนได้บรรจุเป็นทหารเยอรมัน แต่ก็กลับมารับใช้ประเทศชาติด้วยความรู้ความสามารถ
พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ก็เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ส่งไปเรียนการทหารที่ฝรั่งเศส แล้วกลับมารับใช้ราชการ มีผลงานด้านพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ให้ประเทศไทยมากมาย
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รับราชการจนเป็น ผบ.ทบ. มีผลงานพัฒนาการเศรษฐกิจมากมาย และรู้จักเอาคนดีมาช่วยบริหารประเทศ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงแม้จะไม่ใช่นักเรียนทุนเช่นพลเอกพหลฯ หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ก็นำความเจริญมาสู่ประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยความรู้พื้นฐานจาก จปร. และโดยตำแหน่งในราชการหรือ “รัฐกิจ” ก็ถือเป็นนักบริหารมืออาชีพ (Professional Public Administrator) ได้ ผลงานบริหารเป็นที่ประจักษ์ (proven success)
แต่อย่าลืมว่านักบริหารมืออาชีพ มิได้มาจากด้าน ราชการหรือรัฐกิจแต่อย่างเดียว แต่อาจมาจากประชากิจหรือจากธุรกิจได้ด้วย
หน่วยงานที่จะพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพในด้านการบริหารด้านประชากิจก็มีอยู่มากมาย
มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิคนตาบอด
มูลนิธิขาเทียม มูลนิธิรามาธิบดี
มูลนิธิพีระยานุเคราะห์ มูลนิธิ to be number one
มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มูลนิธิคนพิการ
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
มูลนิธิศิลปาชีพ มูลนิธิอานันทมหิดล
เป็นต้น
และมีอีกเป็นพันๆ มูลนิธิ
ส่วนสมาคมที่อยู่ในด้านประชากิจก็มีมากมายเช่น
สมาคมรัฐศาสตร์ มธ. สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย
สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่าฝรั่งเศส
สภาสตรีแห่งชาติ สมาคมชาวปักษ์ใต้
สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษฯ สมาคมต่อต้านโรคมะเร็ง
สมาคมแพทยศาสตร์ฯ สมาคมโทรคมนาคมฯ
ไม่ว่าจะเป็นประธาน เลขาธิการ หรือกรรมการที่ทำงานมานานๆ ก็น่าจะเป็นนักบริหารมืออาชีพได้
ส่วนในด้านธุรกิจ
ก็มีนักธุรกิจที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่บริหารกิจการในองค์กรของตนจนประสบความสำเร็จ ก็มีมากมาย เช่น ผู้บริหารระดับสูงใน
บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน
และอีกนับพันๆ ราย ซึ่งผู้บริหารถือได้ว่าเป็นนักบริหารมืออาชีพ
สรุปแล้ว ความต้องการพื้นฐานของเรา ในการที่จะหาคนที่จะมาใช้อำนาจบริหาร แทนปวงชนชาวไทย ที่แบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ประการ นั้นก็คือ เราต้องการ
1.ให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพื่อบริหารบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้าเท่าเทียมอารยประเทศ
2.ให้ผู้นำรัฐบาลเป็นนักบริหารมืออาชีพ มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์มาแล้วในอาชีพของตน (ProvenProfessional Executive หรือ Proven Professional PublicAdministrator)
3.ให้ผู้นำรัฐบาลเป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม อันดี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)
แต่วิธีสรรหานายกรัฐมนตรี ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) ที่เราใช้กันมาเกือบจะ 100 ปี (92 ปีเศษ)ซึ่งให้ สส. (ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ) มาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี (ผู้ใช้อำนาจบริหาร) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ล้มเหลว ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ไม่ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศไทย และเป็นเหตุผลทำให้เกิดปฏิวัติรัฐประหาร จนทำให้นักบริหารมืออาชีพจากฝ่ายทหาร ต้องมาบริหารบ้านเมืองแทนจนเมื่อเร็วๆ นี้ (พ.ศ. 2566)
นักร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งประชาชนคนไทย คงจะต้องช่วยกันคิดว่า
เราต้องการอะไรจากฝ่ายบริหาร (Executive power) (1.เสถียรภาพ 2.ผู้บริหารมืออาชีพ 3.เป็นผู้มีมาตรฐานทางจริยธรรม 4.และอื่นๆ)
ในเมื่อระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา (ParliamentarianDemocracy) ที่เราใช้กันมา 92 ปี ที่ให้ สส. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ประสบความล้มเหลวที่เห็นได้ชัด (Proven failure)
ศิริภูมิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี